โอกาสและความท้าทาย ในการผลักดันเกษตรอินทรีย์ไทยจากชุมชนสู่อุตสาหกรรมโลก

by วันทนา อรรถสถาวร , 8 ตุลาคม 2565

ท่ามกลางการใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หากต้องการเป็นเกษตรอินทรีย์ป้อนตลาดโลก ไทยจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์เกษตรอินทรีย์อุตสาหกรรม แล้วเส้นทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทยเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าติดตาม

 

ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ หรือที่รู้จักในชื่อของดร.จ๋อง หนึ่งในบุคคลที่คลุกคลีในวงการเกษตรอินทรีย์ไทย เล่าให้ Thaiquote ฟังว่าตนเองเป็นลูกเกษตรกร ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ต้น แต่มาสนใจเกษตรอินทรีย์ตอนเป็นผู้บริโภค นอกจากนี้พื้นฐานการเรียนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกษตร เพราะจบจากรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ แล้วปริญญาโทเอ็มบีเอจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อด้วยปริญญาเอกจาก AIT ด้านบริหารธุรกิจ หันมาสนใจด้านการเกษตรอย่างจริงจังคือต้องการมีที่ดินเพื่อการเพาะปลูกไว้เก็บกินในยามเกษียณ จึงหาที่ดินแปลงหนึ่งประมาณ 10 ไร่มาทำเกษตรของตนเอง และเมื่อคิดว่าต้องการปลูกเพื่อกิน จึงสนใจที่จะปลูกเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

 

เส้นทางสู่เกษตรอินทรีย์ชุมชน

เมื่อเข้ามาสู่วงจรด้านการผลิตเพื่อกินแล้ว มีผลผลิตส่วนเกิน จึงคิดชวนเกษตรกรในพื้นที่มาร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อร่วมกันขายสินค้าการเกษตรที่เป็นเกษตรอินทรีย์ ในขณะนั้นชาวบ้านยังมีความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ไม่มากนัก เราจึงเป็นคนที่ชวนเกษตรกรไปหาความรู้ และทำงานร่วมกับเกษตรกร เพื่อเชื่อมโยงกับตลาด ในขณะนั้นได้รู้รับการประสานงานจากคุณทรรศิน สุขโตซึ่งเป็นผู้อำนวยการทำงานอยู่ในมูลนิธิสัมมาชีพ ชวนไปทำงานในมูลนิธิ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต
ดร.จ๋อง ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แล้ว ได้รับแนวคิดด้านการสร้างสัมมาชีพจากมูลนิธิสัมมาชีพ ซึ่งได้นำแนวทางของ อาจารย์หมอประเวศ วะสี ซึ่งมีบทบาทด้านประชาสังคมมาทำงาน ทำให้ได้รับเครดิตในการเชื่อมโยงงานกับทุกหน่วยงาน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนการเชื่อมโยงภาคธุรกิจ จากดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทำให้การทำงานทั้งในส่วนภาคของเกษตรกร และภาคของการพาณิชย์มีความเชื่อมโยงกัน โดยไปเชื่อมโยงกับเครือไทยเบฟ กลุ่มมิตรผล เป็นต้น

 

คุณทรรศิน ได้ใช้แนวคิดการพัฒนาโดยยึดพื้นที่เป็นที่ตั้ง มีการสอนเกษตรกรทำบัญชีครัวเรือน แล้วสานต่อไปยังการทำกสิกรรม เพื่อหารายได้เข้าสู่ชุมชน ตอนนั้นอาจารย์หมอประเวศให้แนวคิดเรื่องการสร้างสัมมาชีพให้เกิดขึ้นเต็มพื้นที่ กระจายไปทั่วประเทศ คำว่าสัมมาชีพ หมายถึงการประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย จึงต้องพัฒนาจากการทำมาหากินมาเป็นทำมาค้าขาย แต่เนื่องจากเกษตรกรไม่มีความเก่งด้านการค้าขาย ทางมูลนิธิสัมมาชีพจึงได้ออกแบบรูปแบบแนวทางการพัฒนาศักยภาพของชุมชนด้านการประกอบการด้วยโครงการ “หนึ่งตำบลหนึ่งบริษัทสัมมาชีพ” ซึ่งมีเป้าหมายเต็มพื้นที่ 8,000 ตำบลทั่วประเทศ ทางมูลนิธิก็สามารถเข้าไปถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำบัญชีครัวเรือน ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาสินค้า และการทำเครือข่ายแลกเปลี่ยนการค้าการขายได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อมา

ในโครงการ “หนึ่งตำบลหนึ่งบริษัทสัมมาชีพ” เครือไทยเบฟ ร่วมลงพื้นที่ 3 ตำบล จับมือกับทียูเอฟ ลงไปในภาคส่วนของประมงในจังหวัดชุมพร ขณะที่มิตรผลพาลงไปส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่อยู่ใกล้กับโรงน้ำตาล คำถามถือจะสามารถส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร

จากการลงพื้นที่ทำให้เห็นว่าจริตของแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกัน ตลอดจนมีปัญหาที่ต่างกัน บางพื้นที่เขามีการทำการเกษตรที่เข้มแข็ง แต่มีจุดอ่อนด้านการตลาด บางพื้นที่มีพืชแม่พันธุ์ที่ดีสามารถเป็น GI ได้ แต่มีการใช้สารเคมีที่เข้มข้น

 

ดังนั้นจึงเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวบ้าน เพื่อส่งเสริม และแก้ไขปัญหาให้เป็นเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็งขึ้นมา
"ทุกพื้นที่ของการเกษตรอินทรีย์ไม่มีเครือขายทางการตลาด ห่วงโซ่อุปทานไม่ได้เชื่อมต่อกัน ในขณะที่เกษตรที่ใช้สารเคมีมีห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งมากตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ"

“ในระยะแรก ๆ ของการก่อตั้งเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เราเห็นปัญหามากมาย ภาคของการเกษตรบางพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์เข้มแข็ง ในขณะที่บางพื้นที่ทำเกษตรโดยอาศัยสารเคมีมาก แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อส่งเสริมด้านการผลิตแล้ว ไม่มีตลาดมารองรับ จนเราสามารถพูดได้ว่าทุกพื้นที่ของการเกษตรไม่มีเครือขายทางการตลาด ห่วงโซ่อุปทานไม่ได้เชื่อมต่อกัน

ในขณะที่เกษตรที่ใช้สารเคมีมีห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งมากตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในขณะที่เกษตรอินทรีย์ทำโดยขาดชุดความรู้ที่เข้มแข็ง ทำเกษตรแบบเล็ก ๆ พอเพียง ไม่สามารถพัฒนาเป็นเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้าได้”
 

 

เผชิญปัญหามากมาย

ดร.จ๋องเล่าต่อไปว่าในระยะแรกๆ นั้นก็มีเกษตรกร ที่เป็นผู้ประกอบการ ที่ประกอบธุรกิจเกษตรอินทรีย์อยู่บ้างประปราย คือจัดตั้งเป็นบริษัทของตนเอง สร้างแบรนด์ฟาร์มของตัวเอง นำผลิตออกสู่ตลาด แต่ยังไม่สามารถตอบสนองในทางการค้าให้สามารถซัพพลายได้อย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการทั้งด้านปริมาณและคุณภาพการผลิตไม่สามารถควบคุมให้สามารถป้อนตลาดได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงเห็น ปรากฎการณ์ของการเกิดและดับของผู้ประกอบการเกษตรที่พยายามเข้ามาทำการค้าในภาคส่วนนี้

ส่วนของการรับรองมาตรฐานก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของภาคเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายในการออกใบรับรองมาตรฐานสากลที่มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องยังต้องจ่ายค่าต่อมาตรฐานทุกปีแล้ว ยังมีเรื่องของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ปัจจุบันนี้ที่ดินที่ทำเกษตรของไทยมีที่เป็นกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายเพียง ไม่ถึง 60% ที่เหลือเป็นการทำการเกษตรที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังนั้นจึงไม่สามารถขอมาตรฐานได้ ไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐด้วย

จากปัญหาเรื่องการไม่สามารถขอใบรับรองได้ แต่ต้องการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้า จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานรับรอง ทางเครือข่ายฯ จึงได้พัฒนาเรื่องใบรับรองแบบ“ภาคีรับรองโดยชุมชนมีส่วนร่วม หรือ พีจีเอส” ซึ่งเป็นแนวคิดจาก IFOAM ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกที่ได้มารวมตัวกันเพื่อสร้างกลไกการรับรองมาตรฐานหากต้องการค้าขายระหว่างประเทศ IFOAM สามารถเป็นมาตรฐานเพื่อการรับรองได้ แต่ถ้าเป็นเพียงการค้าขายในประเทศจึงได้ออกแบบมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System - PGS เพื่อสามารถใช้กันในประเทศได้ และได้ออกแบบแบรนด์ใหม่ด้านการรับรองว่าเป็น SDGsPGS

โดยมาตรฐานนี้ออกแบบมาจากการเรียนรู้ไปด้วยกันกับชุมชน เกษตรกรแต่ละจังหวัด สามารถแก้ปัญหาเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรียแบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ให้สามารถเชื่อมโยงจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำได้ แต่ต้องตั้งเป็นเครือข่าย ที่เรียกว่า “สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน” แล้วมีชื่อของจังหวัดพ่วงท้าย เพื่อมาเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนของแต่ละจังหวัด โดยจะมอบเครื่องมือมาตรฐาน SDGsPGS ให้ สอนเรื่องวิธีการตรวจแปลง การกลั่นกรองแปลง และการรับรองแปลงได้ ฉะนั้นรูปแบบการพัฒนาเช่นนี้จะทำให้แต่ละจังหวัดสามารถดำเนินการได้โดยให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และสามารถกระจายได้ทั่วประเทศ เพราะเกษตรกรเป็นคนดำเนินการ ทางเครือข่ายไม่สามารถเข้าไปจัดการทุกพื้นที่ได้ การทำเช่นนี้ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งประเทศได้

ดร.จ๋องบอกว่าภายใต้กระบวนการเปลี่ยนแปลงให้เกษตรกรเป็นเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่การผลิตนั้น มีเกษตรกรบางส่วนที่ต้องการเล่นบทบาทเฉพาะในส่วนของการผลิต ไม่ถนัดในบทบาททางการตลาด จึงได้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของ Social Enterprise หรือบริษัทเพื่อสังคม โดยกำหนดนำผลประกอบการ 70% มาพัฒนาต่อ ส่วนอีก 30% นำไปปันผล โดยประกอบการ ทำงานในรูปแบบบัดดี้หรือคู่ขนานไปกับสมาพันธ์ฯจังหวัด โดยให้สมาพันธ์ฯจังหวัดทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิต และพัฒนามาตรฐาน ส่วนบริษัทที่จัดตั้งขึ้นทำหน้าที่ในส่วนของการค้าขาย

นอกจากนี้เมื่อปลายปี 2558 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยขอให้ทางภาคธุรกิจได้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งทางคุณหมอประเวศ วะสีได้เสนอให้มีการจัดตั้งเป็นเครือข่ายประชารัฐขึ้นมา ซึ่งยังคงยึดแนวทางการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง แต่ให้มีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและ ภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมในการขับเคลื่อนเครือข่ายของประเทศ และมีการจัดตั้งในรูปแบบบริษัท แล้วขยายบทบาทเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยบริษัทแรกตั้งที่จังหวัดภูเก็ตตั้งชื่อเป็น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ภูเก็ตวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด แล้วขยายไปในทุกจังหวัด โดยมีเครือข่ายหลักส่วนกลางเป็นบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ประเทศไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งต่อไปหากเป็นไปได้ก็กระจายเป็นบริษัทในระดับอำเภอและตำบลต่อไป
 

 

 เปลี่ยนปัญหาเป็นความท้าทาย

เนื่องจากการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดไม่มีกฎหมายรองรับ จึงไปจัดตั้งเป็นสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ โดยมีหน้าที่คือการส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ต้นน้ำในส่วนของการผลิตต้องเข้มแข็ง การออกใบรับรองก็ต้องเข้มแข็ง และการตลาดก็ต้องเข้มแข็ง
ปัญหาต่อมาที่ทางสมาคมฯเห็นว่าเป็นความท้าทายคือการส่งเสริมให้มีการต่อยอดแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องมีใบรับรอง

แต่ระบบการรับรองของไทยยังไม่เห็นมีหน่วยงานที่ปฏิบัติการรับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นความท้าทายของสมาคมฯที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือวิสาหกิจชุมชนซึ่งมีมากกว่า 1 แสนองค์กรทั่วประเทศก็ยังขาดการบ่มเพาะ หรือสนับสนุนในการประกอบการทางธุรกิจอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากเอสเอ็มอีส่วนหนึ่งที่มีความเข้มแข็งและได้รับการสนับสนุนจาก สสว. นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทางสมาคมฯต้องการผลักดัน ในการส่งเสริม สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรอินทรีย์

ส่วนอีกหนึ่งความท้าทายคือการนำจุลินทรีย์เข้าสู่กระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำปุ๋ย ในประเทศไทยมีคนเก่งเรื่องจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร แต่กลไกด้านกฎหมายและการรับรองยังไปไม่ทัน จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สมาคมฯต้องการทำงานให้เกษตรกรสามารถนำจุลินทรีย์มาส่งเสริมการเกษตรได้อย่างมั่นคง จึงอยากผลักดันให้มีการตั้งสถาบันจุลินทรีย์เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

อีกด้านหนึ่งก็อยากจะนำเรื่องเทคโนโลยีด้านดิจิทัลเข้ามาส่งเสริมกระบวนการเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรอินทรีย์สามารถทำเป็นอุตสาหกรรมให้ได้ ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่คิดว่าเกษตรอินทรีย์ควรอยู่ในรูปแบบของชุมชน แต่ไม่สามารถทำขึ้นมาตอบสนองในระดับอุตสาหกรรมได้ แต่สำหรับตนเองเห็นว่าเป็นความท้าทายที่สามารถทำได้

ดร.จ๋องบอกว่าปัจจุบันนี้เกษตรอินทรีย์ของไทยแบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ ระดับการตอบสนองในชุมชน ซึ่งทำในขนาดเล็กตอบสนองความต้องการในท้องถิ่น ระดับที่สองเป็นการทำเพื่อการค้า พวกนี้จะนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ทำในรูปแบบของบริษัทพาณิชย์ เป็นสตาร์ทอัพที่ต้องการป้อนภาคเอกชนขนาดใหญ่ภายในประเทศ ประเภทที่ 3 เป็นเกษตรอินทรีย์เพื่อการส่งออก พวกนี้ตลาดใหญ่มาก ยกตัวอย่างเช่น ตลาดในอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่ด้านเกษตรอินทรีย์ของโลก เพราะประชากรกว่า 80% เข้าถึงผลผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ กลุ่มที่ 4 คือเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ตัวอย่าง เช่นมีโรงงานทำของเล่นเด็กต้องการยางพาราเกษตรอินทรีย์เพื่อป้อนวัตถุดิบเข้าไปทำของเล่นที่เป็นวัตถุดิบที่มาจากยางอินทรีย์ เป็นต้น หรือเช่น อุตสาหกรรมข้าว ซึ่งในเมืองไทยทำได้เข้มแข็งมาก แต่ในส่วนของผัก ผลไม้ การประมง หรืออุตสาหกรรมอาหารสัตว์อินทรีย์ยังขาดการพัฒนาในขนาดของอุตสาหกรรม จึงเป็นทั้งช่องว่างและโอกาสในอนาคต.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ม.มหิดล สร้างชุมชนแข็งแกร่ง ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายใต้โครงการ “วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์”
https://www.thaiquote.org/content/248255

e-scooter ของญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นสำหรับสองที่นั่งทำให้การขนส่งสุนัขเป็นเรื่องง่าย
https://www.thaiquote.org/content/248242

ปตท. หนุนสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ด้วยเงินกว่า 730 ล้านบาทในธุรกิจเปลี่ยนตัวอ่อนแมลงวันให้เป็นอาหารสัตว์
https://www.thaiquote.org/content/248220