"บ้านสวนดอยเปียงปุย" สุขที่ยั่งยืนด้วยตัวเอง สัมผัสทะเลหมอก ทุ่งดอกเก็กฮวย บนดอยสกาด

by ThaiQuote, 21 ตุลาคม 2564

 

ออกจาก อ.ปัว จ.น่าน มาประมาณ กว่า 20 กม.บนทางขึ้นดอยสกาดกับความสูงเกือบ 900 ม.จากระดับน้ำทะเล เราจอดรถริมถนนแล้วลงเดินขึ้นเนินชันตามป้ายบอกไว้ว่าอีก 200 ม.จึงจะถึง "บ้านสวนดอยเปียงปุย"

 

 

ด้วยความลื่นและชันของเส้นทางเดินดินแดงเละโคลนเลน เพราะฝนที่โปรยปราย เกือบทั้งวันในช่วงปลายฝนต้นหนาว บางช่วงหมอกและไอฝนฟุ้งกระจายปิดบังเส้นทาง เสียงบ่นอุบของเพื่อนร่วมทางด้วยคาดว่าเจ้าบ้านจะโกงระยะทางที่เขียนบอกไว้ตั้งแต่ตีนดอย

 

 

ไม่นาน หญิงร่างเล็กก็เดินสวนลงมาพร้อมกับยกมือไหว้ทักทาย และพยายามช่วยแบ่งเบาสัมภาระของเราที่แบกเต็มหลังจนดูเทอะทะ เมื่อเราปฏิเสธด้วยเกรงใจ เธอจึงเดินจากไปดูแลนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเข้าพักที่นี่ในคืนเดียวกันกับเราแทน

 

เดินอีกชั่วครู่ เราก็มองเห็นป้าย “บ้านสวนดอยเปียงปุย” ที่นี่มี “ชาเก็กฮวย” เป็น Welcome Drink ซึ่งไม่น้อยหน้าเครื่องดื่มในโรงแรมใหญ่ แต่หากให้เทียบรสชาติ และความเอาใจใส่แล้ว โรงแรมหรู 5 ดาวคงต้องตกขอบ

 

 

บ้านพักของเราอยู่บนเนินสูงที่ต้องเดินขึ้นไปอีกประมาณ 20-30 ม. มาแล้วก็คงยากจะหันเดินกลับ ก้มหน้าก้มตาเดินต่อไปจนถึงห้อง เมื่อเห็นทะเลหมอกที่อยู่ตรงหน้า เสียงบ่นในใจก็หายเป็นปลิดทิ้ง ภาพหมอกไหลเอื่อยผ่านยอดไม้ตรงหน้า ช่วยให้ร่างกายที่เหนื่อยจากการเดินทางฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

 

 

บ้านสวนดอยเปียงปุย มีบ้านพักทั้งหมด 4 หลัง เป็นโฮมสเตย์แบบชาวบ้านแท้ๆ เพราะ “พี่จวน-ผจงพร ศุภธนาอนันต์” หญิงสาวร่างเล็กที่เดินสวนกับเราระหว่างทางขึ้น เธอเป็นเจ้าของผืนดินบนดอยแห่งนี้ “เปียงปุย” มีความหมายมาจากต้นปุยที่ขึ้นอยู่บนดอย หรืออาจจะแปลความหมายอีกอย่างได้ว่า “ดอยเสมอปุยเมฆ” ซึ่งไม่ผิดไปนักจากภาพที่เราเห็นตรงหน้า

 

 

ราคาที่พักอยู่ที่คนละ 700 บาท ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีพัดลม เครื่องทำน้ำอุ่น แต่มีไฟโซลาร์เซลล์ในบ้านทุกหลัง มีห้องน้ำส่วนตัว และพาวเวอร์แบงก์สำหรับชาร์จมือถือให้ยืม พร้อมอาหาร 2 มื้อ คือเย็น ที่เป็นขันโตก สำรับกับข้าวพื้นถิ่น 4 อย่าง ซึ่งเราติดใจ ไก่ทอดมะแขว่น เครื่องเทศขึ้นชื่อของดอยสกาด ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งของโฮมสเตย์แห่งนี้ และน้ำพริกอ่อง ที่แกล้มด้วยฟักทอง ลูกฟักแม้ว (มะระหวาน) ผลผลิตจากชุมชน

 

 

 

ก่อนมื้อเช้า จะมีกาแฟดริป โดยใช้กาแฟอาราบิก้า อีกหนึ่งผลผลิตขึ้นชื่อของดอยสกาด และชาเก็กฮวย เสิร์ฟเป็นออเดิร์ฟ ก่อนตามด้วย ข้าวต้มกระดูกหมู และไข่ลวกสดจากฟาร์มของโฮมสเตย์ ซึ่งเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีเกือบ 100 ตัว

