“ธนาคารปูม้า บ้านในถุ้ง” ชุมชนได้สุข กินปูได้บุญ !!! กิน 1 ตัวปล่อย 1 ล้าน

by คเชนทร์ พลประดิษฐ์, 27 ตุลาคม 2564

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้ลงพื้นที่ ไปเยี่ยมชมธนาคารปูม้า ที่ศูนย์เรียนรู้เพาะลูกปูม้า บ้านในถุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ของสมาคมประมงพื้นบ้านในถุ้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ม.วลัยลักษณ์

 

“ปัญหาเริ่มต้นจากการที่ทรัพยากรในทะเลค่อยๆหมดลงไป ก่อนปี 2548 ชาวบ้านจับปูม้าได้มากถึงวันละ 200 กก. ต่อมาก็เหลือจับได้มากสุดแค่วันละ 2 กก. สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนเรื่องของการฟื้นฟูทะเล และทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนที่อาชีพ อาหาร และความเป็นอยู่ของชาวบ้านจะหายไป”

 

“บังมุ-เจริญ โต๊ะอิแต” นายกสมาคมประมงพื้นบ้านในถุ้ง บอกกับเราถึงการเริ่มต้นทำธนาคารปูม้าในพื้นที่

 

 

“ธนาคารปูม้า” คือโครงการที่เราอาจได้ยินบ่อยครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายแห่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่แตกต่างกันไป บางแห่งประสบความสำเร็จ หรืออาจล้มเหลว สำหรับที่บ้านในถุ้งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จตามที่ชาวบ้านคาดหวังไว้

 

 

“ทุกวันนี้ปูม้าเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่เป็นสมาชิก โดยการพยายามปรับวิธีคิดของแต่ละคน ก่อนอื่นต้องเลิกกิน เลิกจับปูไข่นอกกระดอง หรือหากจับติดขึ้นมาก็จะนำปูตัวนั้นมามอบให้กับทางธนาคาร เพื่อเขี่ยไข่ อนุบาลลูกปูแล้วปล่อยกลับสู่ทะเล จากตอนเริ่มทำเราได้แม่ปูม้าปีละ 10-20 ตัว ต่อจากนั้นก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆเป็น 600 ตัว ปีที่ผ่านมาเราได้รับบริจาคแม่ปูม้าจากสมาชิกมากถึง 1,600 ตัว ขณะที่แม่ปูเหล่านี้ก็จะนำไปขาย แล้วนำเงินไปบริจาคให้กับมัสยิด หรือเป็นทุนการศึกษาของลูกหลานในชุมชนต่อไป”

 

 

เมื่อชาวบ้านเข้าใจถึงสิ่งที่ “ธนาคารปูม้า” ทำ ไม่เพียงการมีปูม้า และทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ใน “อ่าวทองคำ” หรือ “อ่าวท่าศาลา” ให้จับขายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว เท่านั้น แต่ยังนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน

 

 

วันนี้ สิ่งที่ “บังมุ” พูดถึง ซึ่งเริ่มต้นจาก “ธนาคารปูม้า” กำลังแตกดอกออกผล เป็นบ้านปลา พื้นที่อนุรักษ์และอนุบาลลูกปลา โรงเรียนประมงพื้นบ้าน มุ่งสอนให้เด็กๆเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษ ทั้งวิธีการหาปลา การดำน้ำฟังเสียงปลา หรือที่เรียกว่า “ดูหลำ” การดูท้องฟ้า และคลื่นลมทะเล และความปลอดภัยในทะเล

 

 

หรือ กองทุนประมงพื้นบ้าน ให้สมาชิกที่เดือดร้อนได้กู้เงินโดยไม่มีดอกเบี้ย (ตามหลักศาสนา) โดยไม่ต้องไปหยิบยืมจากเงินกู้นอกระบบ และการที่สมาชิกสามารถหยิบยืมอุปกรณ์ประมงไปทำมาหากิน เมื่ออุปกรณ์ส่วนตัวชำรุด

 

 

และโครงการลดขยะพลาสติกในทะเล ด้วยแนวคิด “ทะเลไม่ใช่ถังขยะ” ซึ่งช่วยรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติในทะเลอย่างยั่งยืน



ขณะเดียวกันแนวคิดนี้ กำลังถูกบอกกล่าวออกไปยังสังคมเพิ่มมากขึ้น ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้สนับสนุน อย่าง นิตยสาร Thailand Insuracne บ.วิริยะประกันภัย บ.เมืองไทยประกันชีวิต บ.กรุงเทพประกันภัย บ.นำสิน ประกันภัย และกลุ่มจิตอาสา ร่วมกันจัดกิจกรรม "อาสารักษ์ปูม้า" สร้างศูนย์การเรียนรู้ประมงพื้นบ้าน และการท่องเที่ยวชุมชน

 

 

“ศูนย์การเรียนรู้ประมงพื้นบ้าน นอกจากจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประมงสำหรับเด็กแล้ว ยังเป็นที่ศึกษาดูงานเรื่องธนาคารปู เรื่องอาหารทะเลปลอดภัย มีพื้นที่สำหรับกางเต้นท์ไว้รองรับนักท่องเที่ยว ที่มาเรียนรู้วิถีชุมชนและการทำประมงพื้นบ้านซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยส่วนหนึ่งจะนำไปเป็นงบในการฟื้นฟูทะเล อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการปันผลสำหรับสมาชิก”

 

เย็นวันนั้น เราจึงได้ร่วมโต๊ะกับเมนูจาก “ครัวลุยเล” ปูม้าตัวโตนึ่ง ที่บางคนอุทานว่า ตัวใหญ่อย่าง “ปูอะลาสก้า” หมึกสดย่าง แกงส้มปลาจาระเม็ด ปลาอินทรีย์เค็มทอด เหล่านี้ล้วนเป็นดอกผลที่มาจากธนาคารปูม้า และบ้านปลา

 

 

และนี่เองจึงเป็นที่มาของ “กินปูได้บุญ กิน 1 ตัวปล่อย 1 ล้าน” โดยหากนักท่องเที่ยวมารับประทานอาหารทะเล จากครัว “ลุยเล” แล้ว สามารถที่จะร่วมปล่อยลูกปูม้ากับชาวบ้านได้ โดยที่นี่จะมีการปล่อยลูกปูที่ได้จากการเขี่ยไข่ แม่ปูไข่นอกกระดองในช่วงเย็นของทุกวัน

 

 

“เราไม่ได้ต้องการการท่องเที่ยวที่มันใหญ่โต จนลืมเรื่องของการ “อนุรักษ์” วันนี้เราพูดถึงเรื่องการฟื้นฟูทะเล วันพรุ่งนี้เราก็ยังจะพูดเรื่องนี้ เรื่องที่จะทำอย่างไรให้ทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารของทุกคน มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นเป้าหมายหลัก ท่องเที่ยวจึงเป็นเป้าหมายรอง เพราะตราบใดที่เรามุ่งเน้นไปที่เรื่องของท่องเที่ยวอย่างเดียว เราจะจัดการกับเรื่องของการฟื้นฟูทะเลลำบากมากขึ้น”

 

 

แม้ภาพอนาคตต่อจากนี้ พื้นที่ชายทะเลบ้านในถุ้ง อาจมีเรื่องของท่องเที่ยวชุมชนเข้ามามากขึ้น แต่สิ่งที่ “บังมุ” ยืนยันถึงแนวคิดเดิม ที่ยังคงเน้นคำว่า “อนุรักษ์” นำหน้า “การท่องเที่ยว” ซึ่งสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับชุมชน

 

 

“เปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ เมื่อทะเลหน้าบ้านไม่มีปูมีปลา เราต้องล่องเรือออกไปไกลๆ ใจเราก็ห่วงคนที่บ้านจะได้กินข้าวหรือไม่ ความสุขของเรา คือการได้อยู่กับครอบครัว การอนุรักษ์ ทำให้การจับปลาจับปูของเราไม่ต้องออกไปไกลบ้าน มีรายได้ส่งลูกเรียน ได้กินอาหารที่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้มันเป็นความสุขที่สุดแล้ว” บังมุ บอกกับเราด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข