แพขยะยักษ์ลอยกลางทะเลแปซิฟิก เป็นระบบนิเวศใหม่ของสิ่งมีชีวิตในทะเล

by ThaiQuote, 3 พฤษภาคม 2565

แพขยะยักษ์แห่งแปซิฟิก Great Pacific Garbage Patch ซึ่งมีขยะมหาศาลลอยตัวกลางทะเล กำลังกลายมาเป็นระบบนิเวศ ที่เป็นแหล่งอาศัยแห่งใหม่ของสิ่งมีชีวิตในทะเล

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีงานวิจัยเปิดเผยว่า แพขยะยักษ์แห่งแปซิฟิก Great Pacific Garbage Patch ซึ่งมีขยะมหาศาลลอยตัวกลางทะเล กำลังกลายมาเป็นระบบนิเวศ ที่เป็นแหล่งอาศัยแห่งใหม่ของสิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งนักสำรวจกลับมีความกังวลว่าหากมีการกำจัดออกไป อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศดังกล่าว

แพขยะขนาดใหญ่ของแปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) คือ 1 ใน 5 แพขยะในมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก แพขยะดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวของขยะพลาสติกจำนวนมาก ลอยตัวอยู่ภายในวงวนใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ (North Pacific Gyre) กินพื้นที่มากกว่า 610,000 ตารางไมล์ระหว่างแคลิฟอร์เนียและฮาวายมีขยะมากองอยู่ 79,000 เมตริกตัน ประกอบไปด้วยขยะหลากหลายชนิดทั้งตะขอ ตาข่าย ขวดน้ำ ถุงพลาสติก ไมโครพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ

จากการประมาณของนักสำรวจพบว่า มีกว่า 80% ของขยะในแพนั้นมาจากบนบก ส่วนอีก 20% มาจากเรือที่แล่นไปมาในมหาสุมทร กระแสน้ำจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี ที่จะพัดเอาขยะเหล่านี้จากชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือ และใช้เวลา 1 ปีจากชายฝั่งตะวันออกของเอเชีย

จากการประเมินของนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ภายในแพขยะแปซิฟิก มีเศษพลาสติกประมาณ 80,000 ตัน หรือมีน้ำหนักเทียบเท่าเครื่องบินเจ็ท 500 ลำ ในใจกลางของแพขยะมีความหนาแน่นของขยะสูงสุด ซึ่งถ้าหากนำขยะรอบนอกมาคำนวณ ขยะอาจจะมีน้ำหนักมากถึง 100,000 ตันเลยทีเดียว หรือมีชิ้นส่วนพลาสติกมากกว่า 1.8 ล้านล้านชิ้นลอยอยู่ในน้ำ

ปีที่แล้ว (2021) ที่ผ่านมา ได้มีเรื่องที่น่ากังวล โดยนักวิจัยรายงานในวารสาร Nature Communications ว่า ได้เจอสิ่งมีชีวิตในแพขยะนี้ที่กำลังขยายพันธุ์อยู่ มันมีทั้งสิ่งมีชีวิตจากใต้น้ำและชายฝั่ง เช่น ดอกไม้ทะเล (Anemones), ไฮดรอยด์ (Hydroid), แอมฟิพอด (amphipod) และอีกหลายสายพันธุ์ รวมทั้งสิ้นมากกว่า 40 ชนิด

ในอดีตสัตว์และพืชเหล่านี้จะอาศัยและเกาะตามขอนไม้ หรือสาหร่าย แต่ตอนนี้มันเกาะบนขยะพลาสติกแล้ว ซึ่งขยะเหล่านี้สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตเดินทางไปพร้อมกับมันได้ ไม่เหมือนกับพวกขอนไม้หรือสาหร่ายที่แตกตัวได้ง่าย แต่สิ่งที่พวกเขาแปลกใจคือ แม้บนแพขยะในแหล่งน้ำเปิดนี้ พวกมันยังสามารถหาอาหารมาเลี้ยงตัวเองได้ เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาคิดว่าสิ่งมีชีวิตชายฝั่งจะไม่สามารถอยู่ได้นานถ้าที่ตรงนั้นไม่มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

 

 

นักสำรวจซึ่งเป็นผู้เขียนงานวิจัยได้รายงานว่า“การค้นพบนี้เผยให้เห็นว่า เศษซากขยะของมนุษย์ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยพลาสติกที่ลอยน้ำได้ จะลอยไปเป็นแพที่มีอายุยืนยาว เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยได้ และเกินความคาดหมายตรงที่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ชายฝั่งในทะเลอยู่รอดได้”

นักวิจัยเรียกพื้นที่นี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ แต่พวกเขาก็ยังมีคำถามว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะอาศัยอยู่ต่ออย่างไร แต่สิ่งที่รู้แน่ ๆ คือ ถ้ามีใครมาถึงที่นี่ ระบบนิเวศบนแพนี้อาจถูกรบกวนได้อย่างง่ายดาย

 

 

และที่รู้อีกอย่างคือ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจเกาะขยะพลาสติกและลอยไปยังชายฝั่งต่าง ๆ รวมถึงชายฝั่งที่เปราะบางและได้รับการคุ้มครอง อาจส่งผลให้เกิดการต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตรงนั้นแล้วก็เป็นได้

ล่าสุด Rebecca Helm นักวิจัยจาก University of North Carolina ได้เผยการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศบนแพขยะดังกล่าว โดยแสดงให้เห็นภาพของมังกรทะเลสีน้ำเงิน (Blue Sea Dragon) และแมงกะพรุนไฟ

โดยก่อนหน้านี้ มีความพยายามที่จะกำจัดขยะจากแพขยะใหญ่แปซิฟิกออกไป แต่ Helm ก็ชี้ว่า ด้วยจำนวนปลาและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในแพขยะนี้ ทำให้การเก็บขยะพื้นที่ออกไปอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไหร่ โดยกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแพขยะดังกล่าว แต่เธอเผยว่า สิ่งที่ควรโฟกัสคือ การหยุดมลพิษพลาสติกจากแหล่งต้นทาง เพื่อไม่ทำให้แพขยะใหญ่ไปกว่านี้

อาจจะเป็นไปได้ว่าอนาคตอันใกล้นี้ แพขยะใหญ่ของโลกในทะเล อาจกลายมาเป็นคล้ายเกาะที่บ้านของสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นเอกลักษณ์นี้.