ความสำเร็จ 10 ประการ เปิดหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง ไทย-ซาอุดิอาระเบีย

by ThaiQuote, 27 มกราคม 2565

ไทยและซาอุดีอาระเบียปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกลับสู่ระดับปกติ เป็นการเปิดหน้าใหม่ด้านความสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์ สร้าง“โอกาสอันมากมายมหาศาล” แก่ทั้งสองประเทศ หลังจากห่างหายไป 3 ทศวรรษ

เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะผู้แทนระดับสูง ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย การเยือนครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศความสำเร็จจากการไปเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ว่าได้สร้างหน้าใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบียที่ยุติมาเป็นเวลากว่า 30 ปี และนับเป็น “โอกาสอันมากมายมหาศาล” ที่ประเมินว่าทั้งสองประเทศจะได้รับ จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้ในด้านต่าง ๆ โดยในเนื้อหาของโพสต์ระบุว่า

“ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะขอแจ้งข่าวดีต่อปวงชนชาวไทย รวมทั้งชาวซาอุดีอาระเบีย เกี่ยวกับความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย - ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาอยู่ใน “ระดับปกติ” อย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันนี้สืบไป ภายใต้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถของทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน และเริ่มต้นศักราชใหม่แห่งความร่วมมือ สร้างสรรค์ และพัฒนา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติระหว่างสองประเทศ”

การเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นไปตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า

“เป็นการเยือนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยในเบื้องต้น ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้งสองประเทศ จาก "อุปทูต" ให้กลับมาเป็นระดับ "เอกอัครราชทูต" ดังเดิม รวมทั้งจะพิจารณาจัดตั้งกลไกความร่วมมือทวิภาคี เพื่อผลักดันกรอบนโยบายและแผนความร่วมมือต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เจริญงอกงามสืบต่อไป”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าการไปเยือนในครั้งนี้ นับเป็น “โอกาสอันมากมายมหาศาล” ที่ประเมินว่าทั้งสองประเทศจะได้รับ จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้ ได้แก่
1. ด้านการท่องเที่ยว : เป็นโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประชาชนที่จะมีพลวัตรมากขึ้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมนี้อย่างรอบด้าน เบื้องต้น มีการคาดการณ์ว่า การเดินทางไปมาหาสู่ที่สะดวกยิ่งขึ้นระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบีย จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยไม่ต่ำกว่าประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี
จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยระบุว่าเมื่อปี 2562 ประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยประมาณ 40 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวจากกตะวันออกกลางเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 7 แสนคน ซึ่งนับเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและอยู่ในประเทศไทยนานมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งนั้น แต่เป็นนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ เพียง 36,000 คน หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวซาอุฯ ก่อนเกิดปัญหา มีจำนวน 73,000 คน (ค่าเฉลี่ยปี 2530–2531) ซึ่งจากการยกเลิกการทำวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวซาอุฯ คาดว่าจะมีการเดินทางมาไทยประมาณ 150,000 คน ต่อปี ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 13,500 ล้านบาท (คิดจากการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวซาอุฯ 90,000 บาทต่อราย ในปี 2562)

2. ด้านพลังงาน : เกิดการร่วมวิจัยและลงทุน ทั้งในรูปแบบพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของทั้งสองประเทศ โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ค้าและมีแหล่งสำรองน้ำมันอันดับต้น ๆ ของโลก ตลอดจนมีวิทยาการด้านพลังงานที่ทันสมัย ส่วนไทยก็มีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่พร้อมรองรับการวิจัย พัฒนา และการลงทุนแห่งอนาคต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย BCG Economy ซึ่งสอดรับกับข้อริเริ่ม Saudi Green Initiative และ Middle East Green Initative ของซาอุดีอาระเบีย

3. ด้านแรงงาน : ไทยมีแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือที่มีศักยภาพจำนวนมาก ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบต่าง ๆ จำนวนมากเช่นกัน โดยช่วงปี 2530 ไทยเคยส่งแรงงานไปซาอุดีอาระเบียมากถึง 300,000 คน สร้างรายได้ส่งกลับประเทศมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี บัดนี้ ความร่วมมือและโอกาสนั้นจะกลับมาอีกครั้ง โดยแรงงานจากประเทศไทย จะมีส่วนช่วยเติมเต็ม “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030” (Saudi Vision 2030) ผ่านโครงการก่อสร้างที่คาดว่าจะมีขึ้นเป็นจำนวนมาก

การตกลงความสัมพันธ์ในส่วนนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “ฝ่ายซาอุดีอาระเบียให้กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ฯ ดำเนินการจัดการหาแรงงานดีมีฝีมือ โดยตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และซาอุดีอาระเบียประสงค์ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ส่วนมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติในซาอุดีอาระเบียนั้น จะมี E-Contract Program ซึ่งเป็นการทำสัญญาจ้างอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งรักษาสิทธิของลูกจ้าง และลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง รวมถึงมีข้อริเริ่ม Labor Mobility Initiative ให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น สร้างประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข็งขันในตลาดแรงงาน”

4. ด้านอาหาร : ประเทศไทยนั้นถือเป็น “ครัวโลก” อุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลทางการเกษตร ผัก ผลไม้ และประมง อีกทั้งมีอาหารที่ทั่วโลกต่างหลงมนต์เสน่ห์ รวมถึงอาหาร “ฮาลาล” ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและพร้อมส่งออกให้แก่ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงผ่านซาอุดีอาระเบียไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นำมาซึ่งโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารของไทย

5.ด้านการส่งออก จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าสัดส่วนการค้า ในปี 2564 ไทยมีการทำการส่งออกไปประเทศซาอุฯ ประมาณ 1,500 ล้าน USD (ประมาณ 45,000 ล้านบาท) คิดเป็นเพียง 0.6% ของการส่งออกทั้งหมดจากประเทศไทย (การค้ากับตะวันออกกลาง ประมาณ 8,000 ล้าน USD ต่อปี) หากประเทศไทยสามารถเปิดประตูการค้ากับซาอุฯ ได้มากขึ้น จะทำให้สัดส่วนทางการค้า การส่งออกไปประเทศซาอุฯ กลับไปที่ประมาณ 2.2% ของการส่งออกทั้งหมด ได้เหมือนปี 2532 หรือประมาณ 5,000 ล้าน USD (ประมาณ 150,000 ล้านบาท)
สินค้าที่ไทยมีศักยภาพส่งออกไปยังซาอุฯ ได้แก่ สินค้ารถยนต์แลส่วนประกอบ สินค้าอาหารและอาหารแปรรูป อาหารฮาลาล สินค้าเกษตร เครื่องจักรกล จิวเวอร์รี่ อุปกรณ์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด Medical Hub และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ
ทั้งนี้ ซาอุฯ ถือเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลาง และมีแผนที่จะขยายและพัฒนาประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว ส่วนนี้จะเป็นโอกาสให้กับประเทศไทยในการส่งสินค้าไป ซึ่งสินค้าที่มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม คือสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของการนำเข้าทั้งหมด เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของซาอุฯ ทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยด้วยเช่นกัน

6. ด้านสุขภาพ : ด้วยความแข็งแกร่งด้านระบบสาธารณสุขของไทย และบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก รวมถึงการให้บริการที่ทุกคนประทับใจ ทำให้ไทยกลายเป็น "ศูนย์กลางทางการแพทย์" (Medical Hub) ที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เป็น "นักท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม" นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย โดยผู้ป่วยมักจะเดินทางมาพร้อมกับครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มักจะซื้อแพคเกจที่รวมการรักษาพยาบาล ที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสที่จะเกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น

7. ด้านความมั่นคง: ซาอุดีอาระเบียถือเป็นเป็นประเทศอิสลามสายกลาง ที่มีอิทธิพลสูงในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) สามารถมีบทบาทช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางสันติสุข นอกจากนั้น ยังสามารถมีความร่วมมือกันด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง และการต่อต้านการก่อการร้ายอีกด้วย

8. ด้านการศึกษาและศาสนา: ที่ผ่านมานั้น ซาอุดีอาระเบียได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาด้านศาสนา นอกจากนั้น ซาอุดีอาระเบีย ยังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พลังงาน สุขภาพ การวิจัยทางทะเล การก่อสร้าง เทคโนโลยีป้องกันประเทศ และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างกันอีกมาก

9. ด้านการค้าและการลงทุน: เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการกลับมาสู่ความสัมพันธ์ในระดับปกติ จะสร้างโอกาสและเปิดประตูทางการค้าให้กับนักลงทุนและ SME ไทย ในการแสวงหาลู่ทางการทำธุรกิจและการแสวงหาหุ้นส่วนทางการค้าได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นทั้งในซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าตกแต่งภายใน และเฟอร์นิเจอร์ ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศผ่าน "กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ" ในด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ซึ่งไทยนั้น มีความพร้อมในด้านทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ สถานศึกษา และเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ อย่าง EEC พื้นที่ระเบียงเศษฐกิจ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมไปถึงการสร้างเมืองอัจฉริยะในจังหวัดต่างๆ ด้วย

10. ด้านการกีฬา: จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือทางการกีฬาของทั้งสองประเทศ ที่มีความสนใจในการแข่งขันและการกีฬาต่างๆ ร่วมกัน เช่นฟุตบอล มวย กอล์ฟ การแข่งรถ รวมถึง e-sport และอื่นๆ และเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริม "มวยไทย" ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ทั้งสองประเทศสามารถก้าวผ่านพ้นอดีต กลับมาสู่อนาคตที่สดใส โดยประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่านี่คือ “ชัยชนะ” สำหรับประชาชนทั้งสองประเทศ ที่รัฐบาลของทั้งคู่ได้ใช้ความพยายามและทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จนสำเร็จลุล่วงได้ในที่สุด และพร้อมก้าวย่างต่อไปอย่างมั่นคง ขยายจากความร่วมมือทวิภาคี "ไทย - ซาอุดีอาระเบีย" ไปสู่พหุภาคี "อาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ” (Gulf Cooperation Council : GCC) โดยต่อจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินงานอย่างไม่ลดละ ที่จะนำเอาความสำเร็จจากการสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ แปลงไปสู่นโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอีกมากมาย”