นายกฯแจงยิบมาตรการช่วยเหลือกลุ่มต่าง ๆ ตั้งแต่บัตรคนจน วินฯ ยันผู้บริโภค ลดภาระค่าครองชีพ จากวิกฤตน้ำมัน

by ThaiQuote, 16 มีนาคม 2565

นายกฯเตรียมออกมาตรการหลากหลายดูแลประชาชน บรรเทาผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตรึงราคาก๊าซหุงต้มช่วยผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ร้านอาหารที่ร่วมโครงการคนละครึ่ง ลดค่าใช้จ่ายนายจ้าง ลดราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ ตรึงราคาไข่ไก่

 

วันที่ 16 มีนาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 1/2565 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการบริหารรัฐวิสาหกิจทั้ง 50 กว่าแห่ง รวมทั้งรับทราบผลการปฏิบัติงานประจำปีที่ผ่านมาของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีทั้งหน่วยงานที่มีผลประกอบการดีขึ้นมาก ดีขึ้นเล็กน้อย และหน่วยงานที่ยังมีการขาดทุน เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้บริการประชาชน ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการทบทวนบทบาทว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้สามารถมีรายได้เพิ่มเติมขึ้น พร้อมกับดูแลประชาชนให้ได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าเรื่องการจัดหาหัวรถจักร ซึ่งขณะนี้กำลังทยอยเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงเรื่องของรถเมล์รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเสริมการให้บริการประชาชน โดยคาดว่าภายในปีนี้จะเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งรัฐบาลก็จะเร่งดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็วภายใต้งบประมาณที่มีอยู่เพื่อดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงมาตรการในการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นจนทำให้ส่งผลต่อราคาน้ำมันและพลังงานเพิ่มขึ้น ตลอดจนส่งผลไปยังราคาสินค้าอื่น ๆ ที่ขึ้นราคาตามมาด้วยนั้น ขณะนี้รัฐบาลพยายามที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 ต่อลิตรไปก่อน ขณะที่ราคาจริงของน้ำมันดีเซลยังสูงกว่าที่รัฐบาลตรึงราคาไว้ โดยที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณจากกองทุนพลังงานมาช่วยดูแลเรื่องนี้ซึ่งก็ติดลบอยู่ในปัจจุบัน จึงต้องหาเงินในส่วนอื่นเข้ามาเติมในส่วนนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องใกล้ชิดเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป โดยช่วงนี้หากสามารถดำเนินการได้ไปจนถึงที่สุดของงบประมาณที่มีอยู่ ก็อาจมีการพิจารณามาตรการอื่นเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันเพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ โดยในส่วนของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชนทุกกลุ่มภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ

"ขณะนี้ ราคาน้ำมันยังมีความผันผวน สิ่งสำคัญต้องขอความร่วมมือจากทุกคน หากยังมีความขัดแย้ง วิกฤตการณ์ตรงนี้ก็จะแก้ไขไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจและไม่ร่วมมือกัน ซึ่งรัฐบาล และทุกกระทรวงพยายามช่วยกันเต็มที่" นายกรัฐมนตรีกล่าว

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดูแลช่วยเหลือในส่วนของแรงงานซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกันว่า รัฐบาลจะมีการพิจารณาลดค่าใช้จ่ายของนายจ้างและลูกจ้าง โดยมอบหมายให้กองทุนประกันสังคมไปพิจารณาดำเนินการ รวมถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ก็จะให้มีการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติม รวมไปการดูแลด้านการเกษตรทั้งเรื่องอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี ที่ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณามาตรการช่วยเหลือในเรื่องปุ๋ยเคมีราคาแพง การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และสนับสนุนให้มีการหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยสั่งตัดให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด

"ที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ขณะนี้หลายประเทศเก็บไว้ ไม่ปล่อยขาย เพราะเจอสถานการณ์ผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งไทยต้องแก้ปัญหาด้วยการปรับไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยสังตัดให้มากขึ้น ให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด เพื่อลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรและปรับเปลี่ยนบางมาตรการ ส่วนเรื่องอาหารสัตว์ จำพวกข้าวโพด ข้าวสาลี ไทยมีฐานผลิตพอสมควร จึงต้องดึงมาใช้ในประเทศไปพลางก่อน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

รวมทั้งรัฐบาลได้มีการดูแลในส่วนของประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อย โดยกำลังมีการพิจารณาช่วยเหลือเบื้องต้นผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งการบรรเทาผลกระทบราคาก๊าซหุงต้ม LPG ให้กับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้ม LPG สำหรับกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง การดูแลช่วยเหลือค่าไฟฟ้า การช่วยราคาน้ำมันเบนซินสำหรับกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง พร้อมทั้งจะขอความร่วมมือผู้ค้า NGV ช่วยตรึงราคาก๊าซ NGV ในช่วงวิกฤติพลังงานไปก่อน พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้เกิดความเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือให้บรรดาธุรกิจภาคเอกชนช่วยกันลดราคาสินค้าลงบ้าง และขอให้ประชาชนทุกฝ่ายรวมทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย เพราะวิกฤติการณ์ครั้งนี้ทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อก้าวผ่านพ้นไปให้ได้ โดยรัฐบาลพยายามเร่งพิจารณาดำเนินการอย่างเต็มที่ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลสรุปของมาตรการภายในอาทิตย์นี้

 

 

เกษตรฯ-พาณิชย์ หารือแนวทางแก้ปัญหาราคาปุ๋ยเคมี-วัตถุดิบอาหารสัตว์-ผลไม้

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) ถึงแนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ราคาและการนำเข้า-ส่งออก ทั้งในส่วนของปุ๋ย อาหารสัตว์ และผลไม้

สำหรับเรื่องราคาปุ๋ยที่มีราคาสูงขึ้นนั้น กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันหามาตรการที่จะช่วยในเรื่องดังกล่าว โดยพิจารณาในเรื่องต้นทุนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับราคาปุ๋ยสูงขึ้น ก็จะหาช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยในราคาถูกได้ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีโครงการลดราคาปุ๋ยเคมี โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้ 5 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีการผลิตประมาณ 3.2 ล้านตัน เพื่อเป็นมาตรการเสริมใช่ช่วงปุ๋ยแพงต่อไป

ส่วนเรื่องการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว ที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้ง 2 กระทรวงได้ร่วมหารือถึงตลาดส่งออก โดยตลาดส่งออกสำคัญคือ จีน ซึ่งทูตเกษตรฯ ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานของจีนอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันจีนยังคงยึดมาตรการ Zero Covid โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในจีนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนมีมาตรการควบคุมทั้งคนและการขนส่งสินค้าอย่างเข้มงวด โดยเป็นมาตรการทั้งระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างกันไปตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ในส่วนของสินค้าที่ขนส่งผ่านห่วงโซ่ความเย็น เช่น ผลไม้ จะต้องถูกตรวจ 3 อย่าง และต้องได้รับใบรับรอง ได้แก่ ใบรับรองผ่านตรวจสอบกักกัน ใบรับรองผลตรวจโควิด และใบรับรองการผ่านการฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลไม้ของไทยสามารถส่งออกไปจีนได้

นอกจากนี้ ได้หารือถึงวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ (ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง) ที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสมาคมต่างๆ กระทรวงพาณิชย์จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ เพื่อเสนอความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว โดยให้มีการชะลอมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ อัตราส่วน 1 ต่อ 3 ของกระทรวงพาณิชย์ ไว้ชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 65 รวมถึงต้องกำหนดปริมาณที่จะนำเข้าว่าไม่เกินเท่าไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการตั้งคณะทำงานวงเล็กเพื่อหารือประเด็นดังกล่าว ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายกรมปศุสัตว์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เข้าร่วมด้วย เพื่อให้ข้อมูลตัวเลขสำหรับใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรต่อไป

ด้านKKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 65 ลงเหลือ 3.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% โดยประเมินว่า ความไม่แน่นอนต่อภาพแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีสูงขึ้นมาก จากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครนและรัสเซีย และปรับประมาณการเงินเฟ้อเฉลี่ยจากที่เคยคาดไว้ในปี 65 ที่ 2.3% เพิ่มเป็น 4.2% จากต้นทุนราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น.