รัสเซียทำสงครามกับยูเครน ท้าดวลตะวันตกจัดระเบียบความมั่นคงและเศรษฐกิจใหม่ เปิดขั้วใหม่มหาอำนาจโลก

by วันทนา อรรถสถาวร , 19 มีนาคม 2565

สงครามรัสเซียกับยูเครนดำเนินมากว่า 3 สัปดาห์ ขณะนี้การต่อสู้ที่สำคัญไม่ใช่การสู้รบ แต่กลับเป็นสมรภูมิการเจรจาที่รัสเซียต้องการชัยชนะที่เบ็ดเสร็จ เงื่อนไขบนโต๊ะเจรจาเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

 

Thaiquote ได้รับเกียรติจากท่านเอกอัครราชทูต วัฒนะ คุ้นวงศ์ให้สัมภาษณ์เป็นครั้งที่ 2 เพื่อมาวิเคราะห์สถานการณ์ของรัสเซีย ยูเครน ที่กำลังเดินเข้าสู่โต๊ะเจรจาโดยมีตะวันตก และสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลัง เชิญติดตามการสัมภาษณ์พิเศษในครั้งนี้ได้เลยค่ะ

ท่านมองสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ณ ปัจจุบันอย่างไร

การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 แล้ว แต่ไม่ทราบว่านี่เป็นเป้าหมายของรัสเซียหรือไม่ รัสเซียต้องการที่จะเผด็จศึกยูเครนโดยเร็ว อาจจะมีการประเมินศักยภาพด้านการทหารของยูเครนต่ำไป เพราะเวลาที่เนิ่นนานออกไปไม่ได้เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น เพราะว่าสงครามมีต้นทุนค่าใช้จ่าย การสู้รบมาถึง 3 สัปดาห์ เข้าใจว่าไม่ใช่สิ่งที่รัสเซียปรารถนาให้ยืดเยื้อ

ส่วนฝั่งยูเครนเองความสามารถในการต่อต้าน ด้วยความรักชาติของชาวยูเครน ไม่ต้องการเป็นเบี้ยล่างกับรัสเซีย การต่อต้านที่รุนแรงจึงมาจากพลังประชาชน แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือ การสนับสนุนจากตะวันตก ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นการสนับสนุนแบบเต็มอัตราศึก คือการส่งกำลังกองสนับสนุนจากนาโต้เข้ามาช่วยยูเครนรบ เพราะสิ่งนั้นทำไม่ได้ แต่การสนับสนุนที่ไม่เป็นทางการน่าจะมหาศาลมาก อยู่ในขอบเขตที่ใหญ่โตมโหฬารมาก จนทำให้แผนรัสเซียเผด็จยูเครนที่คิดว่าจะใช้เวลาอันสั้น ก็เนิ่นนานออกไป

 

ท่านทูต วัฒนะ คุ้นวงศ์

ท่านทูต วัฒนะ คุ้นวงศ์

 


แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ต้องจบลงที่การเจรจาแน่นอน ซึ่งขณะนี้ดูเหมือนว่าในแง่การข่าวทางยูเครนก็พร้อมเจรจา แต่ในความคิดเห็นของผม มีความเห็นต่าง เพราะที่ผ่านมาผู้นำยูเครนได้ออกมาพูดตั้งแต่แรกแล้วว่าพร้อมเจรจา โทรหาปูตินว่าจะไม่เข้ากับนาโต้แล้ว ส่วนปูตินไม่รับสาย แต่เซเลนสกีเมื่อพูดแล้วก็ไม่หยุด แสดงท่าทีว่าจะยอมจำนนต่อรัสเซียประการใด เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสนับสนุนจากตะวันตกเข้ามาเรื่อย ๆ เป็นการเคลื่อนไหวแบบ on and off ในห้วงเวลาที่ตะวันตกไม่ช่วยเขา เขาก็จะแสดงท่าทีออกมาว่า ตะวันตกกำลังจะทิ้งยูเครน ตะวันตกไม่ให้การสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ ให้นาโต้สนับสนุนให้มีเขตห้ามบิน ซึ่งตะวันตกก็เพิกเฉย ผู้นำยูเครนแสดงท่าทีว่าถ้าหากได้รับการสนับสนุนจากทางตะวันตกก็จะขึ้นมาฮึดสู้ แต่เมื่อใดที่การสนับสนุนจากตะวันตกลดลง หรือไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวังไว้ เขาก็จะออกมาว่ายอมจำนนแล้ว

เพราะฉะนั้นผมมองว่าแม้ว่าประธานาธิบดีเซเลนสกีจะละทิ้งความคิดที่จะให้ยูเครนเข้านาโต้แล้ว และให้ทางตะวันตกประกันความมั่นคงของยูเครน แต่ถามว่ารัสเซียยอมหยุดอยู่ที่ตรงนี้ไหม ผมเชื่อว่ารัสเซียไม่ยอมหยุดอยู่ที่ตรงนี้แน่นอน เพราะรัสเซียกำลังกุมความได้เปรียบในสมรภูมิอยู่ ถ้าหากกมีการเจรจา ก็จะเป็นการเจรจาที่ไม่ใช่เพื่อการประนีประนอม แต่จะเป็นการเจรจาเพื่อการกำหนดเงื่อนไข ในการเจรจานี้จะมีหลายมิติของการหารือเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การยุติสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่มีใครรับยูเครนเข้าเป็นนาโต้ และสหภาพยุโรปก็ลังเลที่จะรับเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปด้วย

 

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน

 

ในตอนแรกผมมีความเข้าใจว่าในการเจรจาจะมีการยื่นหมูยื่นแมวกัน ยูเครนจะไม่เป็นสมาชิกนาโต้ แต่อาจะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ ซึ่งรัสเซียจะรับได้ไหม เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วเชื่อว่ากลไกการบูรณาการยูเครนให้เข้ากับกลไกทางด้านการทหารกับนาโต้ และทางด้านเศรษฐกิจกับอียู คงจะปิดสำหรับยูเครน

ประเด็นต่อมารัสเซียต้องยื่นเงื่อนไขนี้ให้ชัดเจน ไม่เพียงแค่เซเลนสกีที่จะออกมายอมรับการไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นาโต้เองก็ต้องพูดให้ชัดว่าจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ โดยจะต้องยืนยันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากนาโต้ว่าจะไม่รับยูเครนเป็นสมาชิกภาพ

ประเด็นต่อมาที่จะต้องคุยกันคือสถานภาพของไครเมีย ดอนบัส และลูฮันสค์ ว่าจะเป็นอย่างไร ประเด็นนี้็เป็นประเด็นที่แหลมคมและอ่อนไหวของการเจรจาระหว่างยูเครนกับรัสเซียเหมือนกัน ยังไม่รู้ว่ารัสเซียมีพิมพ์เขียวในเรื่องนี้อย่างไร จะให้ 2 ภูมิภาคนี้เป็นรัฐเอกราชหรือไม่ และเมื่อเป็นเอกราชแล้ว จะได้รับการรับรองหรือไม่จากตะวันตก เหมือนกับการที่ตะวันตกรับรองเอกราชของโคโซโว ซึ่งรัสเซียคัดค้านมาก เพราะเป็นการดำเนินการของนาโต้ และอเมริกาแต่เพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่แคว้นอับคาเซีย และแคว้นนอร์ทโอเซเทีย แยกตัวมาจากจอร์เจียไม่มีใครรับรองเลย ฉะนั้นรัสเซียเรียกร้องให้ตะวันตกให้การรับรอง ลูฮันสค์ ดอนบัส และไครเมีย หรืออาจจะมีการจัดระเบียบการเมืองภายในของยูเครนใหม่ โดยที่รัสเซียจะไม่ผนวกดอนบัส และลูฮันสค์มาเป็นของรัสเซีย แต่จะให้ตะวันตกรับรองสถานะการเป็นสาธารณรัฐปกครองตนเองภายในยูเครนก็เป็นไปได้ เพื่อที่การเมืองในรัฐสภาของยูเครนต่อไปในอนาคตจะมีผู้แทนจากดอนบัสและลูฮันสค์นั่งอยู่ในสภาด้วย ซึ่งสิ่งที่รัสเซียต้องการหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลในกรุงเคียฟ แทนรัฐบาลของนายเซเลนสกีได้ รัสเซียก็ต้องมั่นใจว่าเขาจะมีผู้แทนของเขตต่าง ๆ ที่นิยมรัสเซียนั่งอยู่ในรัฐสภาของยูเครน เพื่อประกันว่านโยบายด้านต่างประเทศของยูเครนไม่ว่าใครเข้ามาก็ต้องมีการถกเถียงและสร้างสมดุลอำนาจกันได้ สมาชิกที่นิยมรัสเซียที่ไม่ต้องการให้ยูเครนเข้านาโต้ สามารถใช้สิทธิใช้เสียงในสภาได้ ประเด็นเรื่องสถานภาพของดอนบัส ลูฮันสค์และไครเมียน่าจะเป็นประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ ทำให้การเจรจาไม่สามารถจบลงได้

 

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

 

 

ประการต่อมา ถ้ารัสเซียอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ รัสเซียก็ต้องขยายข้อเรียกร้องของตนเองไปยังประเทศที่สนับสนุนยูเครนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตะวันตกรวมหัวกันคว่ำบาตรรัสเซีย ปลดล็อกมั้ย ปลดล็อกแค่ไหน รัสเซียก็ต้องใช้ยูเครนเป็นตัวประกันในการยื่นเงื่อนไขนี้ เพื่อต่อรองกับตะวันตก ทำให้ระเบียบโลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบการเงิน พลังงาน ของโลกที่จะมีอีกขั้วหนึ่งของโลกเกิดขึ้นโดยมีรัสเซีย จีน และอาจจะมีอินเดีย ตุรกี อิหร่าน เป็นต้น เข้าร่วมในระเบียบโลกใหม่ แต่คงยังไม่เกิดในเร็ววัน แต่มีความเป็นไปได้ที่สถานะของเงินเปโตรดอลลาร์จะถูกท้าทาย เพราะน้ำมันที่จะไปค้ำจุนฐานะของเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างเช่นน้ำมันจากรัสเซีย และกลุ่มประเทศโอเปคบางประเทศเช่น ซาอุดิอารเบีย จะไปค้ำฐานะของเงินสกุลใหม่แทน เช่นเงินหยวน และประเทศในกลุ่มอาหรับ เช่น ซาอุดี อาระเบียก็อาจจะไม่ยึดติดอยู่กับระบบเดียว คือเขาอาจจะเข้าร่วมกับเปโตรดอลลาร์ในระบบเดิม และในขณะเดียวกันก็เข้าร่วมกับระบบใหม่ที่ไม่เอาดอลลาร์เป็นตัวกลางในการซื้อขาย แต่จะเอาเงินหยวน เงินรูเบิล (ยกเว้นไว้ชั่วขณะเพราะตอนนี้อยู่ในภาวะสงคราม) และรูปีเป็นเงินตราแลกเปลี่ยน เพราะเงินพวกนี้เป็นเงินมั่นคงเพราะมีทองคำเป็นตัวค้ำซึ่งมั่นคงกว่าดอลลาร์สหรัฐในสายตาของซาอุดิอารเบีย ยูเออี กาตาร์ โลกใหม่จะมี 2 ระบบ จีนและรัสเซียระบบหนึ่ง ดอลลาร์อยู่ในอีกระบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นในการเจรจาต่อรองระหว่างรัสเซียกับยูเครนในครั้งนี้ รัสเซียอาจจะต้องการให้ตะวันตกปลดล๊อกการคว่ำบาตรรัสเซียลงมา เพื่อที่รัสเซียสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเองหลังสงครามได้ ทั้งหมดนี้อยู่ในแพ็คเก็จของการเจรจาต่อรอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้การเจรจาอาจไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

สถานการณ์ตอนนี้ถือว่ายูเครนเพลี้ยงพลั้งรัสเซียแล้วใช่ไหม

เป็นเรื่องของเวลา ตอนนี้ตะวันตกต้องการเล่นเกมยื้อกับรัสเซีย ตะวันตกใช้ 2 เครื่องมือในการเล่นงานรัสเซียในครั้งนี้ เครื่องมือแรกคือใช้ยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย ใช้เครื่องมือทางการทหารผ่านยูเครนในการบั่นทอนรัสเซีย ซึ่งรัสเซียทำสงครามกับยูเครน 3 สัปดาห์ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียเพราะสงครามมีค่าใช้จ่าย เงินสำรองจะลดลงไป นอกจากนี้เงินทุนสำรองที่อยู่ในต่างประเทศก็ถูกแช่แข็งไว้ รวมทั้งเงินของบรรดาเศรษฐีที่สนับสนุนปูตินที่ถูกอายัดด้วย เพราะฉะนั้นทำให้รัสเซียมีเงินที่จำกัดในการทำสงคราม ถ้าหากสงครามยืดเยื้อทางตะวันตกจะได้ประโยชน์ มีการทำนายว่าถ้าหากยูเครนสามารถตรึงการทำสงครามกับรัสเซียถึงต้นเดือนพฤษภาคมได้ รัสเซียอาจแพ้สงคราม

อีกเครื่องมือที่ตะวันตกใช้สู้กับรัสเซียคือเครื่องมือทางด้านเศรษฐกิจ ในเวทีเศรษฐกิจตะวันตกลงมาเองเลย ไม่จำเป็นต้องทำผ่านยูเครน ทั้งหมดนี้ทำให้รัสเซียถูกตีกระหน่ำทั้ง 2 ด้าน โดยสงคราม และโดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดการทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของรัสเซีย ในด้านหนึ่งพยายามที่จะแบ่งแยกประชาชนรัสเซียออกจากรัฐบาล การคว่ำบาตรจะทำให้ประชาชนรัสเซียอาจไม่ทนและหมดความอดทนที่มีต่อรัฐบาลรัสเซีย อีกด้านหนึ่งคือการแบ่งแยกพวกโอลิการ์คออกจากปูติน เพื่อให้ปูตินโดดเดี่ยว เพราะโอลิการ์คไม่ทุกคนที่รักชาติ และไม่ทุกคนที่จะอยู่กับปูตินตลอดไป เพราะเงินของเขามันสูญไปต่อหน้าต่อตา เงินในต่างประเทศถูกยึด เพราะฉะนั้นเป้าหมายของตะวันตกคือพยายามที่จะตีกระหน่ำปูตินไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ประธานาธิบดีปูตินพังจากภายใน ถ้าตามแผนนี้คือทำให้สงครามยืดเยื้อ เพื่อให้รัสเซียหมดกำลัง ในขณะที่เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้มากขึ้น ๆ ถ้าหากจีนไม่สามารถเข้ามาช่วยรัสเซียได้ ก็จะบรรลุเป้าหมายของตะวันตกคือให้ปูตินพังจากภายใน

 

 


ท่านคิดว่ารัสเซียจะปล่อยให้สงครามลากยาวไปถึงขนาดนั้นไหมคะ

รัสเซียคงไม่ต้องการให้ลากยาวไปถึงขนาดนั้น รัสเซียต้องการเร่งเผด็จศึกโดยเร็ว แต่ไม่เร่งให้เจรจาจบโดยเร็ว เพราะรัสเซียต้องการที่จะกุมความได้เปรียบอย่างเบ็ดเสร็จ ก่อนที่จะเข้านั่งโต๊ะเจรจา สำหรับรัสเซีย การเจรจาจะไม่ใช่การประนีประนอม แต่ให้รัสเซียเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขบนโต๊ะเจรจาเพื่อให้ยูเครนและตะวันตกยอมรับ ไม่ใช่เพื่อการต่อรอง แต่จะไม่ใช่ภายในวัน สองวันนี้ ในที่สุดต้องส่งกำลังทหารเข้ายึดกรุงเคียฟให้ได้ ในความเห็นของผมก็เชื่อว่ารัสเซียยึดได้ เพราะตอนนี้โอบล้อมทุกทางแล้ว และการที่รัสเซียเข้าทำลายที่มั่นทางการทหารทุกจุด โดยเฉพาะที่มั่นทางการทหารที่ติดกับชายแดนโปแลนด์ ได้สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับทางยุโรปว่ารัสเซียจะเปิดแนวรบเข้าสู่โปแลนด์หรือเปล่า

แต่โดยส่วนตัวคิดว่ารัสเซียไม่ไปถึงจุดนั้น แต่การไปทำลายที่มั่นทางการทหารที่เมืองยาโรวีฟก็ เพื่อต้องการทำลายสนามบินและเทอร์มินอลในการลำเลียงยุทธภัณฑ์ที่มาจากนาโต้ เพราะดูจากรูปการณ์ของสงครามที่ผ่านมา รัสเซียจำกัดการโจมตีเพียงครึ่งประเทศทางตะวันออกของยูเครนเท่านั้น โดยตั้งเป้าว่ากรุงเคียฟจะเป็นที่มั่นสุดท้ายในการเข้ายึด รัสเซียไม่เปิดศึกไปทางตะวันตก เพราะเป็นสมรภูมิที่ใหญ่เกินไปที่รัสเซียจะทำได้ เพราะจะทำให้ตะวันตกเข้าใจ้ผิดว่ารัสเซียต้องการเปิดแนวรบกับนาโต้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้นก็เท่ากับรัสเซียฆ่าตัวตาย

 

 

สงครามน่าจะยืดเยื้อไหม ท่าทีนาโต้จะเป็นอย่างไร

จะยืดเยื้อหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัสเซียพอใจกับความสามารถที่จะช่วงชิงความได้เปรียบได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนนาโต้เองก็แสดงจุดยืนตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่สามารถสนับสนุนยูเครนได้อย่างเต็มอัตราศึก เพราะมันขัดต่อกฎบัตรของนาโต้ ถ้าหากนาโต้ทำอย่างนั้นก็จะก่อให้เกิดการละเมิดต่อกฎบัตรทางการทหารขององค์กรทางการทหารอื่น ๆ ตามมา นอกจากนี้นาโต้เองก็ไม่กล้าเปิดศึกกับรัสเซีย เพราะไม่สามารถบัญชาการการรบในสมรภูมิที่ใหญ่โตเช่นนี้ได้ นาโต้ไม่สามารถระดมสรรพกำลังจากประเทศสมาชิกทางการทหารได้อย่างรวดเร็วและจำนวนมากได้

แต่อย่างไรก็ตามก็ยังเชื่อว่ารัสเซียต้องการจำกัดพื้นที่สงครามอยู่แค่ยูเครนเท่านั้น เพราะต้องการให้ยูเครนเป็นดินแดนกันชน เพราะถ้าหากเสียยูเครนไปจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการได้ยูเครนเป็นรัฐกันชนก็เท่ากับได้เทือกเขาคาร์ปาเธียนเป็นเส้นกั้นเขตแดนธรรมชาติิระหว่างรัสเซียกับตะวันตกด้วย แต่ถ้าหากตะวันตกสามารถเข้าสู่ยูเครนได้ พื้นที่ของยูเครนที่ปะชิดรัสเซียเป็นพื้นที่ราบ สามารถรุกเข้าสู่รัสเซียได้ง่าย ซึ่งเรื่องความเป็นกลางของยูเครนกลายเป็นเงื่อนขาการเจรจาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งก็คือรูปแบบของสถานะการเป็นกลางของยูเครนควรออกมาเป็นรูปแบบใด

รัสเซียเองไม่ต้องการยึดยูเครนมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เพราะเป็นภาระมากกว่า แต่สิ่งที่รัสเซียต้องการต่อไปคือจะให้ เซเลนสกีอยู่ต่อหรือไม่ รูปแบบการเมืองของยูเครนหลังสงครามจะเป้นอย่างไร เพื่อให้มีการเมืองที่ไม่เป็นภัยต่อรัสเซีย เพื่อเป็นหลักประกันว่ายูเครนจะยึดนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางจริง ๆ ทางยูเครนเองก็ต้องกลับมาแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อให้ประเทศเป็นรัฐที่เป็นกลางอย่างแท้จริง เพราะออสเตรียหรือสวิตเซอร์แลนด์ เขาเขียนชัดเจนในรัฐธรรมนูญเลยถึงสถานะที่ไม่เข้าร่วมกับพันธมิตรทางทหารใด ๆ ยูเครนเองต้องเขียนลงในรัฐธรรมนูญให้เหมือนทั้งสองประเทศดังกล่าวหรือไม่ อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือนาโต้ต้องทำข้อตกลงกับรัสเซียว่าจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ด้วยหรือไม่

 

 

สภาพของหลังสงครามจะเป็นอย่างไร

ในความคิดเห็นของผมคิดว่า ระเบียบโลกจะต้องเอื้ออำนวยให้เกิดการรื้อฟื้นความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัสเซียกับตะวันตก กับสหรัฐฯ และกับโลกกลับมาใหม่ ที่ผ่านมารัสเซีย ยุโรป และนาโต้มีกลไกต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน แต่ตะวันตกได้ขับรัสเซียออกจากกลไกเหล่านี้ไปแล้ว การที่รัสเซียทำสงครามกับยูเครนทำให้เปลี่ยนความคิดของคนทั้งหมดเลย โลกทั้งโลกตะลึงว่าเกิดสงครามในลักษณะนี้ได้หรือในพ.ศ.นี้ เพราะฉะนั้นทุกคนไม่มีใครไว้ใจรัสเซียแล้ว ว่าจะยึดมั่นในสันติภาพจริง อะไรก็ตามที่รัสเซียมองว่าขัดผลประโยชน์ตัวเอง รัสเซียพร้อมที่จะใช้มาตรการทางสงครามเข้าจัดการ

ปัญหาต่อไปในอนาคตคือยากแล้วที่รัสเซียจะชนะใจคนยูเครน คนยูเครนก็จะมองรัสเซียในลักษณะที่เกลียดชัง ไม่ไว้ใจ หวาดกลัว เป็นบาดแผลใหญ่ ในขณะเดียวกันตะวันตกก็ไม่ไว้ใจรัสเซีย ต้องมีการรื้อฟื้นกลไกการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกลับมา โดยใช้กลไกทางการทูตต่าง ๆ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะสามารถสร้างขึ้นมาในเร็ววันหรือไม่ ถ้าหากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจมีอยู่สูง รัสเซียอาจต้องโถมเข้าหาจีน และประเทศชายขอบทั้งหลาย สร้างดุลแห่งอำนาจดุลใหม่ขึ้นมา มันจะเป็นวิธีการมองโลกต่อไปในอนาคตเป็นเรื่องของความแตกต่างของการพัฒนาความสัมพันธ์ของโลก ระหว่างตะวันตกที่เอาเรื่องประชาธิปไตยเป็นศีลธรรม และประเทศในส่วนที่เหลือที่ไม่ต้องการให้ตะวันตก ส่งออกศีลธรรมของตนเองโดยใช้กลไกทางการเงินและการค้าเป็นอาวุธ กลุ่มที่เหลือดังกล่าวก็ต้องป้องกันตัวเองด้วย ไม่ให้สหรัฐอเมริกาและตะวันตกอ้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แล้วตัวเองก็ใช้มาตรการลงโทษประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน อิรัก อัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ ตุรกี ประเทศพวกนี้ก็จะไม่ยอมให้สหรัฐอเมริกากระทำข้างเดียวอีกต่อไป

ท่านมองสหรัฐอเมริกาต่อสงครามครั้งนี้อย่างไร

ถ้าหากเราจะติดตามความคิดเห็นในโลกโซเชียลก็จะเห็นว่าหลายคนออกมาวิจารณ์ว่าสหรัฐใช้ยูเครนเป็นเครื่องมือให้พี่น้องเชื้อสายสลาฟมาประหัตถ์ประหารกัน สิ่งสุดท้ายก็คือความอ่อนแอของชนชาติสลาฟ ใคร ๆ อาจจะมองว่าการตัดสินใจในครั้งนี้ของรัสเซียเป็นเรื่องโหดร้าย แต่ในสายตาผมมองว่าเป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวดที่รัสเซียต้องทำสงครามมาประหัตถ์ประหารกับพี่น้องของตัวเอง ในที่สุดคนข้างนอกก็มองการวิวาทในครั้งนี้ด้วยความสะใจ

 

 

ถ้าเช่นนั้นท่านก็มองว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะไม่เกิด

สงครามโลกครั้งที่ 3 เป็นสงครามนิวเคลียร์ เงื่อนไขสุดท้ายของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 คือการประจันหน้ากันโดยตรงของอภิมหาอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์กัน สงครามที่ผ่านมาในยุทธบริเวณต่างๆ เข่น ในตะวันออกกลางล้วนเป็นสงครามตัวแทน แต่สำหรับสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้มีเงื่อนไขที่ใกล้เคียงมากที่จะก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่างรัสเซียกับยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งสิ่งนี้ทางสหรัฐอเมริกามองออก ทำให้เขาไม่ลงมาคลุกตัวเองเข้าสู่สงครามโดยตรง และถ้าหากมหาอำนาจต่อสู้กันก็จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้าประหัตประหารกันซึ่งก็เท่ากับเป็นการสิ้นสุดของอารยธรรมและของมนุษยชาติ

จริง ๆ แล้วอาวุธนิวเคลียร์ คือหลักประกันที่ไม่ก่อให้เกิดสงคราม 1. มหาอำนาจจะไม่เผชิญหน้าระหว่างกัน 2. มหาอำนาจจะไม่ก่อสงครามระหว่างกัน เพราะต่างฝ่ายก็มีอาวุธนิวเคลียร์ เพราะฉะนั้นอาวุธนิวเคลียร์จึงไม่ใช้อาวุธเพื่อการประหัตประหารกัน แต่เป็นเครื่องมือเพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้ก่อสงครามกัน ผมเชื่อว่าไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3

ส่วนพล็อกซี่วอร์ (สงครามตัวแทน)คงต้องเกิดต่อไป เพราะเป็นสงครามที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจ ตราบใดที่ประเทศหนึ่งมามีอิทธิพลเหนืออีกประเทศอื่นแล้ว จะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยหรือลุกล้ำความมั่นคงทางทหาร เศรษฐกิจ ย่อมต้องเกิดความขัดแย้งและนำไปสู่สงครามได้ สงครามในครั้งนี้ทำให้สหรัฐอเมริกามองว่าประเทศรัสเซียมีความน่ากลัว เพราะผู้นำรัสเซียมีความกล้าที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่ม่ีใครคาดว่าจะทำ

ถ้ายุติสงครามแล้วใครจะเป็นผู้จ่ายความเสียหาย

ผมคิดว่าความเสียหายในครั้งนี้กำลังอยู่ในโต๊ะเจรจา ความเสียหายอันที่ 1 คือการฟื้นฟูยูเครน ในกรณีนี้รัสเซียคงไม่จ่ายเอง คงต้องโทษตะวันตกว่าเป็นตัวยุแยงให้เกิดเหตุการณ์นี้ เพราะฉะนั้นตะวันตกจะต้องเข้ามาร่วมกับรัสเซียในการเป็นพันธมิตรนานาชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของยูเครนกลับมา

2. การฟื้นฟูสถานภาพของรัสเซียในเวทีโลกในทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อให้การค้าฟื้นขึ้นมา สินค้าด้านพลังงาน เช่น น้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่รัสเซียถูกคว่ำบาตร รัสเซียต้องต่อรองให้ตะวันตกยุติมาตรการการเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซียทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ยุโรปจำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของรัสเซีย และร่วมกันจ่ายความเสียหาย เพราะยุโรปเองยังต้องพึ่งพลังงานจากรัสเซีย หาที่อื่นมาทดแทนในเร็ววันไม่ได้ และไม่ใช่ราคาถูก ยุโรปก็ต้องพึ่งพารัสเซีย ดังนั้นยุโรปก็ต้องเปิดกลไกต่าง ๆ ที่เคยคว่ำบาตรไปกลับมาทำงานตามปกติ.

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“ทั้งรัสเซียและยูเครนล้วนเป็นเหยื่อของระบบความมั่นคงที่ชำรุดของยุโรป”