“เปียงซ้อ” หมู่บ้านบนยอดดอย วิถี “ชาวลัวะ” ในสายหมอก

by คเชนทร์ พลประดิษฐ์, 20 ตุลาคม 2564

เส้นทางชัน และคดเคี้ยวระหว่าง อ.บ่อเกลือ เชื่อมต่อ อ.เฉลิมพระเกียรติ ทำให้คนแปลกถิ่น ที่ไม่ชินทางอย่างเรา ต้องอาศัยสติ ไม่อาจว่อกแว่ก แม้ 2 ข้างทางจะมีวิวสวยของยอดดอยที่สลับลดหลั่นไต่ระดับดูแปลกตา พร้อมกับนาข้าวขั้นบันได ที่เขียวชอุ่มสลับกับเหลืองทองรอเก็บเกี่ยว จุดหมายของเราอยู่ที่ “บ้านเปียงซ้อ” ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

 

 

ฝ่าทางขึ้นดอยอันสมบุกสมบัน ด้วยถนนคอนกรีตที่ผุพัง และเรื้อร้างการซ่อมแซมมานานนับปี พร้อมกับสายฝนที่โปรยปรายลงมาทำให้ถนนดินลูกรังบางช่วงปริ่มไปด้วยโคลนเลน ที่เสี่ยงต่อการไถลของล้อรถหากไม่ระวัง เราที่อาศัยเจ้ามอไซค์ออโตเมติก จึงต้องสลับทั้งเข็นทั้งประคองลงเดินกว่าจะขึ้นเนินชันได้แต่ละเนิน

 

ดังนั้นหากใครจะขึ้นมาพักควรสอบถามและศึกษาเส้นทางก่อน โดยแนะนำรถ 4x4 หรือมอเตอร์ไซค์มีเกียร์ ส่วนรถยนต์โหลดต่ำ หรือมอไซค์ออโตเมติก ไม่ขอแนะนำ

 

เลยจากโครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามแนวพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังเริ่มโด่งดัง ในกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบธรรมชาติ เราก็จะเข้าสู่หมู่บ้านเปียงซ้อ หากนับระยะทางจาก ตัว อ.บ่อเกลือ ก็ประมาณ 50 กม. โดยใช้ระยะเวลาเดินทางกว่า 1 ชั่วโมง

 

 

จากถนนที่สลับทั้งคอนกรีต ดินลูกรัง และทางลาดยาง ซึ่งส่วนใหญ่เกินเยียวยา เราก็มาถึง “เลาะภูวิว” ที่ความตั้งใจเดิมของเจ้าของ ต้องการให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรผสมผสานตามวิถีท้องถิ่นของ “ชาวลัวะ” ก่อนกลายเป็นที่พักสำหรับนักเดินทางซึ่งแสวงหาความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ด้วยบรรยากาศชุ่มฉ่ำของไอหมอกที่ลอยฟุ้งอยู่ตรงหน้าและเหนือยอดดอย

 

 

แน่นอนหากคุณจะหาความสะดวกสบาย ที่นี่อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะไม่มีไฟฟ้า แม้จะมีสายไฟพาดผ่านบนถนนหน้าโฮมสเตย์ แต่คุณจะได้เพียงโคมไฟดวงเล็กๆ ที่ชาร์จไฟพอเต็ม 1 ดวงไว้ใช้ยามค่ำคืน ส่วนอาหารก็ต้องทำเอง โดยขนเสบียงขึ้นมาจากพื้นราบ และใช้ครัวบนพื้นที่ว่างของโฮมสเตย์ หรือนอกชานบ้านเป็น "ครัวจำเป็น" หรือจะใช้บริการหมูกระทะบนดอย ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนเข้าพัก

 

 

แต่หากคุณต้องการเติมพลัง เพิ่มความสุข ให้กับชีวิต ด้วยอากาศบริสุทธิ์ เสียงกีต้าร์จากเจ้าบ้าน ขับกล่อมเคล้าบรรยากาศสายลมหนาว และไอหมอก เลาะภูวิวอาจเป็นอีกที่หนึ่งที่พร้อมตอบโจทย์นั้น

 

 

“เลาะภูวิว ก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่สวนเกษตรที่ผมทำไว้ให้เด็กๆในหมู่บ้านได้เรียนรู้เรื่องการปลูกพืชผสมผสาน นอกจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด หรือนาข้าวไร่ โดยมีทั้งกาแฟอาราบิก้า อะโวคาโด มะม่วงหิมพานต์ พืชผักสวนครัว บ่อเลี้ยงปลา ที่ไว้ใช้เก็บน้ำทำเกษตรด้วย ก่อนที่จะมีนักท่องเที่ยวแวะมาขอพักค้างคืน เลยกลายเป็น โฮมสเตย์”

 

“พี่สาย-ยุทธพงษ์ อุ่นถิ่น” อดีตครูอัตราจ้าง ที่ใช้ชีวิตในตำแหน่งครูภูมิปัญญาท้องถิ่น สอนเครื่องดนตรีชนเผ่าของโรงเรียนบ้านเปียงซ้อมากว่า 10 ปี ก็ผันตัวเองมาทำโฮมสเตย์ คุยให้เราฟัง

 

 

“เปียงซ้อ” เป็นหมู่บ้านของชาวลัวะ หรือละว้า ซึ่งมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย ซึ่งนิยมใช้หญ้าคามุงหลังคา พี่สาย บอกว่า วิธีการเตรียมหญ้าคา และมุงหลังคา การปลูกข้าวทำนาบนยอดดอย ประเพณีการละเล่นในวันสำคัญ เหล่านี้ล้วนถ่ายทอดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น มาจากบรรพบุรุษซึ่งเขาพร้อมที่จะรักษาไว้เช่นเดิม

 

“แม้ว่าอนาคตการท่องเที่ยวชุมชนของเปียงซ้อ จะพัฒนาขึ้นมากกว่าเดิม นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น แต่เลาะภูวิวก็ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นโฮมสเตย์ไว้อย่างนี้ ที่พักซึ่งใช้ไม้ไผ่มุงหลังคา หากชำรุดเราก็จะต่อเติมให้เป็นเหมือนเดิม จะไม่ใช้โครงเหล็กหรือหลังคาสังกะสี เพราะเรามองว่าการทำอย่างนั้นทำให้เราสูญเสียเอกลักษณ์ของเราไป นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเพราะชื่นชอบความเป็นเอกลักษณ์นี้ การได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ” พี่สาย บอกกับเรา

 

 

อีกไฮไลต์ที่สำคัญของที่นี่ก็คือ ด่านผ่อนปรนชั่วคราวชายแดน ไทย-ลาว แขวงไชยะบุรี ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่มีโควิด-19 ที่นี่จะมีทั้งพี่น้องไทยลาว เดินข้ามพรมแดนไปมาหาสู่กันอย่างคึกคัก

 

 

สำหรับเรา “หมู่บ้านเปียงซ้อ” ถือเป็นตัวอย่างการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งยังคงอนุรักษ์ความดิบเดิมของอัตลักษณ์ท้องถิ่น “ชาวลัวะ” ไว้ได้อย่างลงตัว