ม.มหิดล สร้างชุมชนแข็งแกร่ง ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายใต้โครงการ “วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์”

by วันทนา อรรถสถาวร , 25 กันยายน 2565

“ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีทรงมีพระปณิธานว่า -สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า-”

 

 

โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 ลักษณะการดำเนินงาน เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักสุขภาพหนึ่งเดียว ด้วยการเข้าจัดการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดจนการดำเนินงานอย่างทั่วถึงในทุกท้องถิ่น ส่งผลให้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าค่อยๆลดลง จากทั้งในสัตว์และคน ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2562 ถึงเดือนพฤศจิกายน พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพียง 3 ราย จากที่เคยพบถึง 18 ราย ในปี พ.ศ.2561

 

 

ทั้งนี้มีเป้าประสงค์ให้ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าสอดคล้องกับแนวทาง ขององค์กรอนามัยโลก ที่มีพันธสัญญาให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดจากโลกภายในปี พ.ศ. 2573

 

 

ทางด้านมหาวิทยาลัยมหิดลก็มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน โดยการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นภารกิจที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ เพื่อกำจัดให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักของ "วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์" (MUNA One Health Center) ในฐานะเป็นส่วนงานหนึ่งของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2556

นายสัตวแพทย์เอกสิทธิ์ ติยานันต์ ผู้รับผิดชอบโครงการ “วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์” เล่าวว่าความคืบหน้าของ "โครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า" ที่ วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 9 ปีแล้วที่ได้ให้บริการทำหมันสุนัขและแมวแก่ชุมชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ รวมแล้วกว่า 900 ตัว

 

 

อาจารย์เอกสิทธิ์ เล่าต่อว่า โครงการออกแบบให้คล้ายกับ "30 บาทรักษาทุกโรค" ของคน เพื่อให้เจ้าของสุนัขและแมวที่อยู่ในชุมชนสามารถเข้าถึงได้ ด้วยการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวส่วนหนึ่ง และให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงรับผิดชอบในส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งได้มี "จิตอาสา" ที่เป็นคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางมาร่วมผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวให้กับประชาชนในชุมชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ทุกปี

นายสัตวแพทย์เอกสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า จากการที่ วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์ ได้ดำเนิน "โครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า" อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการหยุดดำเนินโครงการฯ เพียงครั้งเดียวในปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยวิกฤติ COVID-19 โครงการฯ ได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เป็น "พื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า" และยังทำให้นักศึกษาของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติจริง รวมทั้งได้ทำงานจิตอาสเพื่อชุมชนไปด้วย

 

 

สาเหตุที่นำ"โครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า"มาทำในแนวคิด “วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์” ก็เพราะวิเคราะห์แล้วว่าจากกำลังคน กำลังเงิน เราสามารถทำโครงการนี้ได้ จึงได้ขับเคลื่อน นอกจากนี้เรายังมองว่า โรคพิษสุนัขบ้า หากเป็นขึ้นมาโอกาสการเสียชีวิตแทบ 100% เพราะไม่มียารักษา ทั้งในคนและในสัตว์ และอบต.ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ต้องขับเคลื่อนนั้นเป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว และวิทยาเขตก็มาตั้งอยู่ในชุมชน และทางชุมชนก็มีเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถร่วมกับเราในการจัดการ จึงได้คุยกับอบต. ปศุสัตว์ ทางด้านความชุกของโรคนั้น ในคนไม่มี แต่ในสัตว์ก็จะมีแมวและสุนัขจรจำนวนหนึ่ง

นายสัตวแพทย์เอกสิทธิ์บอกว่ากิจกรรมหลักที่ช่วยให้โอกาสในการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าลดน้อยลงคือ การทำหมันสุนัขและแมวในชุมชน เพื่อลดจำนวนประชากรลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ไม่มีเจ้าของ วิธีการของเราคือมุ่งทำหมันในสุนัข แมวที่มีเจ้าของ เพื่อให้เขาลดโอกาสไปผสมพันธุ์กับสุนัขหรือแมวที่จร เพราะกลุ่มจรจะอยู่ในชุมชน ในไร่อ้อย ไม่มีคนที่จะนำเขามาให้เราทำหมัน แต่สุนัขแมวที่มีเจ้าของ และกึ่งจร สามารถให้คนจับได้ และสามารถทำหมันได้

 

 

อุปสรรคในการทำโครงการ ระยะแรกขาดการรับรู้ในชุมชน จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงของอบต. และปศุสัตว์ของตำบล ช่วยกระจายข่าว มีการนัดหมายการทำหมัน แต่เมื่อเรามีความต่อเนื่อง มีกำหนดการที่ชัดเจนว่าทุก 2 เดือน ถึงเวลาคนในชุมชนก็พาแมว สุนัขมา จึงก่อตัวเป็นระบบอย่างหลวม ๆ ปีหน้าจะกำหนดเป็นทุกวันเสาร์แรกของเดือน

“การทำหมันสุนัขและแมวเป็นการลดปัญหาเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า เพราะการทำหมันจะเป็นการลดความก้าวร้าวของสัตว์ลง ไม่ค่อยมีกัดทำร้ายกัน และกัดคน จำนวนประชากรสัตว์จรลดลง ทำให้โอกาสในการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าน้อยลง ” นายสัตวแพทย์เอกสิทธิ์กล่าว

 

 

นอกจากนี้ จากการที่ วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์ ได้ทุ่มเททำงานเพื่อร่วมกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากชุมชนอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญที่ทำให้ทางวิทยาเขตสามารถดำเนินการได้สำเร็จ มีความร่วมมือและได้การยอมรับจากชุมชน อบต.ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหาร ตลอดจนปศุสัตว์ ทำให้เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา "โครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า" วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์ ยังได้รับคัดเลือกให้ร่วมเสนอผลงานในงาน "มหกรรมมหิดลเพื่อสังคม" ประจำปี 2564 (MUSEF 2021: Mahidol University Social Engagement Forum 2021) ซึ่งจัดเป็นปีแรกทางออนไลน์อีกด้วย

 

นายสัตวแพทย์เอกสิทธิ์ ได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของวันเฮลท์ (One Health) หรือ "สุขภาพหนึ่งเดียว" ที่มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเพิกเฉยอาจส่งผลกระทบถึงกัน รวมทั้งอาจกลับกลายเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ตลอดจนผลกระทบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาอีกอย่างใหญ่หลวง.

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ธนาคารชั้นนำด้านการเดินเรือ จับมือบริษัทประกันภัยทางทะเลคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

https://www.thaiquote.org/content/248239

e-scooter ของญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นสำหรับสองที่นั่งทำให้การขนส่งสุนัขเป็นเรื่องง่าย
https://www.thaiquote.org/content/248242

ปตท. หนุนสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ด้วยเงินกว่า 730 ล้านบาทในธุรกิจเปลี่ยนตัวอ่อนแมลงวันให้เป็นอาหารสัตว์
https://www.thaiquote.org/content/248220