"Happy Grocers" ฟาร์มติดล้อ เสิร์ฟ “ผักอินทรีย์” ถึงบ้าน

by ThaiQuote, 26 ตุลาคม 2564

"Happy Grocers" ตลาดสินค้าออร์แกนิคเคลื่อนที่ ตั้งเป้าการส่งผัก-ผลไม้อินทรีย์ และผลผลิตแปรรูปเป็นอาหารพร้อมทานจากเครือข่ายเกษตรกรกว่า 100,000 คน ส่งตรงถึงหน้าบ้านคุณ

 

 

เทรนด์อาหารปลอดภัย กำลังเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้น ภายหลังการระบาดของโควิด-19 การให้ความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดี การบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีสุขอนามัย พร้อม ๆ กับการตระหนักรู้คุณค่าของการรักษา อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กำลังเป็นกระแสที่น่าจับตามอง

 

เช่นเดียวกับ “โม-สุธาสินี สุดประเสริฐ” และ “มุก-ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย” คนรุ่นใหม่ ศิษย์เก่าจากคณะโลกคดีศึกษาและการประกอบการสังคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ (Global Studies and Social Entrepreneurship) ที่มีความคิดการสร้างธุรกิจของตนเอง ภายใต้การแบ่งปันและเกื้อหนุนเกษตรกร ผู้ผลิตจากชุมชนให้อยู่รอดได้ภายใต้แนวคิดของการดูแลสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

 

แนวคิดของ โม และ มุก จึงนำทั้ง 2 ออกจากโลกของธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องล้มลงเพราะโควิด และการเป็นพนักงานประจำ บวกกับประสบการณ์การคลุกคลีกับเกษตรกรอินทรีย์ ในสมัยที่เป็นนักศึกษา มาสู่การเป็นเจ้าของร้าน "Happy Grocers"

 

“ปัญหาที่สำคัญของเกษตรกร คือ การขาดสะพานเชื่อมต่อระหว่างชุมชนสู่ตลาดยุคใหม่ที่ลูกค้าใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขาดทุนรอนและศักยภาพการทำการตลาดดิจิทัลเพื่อสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน” “โม-สุธาสินี สุดประเสริฐ” เกริ่นถึงที่มาของ “Happy Grocers"

 

 

โมและมุก ได้เริ่มลงมือวางระบบการตลาดแบบเดลิเวอรี่ โดยอาศัยการลองผิดลองถูกในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ระบาด การล็อกดาวน์เมือง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องการวัตถุดิบทำอาหาร และอาหารพร้อมปรุง ส่งตรงถึงบ้าน มากกว่าการออกไปซื้อหาเองภายนอก

 

"เมื่อเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ Happy Grocers ก็จำเป็นที่จะต้องลองผิดลองถูกไปพร้อมกับเกษตรกร เราต้องพยายามทำความเข้าในว่า ตลาดนี้มีโอกาส มีความยั่งยืน พึ่งพาได้ ในขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งฝ่ายเกษตรกร และฝั่งผู้บริโภค" “มุก-ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย” บอกกับเรา

 

 

โมเดลธุรกิจเริ่มต้นของ "Happy Grocers" ที่ประสบความสำเร็จเกิดจากแนวคิด "From Farm to Table" เป็นการส่งสินค้าเกษตรจากแหล่งผลิต เสิร์ฟถึงโต๊ะอาหารลูกค้า โดยใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายภายใต้แนวคิด "From Farm to the Door"

 

ปัจจุบัน “Happy Grocers” สร้างเครือข่ายฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ในจังหวัดพะเยา เชียงใหม่ นครปฐม และกาญจนบุรี จนขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ให้บริการมากกว่า 200 รายการ ครอบคลุมทั้งผัก ผลไม้ตามฤดูกาล เนื้อสัตว์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โปรตีนเกษตร เต้าหู้ และมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเองอย่าง โยเกิร์ต เป็นต้น

 

ภายใต้การบริหารธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปของสตาร์ทอัพ ที่มีงบลงทุนไม่มากนัก "Happy Grocers" ได้ให้ความสำคัญต่อระบบการจัดส่งสินค้า ระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้กำลังมีการพัฒนาระบบสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ ที่จะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และระบบการสั่งซื้อผ่าน แอปพลิเคชัน ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565

 

นอกจากนี้ "Happy Grocers" ยังมีระบบส่งเสริมการขายในรูปแบบ Social Marketing ทั้งในเฟซบุ๊ก และ IG โดยการสร้าง Story Telling ที่บอกเล่าเรื่องราวที่มาของผลผลิตที่ส่งต่อจากฟาร์มไปยังผู้บริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความเข้มแข็งของแบรนด์ พร้อมกับการเจาะตลาดกลุ่มใหม่อย่าง สถานทูต โรงเรียนนานาชาติ ตลอดจนร้านอาหารที่ต้องการวัตถุดิบในการทำเมนูอาหาร จากผลผลิตเกษตรอินทรีย์

 

 

ขณะเดียวกัน ยังได้เพิ่มช่องทางการขายสินค้าแบบฟู้ดทรัค รถเคลื่อนที่ที่สามารถนำสินค้าจาก "Happy Grocers" ไปเสิร์ฟให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ในทุกที่ ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่าย (Community) และความสัมพันธ์ระหว่าง "Happy Grocers" และผู้บริโภค เพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยขยายจากสถานทูตต่างๆ ไปยังชุมชน หมู่บ้าน โดยมีจุดขายประจำทุกเดือน

 

 

ปัจจุบัน "Happy Grocers" มีลูกค้าประจำราว 800-1,000 ราย รองรับกำลังการผลิตของเกษตรกรราว 120 คน ขณะที่เป้าหมายในอนาคตต้องการมีเกษตรกรในเครือข่ายประมาณ 100,000 ราย พร้อมกับการวางแผนการขยายตลาดไปยังช่องทางอื่นๆ เช่น การส่งออก การนำผลผลิตมาแปรรูปในลักษณะต่าง ๆ เพื่อเจาะกลุ่มตลาดอาหารพร้อมรับประทาน

 

 

แน่นอนภายใต้เป้าหมายดังกล่าว "Happy Grocers" ยังคงยืนยัน การรักษามาตรฐานในกระบวนการผลิต การสร้างเครือข่ายสินค้าออร์แกนิค ซึ่งเป็นจุดแข็งของแบรนด์ ก่อนที่จะต่อยอดไปสู่แนวทางการลดการสูญเสียผลผลิตไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพื่อการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร