โอกาสตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังไปได้ไกล อัตราการเติบโตเกือบ 50% ต่อเนื่องกันมาหลายปี

by วันทนา อรรถสถาวร , 15 ตุลาคม 2565

“แนวโน้มตลาดออร์แกนิกส์ยังไปได้ มีศักยภาพอยู่สูง เพราะผู้บริโภคยังไงก็ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อสุขภาพ”-บุญจิรา ตันเรือง-

 

 

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุยอดการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยในปี 2564 (มกราคม – พฤศจิกายน 2564) มีมูลค่า 1,238.97 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 44.46 ต่อปี สินค้าเกษตรอินทรีย์ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 878.64 ล้านบาท ผลไม้อินทรีย์สดและแช่แข็ง และสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่น ๆ (ทุเรียนสดและแช่แข็ง มังคุดสดและแช่แข็ง มะพร้าวอ่อน น้ำกะทิ และใบชาเขียว) มีมูลค่าอยู่ที่ 360.33 ล้านบาท และตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี จีน และสวิสเซอร์แลนด์ จากตัวเลขการเติบโตดังกล่าวจะเห็นถึงศักยภาพของตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยเป็นอย่างมาก

จากโอกาสเติบโตดังกล่าว Thaiquote จึงนัดสัมภาษณ์คุณบุญจิรา ตันเรือง ผู้จัดการสหกรณ์กรีนเนท จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการส่งออกสินค้าเกษตรมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งเป็นการส่งออกที่เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ

 

คุณบุญจิรา ตันเรือง ผู้จัดการสหกรณ์กรีนเนท จำกัด

คุณบุญจิรา ตันเรือง ผู้จัดการสหกรณ์กรีนเนท จำกัด

 

คุณบุญจิราเล่าให้ฟังว่า สหกรณ์กรีนเนทเริ่มต้นจากคุณวิทูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้ก่อตั้งสหกรณ์กรีนเนท จบด้านการเกษตรพืชไร่ แล้วไปทำปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ออสเตรเลีย ในระหว่างนั้นได้รู้จักกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศมากมาย จึงสนใจหันมาทำธุรกิจส่งออกเกษตรอินทรีย์ที่ขอใบรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศมาตั้งแต่แรก การทำธุรกิจสินค้าออร์แกนิกส์ สหกรณ์ไม่ได้ทำในรูปแบบ contact farm เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากในตอนที่ก่อตั้งสหกรณ์ใหม่ ๆ เกษตรกรยังไม่รู้จักวิธีการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีมาก่อน ขาดความเข้าใจและมั่นใจ

ในระยะแรกการทำงานของสหกรณ์กรีนเนทมีรูปแบบการทำงานเหมือนเอ็นจีโอ คือเข้าไปให้การสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องขั้นตอน มาตรฐานต่าง ๆ โดยช่วยให้เกษตรกรมารวมตัวกัน เพื่อให้การรับรองเป็นกลุ่ม

ในระยะแรก 3-5 ปีแรกของการปรับแปลงมาเป็นเกษตรอินทรีย์ จะได้ผลผลิตไม่มากเท่าที่ควร ทางกรีนเนทก็ให้เงินสนับสนุนในส่วนที่ขาด เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดได้ และสามารถป้อนกำลังการผลิตให้กับสหกรณ์กรีนเนทได้

 

ในระยะแรกของการทำเกษตรอินทรีย์มีปัญหาทุกอย่าง จึงจำเป็นต้องขายแนวคิดเพื่อหาเกษตรกรที่กล้าลอง ในระยะแรกไม่ได้ผลผลิตหรือได้ผลผลิตที่น้อยลง ทางกรีนเนทจะให้ความช่วยเหลือโดยไปของบการส่งเสริมด้านเกษตรออร์แกนิกส์จากต่างประเทศเพื่อชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดหายไปของเกษตรกร ในระยะแรก ๆ มีการเขียนขอทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลองผิดลองถูกเพื่อหาเทคนิคในการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ จนกว่าจะได้ผลผลิตที่ดี และทำให้เพื่อนบ้านเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์อยู่รอดได้จริง

คุณบุญจิราเล่าต่อว่า ผลผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ของสหกรณ์กรีนเน็ตในระยะแรกส่วนใหญ่เป็นข้าว มีพื้นที่ปลูกในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหตุผลที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเหมาะสมในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เพราะว่าวิถีการปลูกข้าวเป็นแบบนาปี คือ 1 ปี ปลูกแค่ครั้งเดียว ทำให้มีระยะเวลาในการพักดิน ฟื้นฟูดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานสำคัญของการปลูกแบบออร์แกนิกส์

นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สินจากการเพาะปลูกที่ต้องอาศัยสารเคมี ดังนั้นการหันมาปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ต้องสร้างความมั่นใจว่าสามารถจะปลดหนี้สินได้

จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการย้ายกระบวนการผลิตมาเป็นเกษตรอินทรีย์ต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 5 ปี ถึงจะเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

 

 

เพราะในระยะแรกแปลงดินยังมีส่วนประกอบของสารเคมีอยู่มาก จึงจำเป็นต้องพักหน้าดิน ปรับปรุงดิน ในระยะแรกนอกเหนือจากการช่วยเหลือด้านความรู้แล้วยังต้องช่วยเหลือด้านรายได้ เพื่อให้เขาได้มีโอกาสจ่ายหนี้ การช่วยเหลือจึงมีหลายรูปแบบและรอบด้าน เพื่อให้เกษตรกรสามารถประคองตัวได้ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากลำบากในช่วงแรก ๆ ของการทำออร์แกนิกส์ แต่เนื่องจากช่วงนั้นความต้องการสินค้าออร์แกนิกส์ในต่างประเทศมีมาก แต่หาแหล่งผลิตน้อย ดังนั้นองค์กรเหล่านั้นจึงให้การสนับสนุนเต็มที่เพื่อให้แปลงเกษตรอินทรีย์ได้อยู่รอด ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี กว่าจะเห็นเป็นเนื้อเป็นหนัง มีปริมาณผลผลิตที่มากเพียงพอต่อการส่งออกในปริมาณมาก ๆ ซึ่งกว่าที่ผลผลิตจะคุ้มทุนให้กับสหกรณ์ฯได้ต้องใช้เวลาประมาณ 15-16 ปี

 

ในระยะแรก ๆ ทางสหกรณ์ส่งเสริมให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมักเอง เพื่อเป็นการลดต้นทุนด้านการผลิต แต่ในปัจจุบันนี้เกษตรกรไม่ทำแล้ว เพราะต่างก็อายุมาก ทำไม่ไหว ส่วนรุ่นลูกหลานก็ไม่อยากทำ เพราะเป็นงานที่เหนื่อยและต้องใช้แรง ทางสหกรณ์ฯก็ต้องให้การสนับสนุนโดยหาแหล่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อป้อนให้กับชาวนาเหล่านั้น นอกจากนี้ก็ส่งเสริมให้ความรู้ในการปลูกพืชผลหรือผักชนิดอื่นเมื่ออยู่ในระหว่างการพักแปลง ทั้งยังเป็นการให้ผลผลิต และให้ประโยชน์ด้านความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดิน

อุปสรรคของการเติบโตในตลาดอินทรีย์

ปัญหาที่สำคัญในขณะนี้คือเกษตรกรแก่ตัวลง ต้องหาเครื่องทุ่นแรงและเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เช่น เครื่องจักรสำหรับหว่าน ไถ เก็บเกี่ยว พวกนี้เครื่องจักรราคาแพงทั้งนั้น ปัจจุบันใช้วิธีการเช่าเอา แต่ถ้ามีเครื่องจักรราคาถูกที่ครัวเรือนสามารถเข้าถึงได้ ก็จะช่วยได้มาก

สถานการณ์ตลาดส่งออก

คุณบุญจิราบอกว่า สถานการณ์การตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์จะเป็นลูกคลื่นแบบมีขึ้น มีลง โดยเฉพาะใน 2 ปีนี้ตลาดตกลงมามาก ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจที่ลดลง ยอดการสั่งซื้อน้อยลง ทั่วโลกมีการจับจ่ายใช้สอยที่น้อยลง ประกอบกับข้าวออร์แกนิกส์เป็นข้าวที่ราคาสูงกว่าข้างปกติทั่วไป ขั้นต่ำอย่างน้อย 10% แต่ก็มีบางแบรนด์ที่สามารถทำราคาได้ถึง 2 เท่าก็มีขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การตลาดของแต่ละแบรนด์ แต่กระแสหลักเห็นได้ว่าปีนี้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกตกหมด

 

 

ส่วนคาดการณ์สถานกการณ์ในอนาคตเป็นอย่างไรนั้น คุณบุญจิราบอกว่า ถ้าหากสงครามรัสเซีย ยูเครนยังเป็นอย่างนี้อยู่ สถานการณ์เศรษฐกิจก็ยังซบเซาไปอีกนาน ผลจากสงครามรัสเซีย ยูเครนทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น ส่งผลกระทบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งล้วนแต่ใช้น้ำมันเป็นพลังงานในการขับเคลื่อน ส่งผลให้ต้องประหยัดเรื่องการกิน การเที่ยว ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าที่ราคาถูกลง บริโภคสินค้าภายในประเทศ ลดการบริโภคสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ปัจจุบันนี้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์มีการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้เนื่องจากมีจำนวนรายของการผลิตเกษตรอินทรีย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นบริษัททำข้าวเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยขณะนี้มีเป็น 10 ราย เมื่อมีมากขึ้นก็มีการตัดราคากันเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ทิศทางออร์แกนิกส์

คุณบุญจิราบอกว่าในอนาคตสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ผูกไว้แต่เฉพาะข้าวเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันนี้ทางสหกรณ์กรีนเนทก็หันไปส่งเสริมเกษตรกรปลูกมะพร้าวที่ประจวบคีรีขันต์หันมาปลูกมะพร้าวอินทรีย์เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำกะทิอินทรีย์กระป๋อง มีสินค้าออร์แกนิกส์อื่น ๆ ที่แปรรูปมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก SMEsรายใหม่ ที่มีขนาดเล็ก แต่มีการปรับตัวสูงหันมาทำธุรกิจในประเภทนี้มากขึ้น เช่น พริกแกง ส่งผลให้มีความหลากหลายขึ้น

 

 

“แนวโน้มตลาดออร์แกนิกส์ยังไปได้ มีศักยภาพอยู่สูง เพราะผู้บริโภคยังไงก็ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อสุขภาพ”

สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่กำลังได้รับความนิยม ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องปรุง ส่วนประกอบอาหาร เช่นเครื่องพริกแกง ซึ่งจำเป็นต้องหาแหล่งการผลิตวัตถุดิบด้านออร์แกนิกส์หลายราย นี่เป็นอุปสรรคอันดับแรกในการทำเพื่อการส่งออก

นอกจากนี้จำนวนความต้องการของสินค้าแปรรูปออร์แกนิกส์ไม่ได้ปริมาณการผลิตที่มากนัก จึงไม่สามารถเข้าว่าจ้างโรงงานขนาดใหญ่ได้ ก็ต้องจัดหาโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ต้องทำให้โรงงานเหล่านี้ผ่านมาตรฐานการผลิต ซึ่งมีหลายตัว ตั้งแต่ GMP, HACCP ตลอดจนมาตรฐานออร์แกนิกส์ ตรงนี้ขนาดของการผลิตในการเริ่มต้นค่อนข้างยาก ไปขัดแย้งขนาดของความต้องการเพื่อการส่งออก ถ้าหากผ่านอุปสรรคนี้ได้ก็จะไปได้เรื่อย ๆ คือต้องไปหาลูกค้าที่ขนาดปริมาณความต้องการไม่ใหญ่มาก ไม่เล็กมากจนโรงงานไม่รับการผลิต ตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าออร์แกนิกส์ไทย ถ้าหากผ่านปัญหาตรงนี้ไปได้ ตลาดออร์แกนิกส์เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง เพราะอย่างไรก็ตามอาหารยังคงเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน และอาหารที่ปลอดภัย เป็นหัวใจสำคัญของการบริโภคในยุคหน้าอย่างแน่นอน.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

พายุโซนร้อน “เซินกา” ขึ้นฝั่งเวียดนามวันพรุ่งนี้ ทั่วไทยฝนตกมากขึ้น 12 จังหวัดอีสานหนักสุด
https://www.thaiquote.org/content/248447

เพิ่มมูลค่า ‘ผ้าทอทุ่งกุลาร้องไห้’ ด้วยเทคนิคการย้อมที่ติดสีไว ให้กลิ่นหอมดอกลำดวน
https://www.thaiquote.org/content/248442

โอกาสและความท้าทาย ในการผลักดันเกษตรอินทรีย์ไทยจากชุมชนสู่อุตสาหกรรมโลก
https://www.thaiquote.org/content/248385