ภาวะ “ลองโควิด” มีความเป็นไปได้ 4 สาเหตุ สัญญาณเตือนมีมากกว่า 200 อาการ

by ThaiQuote, 19 เมษายน 2565

สสส. เผย ตอนนี้เริ่มมีผู้ป่วยโควิดที่มีอาการลองโควิด (Long Covid) มากขึ้น จึงให้ความรู้และทำความรู้จัก “ลองโควิด” อันตรายแค่ไหน สาเหตุมาจากอะไรกันแน่ มีอาการอะไรบ้าง และแนวทางดูแลตัวเอง

 

เฟซบุ๊ก Social Marketing Thaihealth by สสส. โพสต์ข้อความเรื่อง "ภาวะลองโควิด" โดยระบุว่า ตอนนี้เริ่มมีผู้ป่วยโควิดที่มีอาการลองโควิด (Long Covid) มากขึ้น วันนี้เลยชวนมาทำความรู้จักลองโควิด อันตรายแค่ไหน สาเหตุมาจากอะไรกันแน่

ภาวะลองโควิด คือการที่ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือนหลังติดเชื้อ ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงตั้งแต่ต้น มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ระยะเวลาของอาการมีตั้งแต่หลายเดือนจนถึงเป็นปี หลายอาการรักษาได้ แต่หลายอาการต้องรักษาระยะยาว และอาจมีผลต่อร่างกายถาวร

จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าภาวะลองโควิดมีความเป็นไปได้ 4 สาเหตุ ประกอบด้วย

1.มีเชื้อไวรัสหลงเหลือในอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื่อง
2.การอักเสบในหลายอวัยวะ ทำให้อวัยวะผิดปกติแบบถาวร ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว
3.ผลกระทบจากการรักษาและนอนโรงพยาบาลในระยะเวลานาน
4.ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติภายหลังการติดเชื้อ

 

 

อาการลองโควิด

สัญญาณเตือนลองโควิด มี มากกว่า 200 อาการ พบได้ในทุกระบบของร่างกาย โดยแบ่งอาการที่พบบ่อยได้ 3 กลุ่ม คือ
1.อ่อนเพลีย
2.หายใจไม่เต็มอิ่ม ทำกิจกรรมปกติได้ลดลง เหนื่อยง่ายขึ้น
3.ภาวะสมองเสื่อม เช่น ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อในสิ่งที่จะทำ ความจำลดลง มีปัญหาการนอนหลับ ความสามารถในการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมลดลง

 

 

นอกจากนี้อาจจะพบอาการอื่นๆ อีก เช่น
– ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน ลิ่มเลือดอุดตันในอวัยวะต่างๆ
– ปวดหู หรือมีเสียงในหู
– ปวดท้อง ท้องเสีย กินอาหารได้น้อยลง
– ชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
– ไม่ได้กลิ่น รับรสได้ไม่ดี
– ผื่นตามตัว ผมร่วง
– รอบประจำเดือนมาไม่ปกติ

การดูแลตนเองเมื่อเป็นลองโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ป่วยลองโควิด-19 ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของตนเองอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด เน้นอาหารย่อยง่าย เนื่องจากอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร และหากมีอาการเบื่ออาหาร ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆ มื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตลอดวัน ไม่ให้ร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย

รวมทั้งควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง ถั่วต่างๆ เต้าหู้ และบริโภคอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ได้แก่ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โดยควรเลือกชนิดที่มีน้ำตาลน้อย กินร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม เป็นต้น เพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์สุขภาพ และยังช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย.