อยากสุขภาพดี หุ่นดี 7 วิธีง่าย ๆ ในการลดไขมันส่วนเกิน

by ThaiQuote, 3 สิงหาคม 2565

ไขมันส่วนเกินที่สะสมในร่างกายเกิดจากการได้รับพลังงานและสารอาหารบางอย่างเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน โดยเฉพาะสารอาหารกลุ่มไขมันและคาร์โบไฮเดรต แม้ว่าสารอาหารเหล่านี้จะมีความสำคัญ แต่การได้รับมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้

 

ไขมัน เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพและเป็นแหล่งสะสมพลังงาน ซึ่งพลังงานที่สะสมในร่างกายร้อยละ 70 คือ ไขมันที่อยู่ในเนื้อเยื่อไขมัน เนื่องจากไขมันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผนังเซลล์ ช่วยการดูดซึมของวิตามิน A D E และ K และยังให้พลังงานและความอบอุ่นต่อร่างกาย

ไขมันพบในอาหารทั้งที่มาจากพืชและสัตว์ และให้พลังงานเป็น 2 เท่าของพลังงานที่ มาจากคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน (ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่)

เรื่องควรรู้ที่เกี่ยวข้องกับไขมัน

• ไขมัน ไม่ใช่สารอาหารที่ให้ข้อเสียอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด แต่ไขมัน คือ ส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายของเราชุ่มชื้น มีอุณหภูมิอบอุ่น ช่วยห่อหุ้มอวัยวะ และกระดูกที่อยู่ภายใน
• คุณควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ให้ไขมันไม่ดี และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอครบถ้วน
• หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า การอดอาหาร คือ การทำให้ไขมันในร่างกายหายไป แต่ความจริงแล้วไขมันในร่างกายเพียงแค่หดเล็กลงเท่านั้น ไม่ได้สลายหายไปจากร่างกายแต่อย่างใด
• ไขมันไม่ได้สะสมอยู่ตามผิวหนังเท่านั้น แต่ยังละลายอยู่ในกระแสเลือด และภายในช่องท้องด้วย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่คนผอมก็สามารถมีไขมันในเลือดสูงได้ ไม่เกี่ยวกับรูปร่างอ้วน หรือผอมแต่อย่างใด

ผลกระทบของไขมันส่วนเกินต่อสุขภาพมีทั้งหมด 3 ด้านประกอบด้วย

1. ไขมันส่วนเกินในหลอดเลือด เมื่อกินอาหารไขมันสูงเป็นประจำ ไขมันชนิดนี้จะเข้าไปสะสมภายในผนังหลอดเลือด เมื่อเวลาผ่านไปไขมันจะกลายเป็นคราบตระกรันหรือพลัค (Plaque) ซึ่งคราบนี้จะยึดเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบหรืออุดตัน หลอดเลือดอักเสบ และเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) โดยภาวะหลอดเลือดแข็งจะนำไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

2. ไขมันส่วนเกินใต้ชั้นผิวหนัง ไขมันส่วนเกินใต้ชั้นผิวหนัง (Subcutaneous Fat) เป็นตัวการที่ทำให้หน้าท้อง ต้นขา ต้นแขน แก้ม คอ และร่างกายส่วนอื่น ๆ มีสัดส่วนที่ใหญ่ขึ้น ไขมันชนิดนี้จะสะสมอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนังก่อนถึงชั้นกล้ามเนื้อ ยิ่งไขมันชนิดนี้มาก สัดส่วนก็จะขยายมากขึ้นไปด้วย

3. ไขมันส่วนเกินในช่องท้อง ปริมาณไขมันส่วนเกินในช่องท้องที่มากเกินไปเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคที่เรื้อรังและร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคความจำเสื่อม หรือโรคมะเร็ง ซึ่งโรคที่ได้กล่าวมานี้เป็นเพียงการเจ็บป่วยส่วนหนึ่งที่เป็นผลมาจากการมีไขมันสะสมภายในช่องท้องในปริมาณที่มากจนเกินไป

วิธีง่ายๆในการลดไขมัน

1) ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอดน้ำมันลอย เช่น ปลาท่องโก๋ ไก่ทอด กล้วยทอด
2) ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิ ขนมหวานที่มีกะทิ
3) การผัดอาหารควรใช้น้ำมันแต่น้อย
4) ควรมีการจำกัดตัวเองในการบริโภคอาหารประเภททอดและกะทิ โดยให้เลือกทานได้วันละ 1 อย่างเท่านั้น
5) ถ้ารับประทานอาหารที่มีไขมันสูงในมื้อเช้าและมื้อกลางวันแล้ว ในมื้อเย็นต้องเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น แกงจืด แกงส้ม ต้มยำ อาหารนึ่ง
6) กินเนื้อสัตว์ที่มีเนื้อล้วนแยกเอาส่วนที่เป็นไขมันและหนังออก
7) กินอาหารประเภท ต้ม ต้มยำ ยำ นึ่ง ย่าง อบ

ที่สำคัญไปกว่านั้นอาหารจำพวกน้ำตาล เมื่อกินเข้าไปจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ใช้ในร่างกาย และถ้ามากเกินไปจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมัน.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:

“บิ๊กตู่” พร้อมเข้าเป็นสมาชิกพลังประชารัฐ ร่วมการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วน “บิ๊กป้อม” ยันฐานเสียงยังแน่น ไม่กลัวตัดสิทธินายกฯ 8 ปี
https://www.thaiquote.org/content/247732

“เปลือกทุเรียน” พัฒนาเพิ่มมูลค่าได้หลากหลาย เป็นบรรจุภัณฑ์ กระดาษ แผ่นเทคโนโลยี และอาหารแปรรูป
https://www.thaiquote.org/content/247729

เกษตรกรญี่ปุ่น นำมะเขือ ตะไคร้ โหระพาไปปลูกในดินญี่ปุ่น และจัดขายในประเทศ
https://www.thaiquote.org/content/247720