 

 

“ที่นี่เปิดมาได้กว่า 4 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้พี่ทำงานที่กรุงเทพฯ จนเรารู้สึกว่าเมืองมันไม่น่าอยู่แล้วก็กลับมาอยู่บ้าน ขึ้นมาทำเกษตรผสมผสาน ทดลองปลูกพืชทุกอย่างที่คนในหมู่บ้านยังไม่เคยปลูกบนพื้นที่ของเราเอง ทำไปทำมาเราก็เลยสร้างบ้านไว้ให้ญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมพัก จนปัจจุบันกลายเป็นโฮมสเตย์”

 

 

“เราทดลองปลูก ลูกพีช ข้าว ผลไม้ต่างๆ และดอกเก็กฮวย ซึ่งตอนแรกก็ซื้อพันธุ์ทางออนไลน์มา 20 ต้น ทดลองปลูก ปัจจุบันก็ขยายพันธุ์ทำแปลงปลูกจนมีอยู่ทั่วบริเวณ เป็นไร่เก็กฮวย พอถึงเดือน พ.ย.ดอกเก็กฮวยที่นี่จะออกดอกสีเหลืองบานเต็มดอย โดยเราจ้างชาวบ้านเป็นผู้ดูแล ซึ่งทำให้สามารถกระจายรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง”

 

 

พี่จวนเล่าให้เราฟังพร้อมกับพาเดินชมต้นพีช ที่ทดลองปลูกซึ่งกำลังออกดอกสีชมพูอ่อนๆ ขณะที่บางกิ่งเริ่มผลิเป็นผลลูกเล็กๆ ส่วนเก็กฮวยก็เริ่มออกดอกตูมเต็มต้น

 

 

ไร่ดอกเก็กฮวยที่ว่า จึงให้ผลผลิตออกมาเป็น “ชาเก็กฮวย” ที่เป็นเครื่องดื่ม Welcome Drink ต้อนรับแขกที่มาพัก และเสิร์ฟในทุกเช้า รสชาติที่หวานที่ปลายลิ้นจากธรรมชาติ โดยไม่ต้องปรุงแต่งน้ำตาล เข้ากันได้ดีกับทะเลหมอกที่ไหลเอื้อยในตอนเช้า ข้ามจากแนวเขาลูกทางซ้ายไหลไปทางขวา พร้อมกับวิวตัวเมืองปัว ที่จะปรากฎขึ้นในทุกครั้งเมื่อทะเลหมอกเคลื่อนลับหายไป

 

 

เราชวนพี่จวนพูดคุยถึงเรื่องการท่องเที่ยวของดอยสกาด จากที่เห็นผ่านตาก็พบว่าแตกต่างจากเมื่อปีก่อนที่เรามาเยือน ที่พักเริ่มเยอะขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของ บ้านสวนดอยเปียงปุย พี่จวนยังยืนยันว่า เธอจะยังคงทำโฮมสเตย์แห่งนี้ให้เหมือนเมื่อเริ่มต้น

 

 

“นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวดอยสกาดเพิ่มมากขึ้น ความต้องการที่พักก็เพิ่มขึ้น แต่เรายังคงเหมือนเดิม มีคนมาติดต่อขอกางเต้นท์เราก็ปฏิเสธ เพราะไม่อยากรับคนเยอะขึ้น เราห่วงว่าจะดูแลแขกที่มาพักได้ไม่ดีพอและทั่วถึง ซึ่งบ้านพักที่มีอยู่ 4 หลังก็เพียงพอแล้ว ไม่อยากรับเพิ่มไปมากกว่านี้ เพราะเราสามารถดูแลทุกคนด้วยบริการที่ดีได้ บ้านสวนดอยเปียงปุยอาจไม่เลิศไม่หรู แต่เราเน้นอยากให้ทุกคนได้ใช้ช่วงเวลานี้อยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด” หญิงสาวร่างเล็กบอกกับเรา

 


คำพูดดังกล่าว ทำให้เราใช้เวลาระหว่างเดินทางลงจากดอยย้อนคิดใคร่ครวญ เราเชื่อว่าหากเจ้าของโฮมสเตย์หลายๆแห่งมีแนวคิดแบบนี้ ต่างเห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน มีแล้วแบ่งปัน กระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนคนอื่นๆ การสร้างท่องเที่ยวชุมชน ที่เดินคู่ไปกับความสุขที่ยั่งยืนของตัวชุมชนเองก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ในที่สุด