ชุมชนบ้านโป่งศรีนครจ.เชียงราย เป็นชุมชนดีเด่นระดับชาติหมู่บ้านปลอดขยะ “Zero Waste” ด้วยตัวเอง

by ThaiQuote, 28 เมษายน 2565

กว่าที่ชุมชนบ้านโป่งศรีนคร ต.โรงช้าง อ.ป่าแดด จ.เชียงราย จะยกระดับให้เป็นชุมชนดีเด่นระดับชาติ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดป้าย “ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste” ด้วยตัวเอง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ย่อมการันตีได้ว่า การจัดการขยะของหมู่บ้านแห่งนี้ย่อมไม่ธรรมดา

 

 

เบื้องหลังความสำเร็จ ชุมชนบ้านโป่งศรีนครเคยล้มเหลว แตกแยก ขาดความสามัคคี คุณภาพชีวิตตกต่ำจากปัญหาหนี้สิน และการพนัน สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ไร่นาเต็มไปด้วยยาฆ่าแมลง จนพืชผักพื้นบ้าน หรือสัตว์น้ำพื้นถิ่นตามธรรมชาติ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด เกือบจะสูญพันธุ์

แต่แล้วการระบาดของโรคไข้เลือดออกกลับสร้างจุดพลิกผันให้กับชุมชนแห่งนี้ เมื่อสมาชิกในหมู่บ้านหันหน้ามาสามัคคีกันอีกครั้ง โดยร่วมกันจัดการขยะซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นต้นตอของโรคระบาด

ตามคำบอกเล่าจาก กำนันมานพ ชัยบัวคำ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste บ้านโป่งศรีนคร เมื่อ10 กว่าปีก่อนโรคไข้เลือดออกระบาดหนัก คนในชุมชนติดเชื้อไข้เลือดออกสูงอันดับหนึ่งของจังหวัด เนื่องจากมีกองขยะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ด้วยความกลัวตายจากโรค ชาวบ้านจึงเริ่มรวมตัวกันคัดแยกขยะ ไม่นานโรคไข้เลือดออกก็เริ่มลดลง คนในชุมชนจึงตาสว่าง เพราะได้เห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของการคัดแยกขยะเหลือศูนย์

กำนันมานพ เล่าต่อว่า การคัดแยกขยะของชุมชนแบ่งออกเป็น 4 อย่าง คร่าว ๆ คือ นำขยะไปกำจัดโดยเทศบาล รีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ การจัดการขยะอินทรีย์ และการคัดแยกขยะอันตราย โดยทุกครัวเรือนรู้จักการคัดแยกขยะและแปรรูปขยะให้มีค่า เช่น ใช้เข่งสานด้วยไม้ไผ่มาทำเป็นถังคัดแยกขยะประจำชุมชนที่ผลิตขึ้นเองจากกลุ่มอาชีพจักรสาน หรือนำเศษวัสดุเหลือใช้จากเศษผ้ามาทำเป็นเปลนอนจำหน่าย รวมถึงแปรรูปพลาสติกห่อขนมมาทำไซดักปลาไหล ไซดักกุ้ง

นอกจากนั้น ยังแปรรูปขยะมาเป็นของที่ระลึก หรือประดิษฐ์เป็นของใช้ และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เป็นต้น ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและช่วยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

 

 

จุดเปลี่ยนอีกประการที่ทำให้คนชุมชนบ้านโป่งศรีนครมีการคัดแยกขยะอย่างจริงจังก็คือ การนำขยะอินทรีย์ที่มีจำนวนมากไปทำปุ๋ยชีวภาพ โดยในช่วงแรก ๆ มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้บริเวณหน้าบ้านตัวเอง ต่อมาเกิดเป็นกระแสบริโภคอาหารปลอดภัยขึ้น ชาวบ้านจึงเริ่มตื่นตัวจากคุณค่าของพืชผักปลอดสารพิษที่มีผลดีต่อสุขภาพ และยังมีรายได้เสริมจากการแปรรูปวัสดุจากธรรมชาติที่ปลอดสารเคมีเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP อีกด้วย

จากผักสวนครัวรั้วกินได้ เริ่มขยายไปสู่เรือกสวนไร่นา เกิดกิจกรรมดี ๆ ตามมามากมาย กระทั่งเห็นร่วมกันว่าบ้านโป่งศรีนครควรต้องยกระดับเป็น "ชุมชนที่ผลิตอาหารปลอดภัย" จึงเป็นที่มาของโครงการ “กบคืนนา ปลาคืนทุ่ง กุ้งคืนหนอง” โดยนาทุกผืนในชุมชนจะไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เพราะต้องการฟื้นคืนชีวิต กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชน

ปัจจุบันทั้งพืช ผัก หรือสัตว์ในท้องถิ่นต่างได้รับการดูแลรักษาด้วยวิถีธรรมชาติ ดังนั้นอาหารที่ผลิตจากชุมชนบ้านโป่งศรีนคร จึงเป็น “อาหารชีวภาพ” โดยยึดหลักการพึ่งพาตนเองสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

 

 

ความสำเร็จเล็ก ๆ จากการจัดการขยะ การปลูกผักเลี้ยงสัตว์ด้วยวิถีธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี ทำให้มีบุคคลและองค์กรภายนอกเริ่มเข้ามาดูงานในชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมาจึงมีการรวมตัวกันทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ “โฮมสเตย์” โดยปัจจุบันมี 45 หลังคาเรือน ไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ท่ามกลางบรรยากาศท้องไร่ท้องนาที่กลมกลืนกับธรรมชาติ

 

 

จากวิกฤตขยะนำไปสู่การแปรรูปสร้างรายได้ ผนวกกับการปรับสมดุลวิถีชีวิตด้วยการดำเนินรอยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการยึดหลักพึ่งตนเอง จากชุมชนที่มีคุณภาพสังคมย่ำแย่ ทว่าปัจจุบันบ้านโป่งศรีนครกลับขึ้นชื่อถึง 3 ด้าน คือ การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยึดการบริโภคอาหารปลอดภัย การจัดการขยะเหลือศูนย์ และแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ

ในแต่ละวันชุมชนบ้านโป่งศรีนครให้การต้อนรับคณะทัศนศึกษาที่เดินทางไกลมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย และสามารถเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” คณะละ 4,000 บาท ซึ่งนำมาเติมเงินในกระเป๋าแก่คนทำงานให้ชุมชนและหนุนเสริมการทำกิจกรรมเพื่อสังคม อาทิ ค่าวิทยากร ค่าสถานที่ และค่าบำรุงฐานเรียนรู้ แม้จะเป็นเงินไม่มากนัก แต่ถือเป็นกำลังใจสำหรับคนทำงานเพื่อส่วนรวมต่อไป

การคัดแยกขยะที่ชุบชีวิตใหม่ให้กับชุมชนบ้านโป่งศรีนครเป็นสังคมสีเขียวนี่เอง จึงเป็นที่มาของรางวัลหมู่บ้านปลอดขยะ (Zero Waste) ดีเด่นระดับประเทศ จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม.