หอการค้าไทยยื่นสมุดปกขาวเสนอวาระเร่งด่วน ‘ปลุกภูมิภาคฟื้นเศรษฐกิจ’

by ThaiQuote, 28 พฤศจิกายน 2565

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สรุปการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 Connect the Dots: Enhancing Thailand Competitiveness และมอบสมุดปกขาวเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

 

 

คณะกรรมการหอการค้าไทย วาระประจำปี พ.ศ.2564-2565 ได้กำหนดนโยบายดำเนินงาน โดยหอการค้าจะทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานจากเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน หรือ Connect the Dots เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนแนวทางการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแต่ละมิติ รวมทั้งผสานความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ให้แก่สมาชิกและผู้ประกอบการทั่วประเทศ

วาระเร่งด่วนที่หอการค้าไทยตั้งเป้าหมายร่วมกับภาครัฐและเอกชน คือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว ด้วยการนำเอาดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่นมาใช้ รวมถึงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นทางออกในการฟื้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางวิกฤตซ้อนวิกฤต โดยในงานสัมมนาฯมีการจัดปาฐกถา การบรรยายพิเศษ และเสวนาภายใต้หัวข้อที่สอดรับกับแนวทางการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย 1.Enhancing Trade Facilitation for Thailand Competitiveness : เปิดการค้าไทย มิติใหม่สู่สากล 2.Enhancing Economic Performance for Thailand Competitiveness : ฟื้นเศรษฐกิจไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน 3.การปรับตัวของประเทศไทยและผู้ประกอบการไทยสู่ธุรกิจบีซีจี และการนำแนวทางอีเอสจี มาใช้เพื่อความยั่งยืน 4.Enhancing Business Efficiency : โลกเปลี่ยน เราปรับ และ 5.Enhancing Regional Economy: ปลุกภูมิภาค-ฟื้นเศรษฐกิจไทย

จากช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับหลายปัจจัย ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่รวดเร็วเท่าที่ควร อาทิ สถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความผันผวนของซัพพลายเชน ราคาน้ำมันและพลังงานปรับสูงขึ้น การขาดแคลนอาหาร วัตถุดิบ ซึ่งนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ นโยบายซีโร่ โควิด ของจีน รวมถึงผลกระทบแต่ละมิติจากโควิด-19 ส่งผลต่อวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำซ้อน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.วิกฤตด้านพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 2.วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร 3.วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี และ 4.วิกฤตโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

จากวิกฤตซ้อนวิกฤตดังกล่าว มีส่วนทำให้ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ (ไอเอ็มดี) ปี 2565 อยู่ที่อันดับ 33 จากทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจ โดยลดลง 5 อันดับ จากปี 2564 โดยปัจจัยด้านเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมทั้งปัจจัยด้านประสิทธิภาพธุรกิจ พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 50 ลดลงถึง 8 อันดับ จากปี 2564 ดังนั้น ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยกลับมาเข้มแข็งและมีอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น คือการหาแนวทางเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านการเชื่อมโยงและบูรณาการเครือข่ายทุกภาคส่วน

ภายในงานสัมมนาได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “Enhancing Regional Economy: ปลุกภูมิภาค-ฟื้นเศรษฐกิจไทย” มีข้อสรุปแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคจากการระดมความคิดเห็นทั่วประเทศ กำหนดโครงการเร่งด่วนซึ่งยึดหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคภาคเอกชนเป็นแนวทาง ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีโครงการที่สำคัญเร่งด่วน อาทิ การค้าชายแดนและการลงทุน เชื่อมโยงรถไฟไทย-ลาว-จีน และยกระดับด่านสู่สากล ด้านเกษตรและอาหาร อาทิ ยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวหอมมะลิ สู่บีซีจีโมเดล และศูนย์กลาง (ฮับ) เมืองอาหารและสมุนไพร ท่องเที่ยวและบริการ อาทิ ชูแฮปปี้ โมเดล ยกระดับเส้นทางโรแมนติก รูท และจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก

ส่วน ภาคเหนือ มีโครงการที่สำคัญเร่งด่วน อาทิ โครงการด้าน NEC (Northern Economic Corridor: NEC) ประกอบด้วย โครงการจัดตั้งคณะกรรมการ NEC ภาคเหนือ โครงการ NEC Valley ในจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการ Special Economic Zone ซึ่งจะเป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านสู่ภูมิภาค 10 จังหวัดภาคเหนือ และการจัดทำแผนแม่บทการจัดการเรื่องน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ จากปัญหาน้ำท่วมหนักและแล้งจัดในแต่ละปี และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ภาคเหนือ อาทิ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ (นครสวรรค์)-เด่นชัย เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด และผลักดันโครงการ Dry Port เชื่อมโยงระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคเหนือ

ภาคกลาง มีโครงการที่สำคัญเร่งด่วน ดังนี้ โครงการยุวชนคนเกษตรเพื่อสร้างผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เชิงประจักษ์นำไปสู่การดำรงชีวิตและอาชีพที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ 3 เส้นทาง ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คือ ทวารวดี-ละโว้-อยุธยา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง พร้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกับแฮปปี้โมเดล และใช้หลักการของบีซีจี ในการขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้อย่างเป็นรูปธรรม

ภาคตะวันออก มีโครงการที่สำคัญเร่งด่วน ดังนี้ ผลักดันการจัดงาน “EEC Fair” ในปี 2024 เพื่อสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพและความพร้อมของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในการรองรับอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ ต่อนักธุรกิจต่างชาติ โดยเป็นโครงการที่คนไทยทั้งประเทศจะได้รับประโยชน์ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าผลไม้ พร้อมทั้งร่วมกับอีอีซี ขับเคลื่อนโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่ในจังหวัดภาคตะวันออก และพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวตามระเบียงย่อยชายฝั่งทะเลตอนใต้

ภาคใต้ มีโครงการที่สำคัญเร่งด่วน ดังนี้ ผลักดันแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน: Andaman Wellness Economic Corridor (AWC) (พ.ศ.2565-2574) โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด (ภูเก็ต-พังงา-กระบี่-ระนอง) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งเป็นยุทธศาสตร์ที่จะเยียวยา ฟื้นฟู และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีการนำร่อง ที่จังหวัดภูเก็ตใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง-กะทู้-ถลาง โดยดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เชื่อมงานบริการให้อยู่ในหน้าต่างเดียวกัน และระยะที่ 2 พัฒนา Super License ในกิจการสปาและนวดเพื่อสุขภาพ เสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialized Expo ณ จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่อ Phuket Expo 2028 ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการเจรจา เพื่อสร้างรายได้และเงินสะพัดแก่ประเทศ และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์-Land Bridge)

สำหรับแนวทางของหอการค้าไทยเพื่อขับเคลื่อนการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนใน 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.Connect เชื่อมโยงความร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย ต่อยอดความเชื่อมั่นจากการเป็นเจ้าภาพ เอเปค 2022 พร้อมผลักดันเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) และเร่งขยายเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับนานาชาติให้มากขึ้น เพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แสวงหาโอกาสและขยายตลาดใหม่ๆ ในประเทศที่มีศักยภาพ อาทิ การขยายผลการศึกษาวิจัยโอกาสการลงทุนระหว่างไทยและจีน ซึ่งหอการค้าไทยร่วมกับสถานทูตจีนดำเนินการเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป การขยายความสำเร็จ จากการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย โดยหอการค้าไทยพร้อมเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างกัน อาทิ เมกะโปรเจ็กต์ระดับโลก เช่น เดอะไลน์ ซึ่ง “กลุ่มสยามพิวรรธณ์” สนใจร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว เป็นต้น ทั้งนี้ หอการค้าฯยังมีแผนที่จะนำคณะนักธุรกิจไทย เยือนซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง เพื่อขยายการค้า การลงทุนร่วมกันให้มากยิ่งๆ ขึ้นต่อไป และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เตรียมร่วมมือกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าให้ถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025

2.Competitive ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ อาทิ จากข้อมูลและการศึกษาพบว่าเอสเอ็มอี ที่มีการรวมตัวในลักษณะองค์กรหรือทำธุรกิจเชื่อมกับ Value Chain ของบริษัทใหญ่ จะมีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น ในปี 2566 หอการค้าไทย ตั้งเป้าหมายระดมสมาชิกเพิ่มจาก 1 แสนราย เป็น 2 แสนราย ภายใน 3 ปีข้างหน้า หอการค้าไทยได้จัดตั้งสถาบัน Competitiveness ภายใต้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมทั้งขับเคลื่อนและติดตามการให้คะแนนและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการสำรวจและศึกษาความสามารถในการแข่งขันในระดับพื้นที่และกลุ่มธุรกิจเพื่อกระจายขีดความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันแนวทาง Trade & Travel โดยหอการค้าไทยจะร่วมกับหอการค้าจังหวัด ทั่วประเทศ ต่อยอดการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ยกระดับการสร้าง Soft Power ในแต่ละจังหวัดทั้งด้านสมุนไพร อาหาร และวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้วยแฮปปี้ โมเดล

3.Sustainable พัฒนา เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย หอการค้าไทยและเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals) ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี โดยจะนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคภาคเอกชน ที่จัดทำร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นแนวทางขยายผล BCG Model เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ ใช้กลไกสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันทางวิชาการ สร้างความรู้ ความเข้าใจ บีซีจี โมเดลและบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งศึกษาโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพื่อขยายผลไปภาคธุรกิจทั่วประเทศต่อไป

ทั้งหมดนี้ คือ สรุปผลการประชุมภายในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 พร้อมด้วยเอกสารผนวก ซึ่งเป็นสรุปผลการบรรยาย การปาฐกถาและการเสวนาภายในงานฯ ตลอดจนผลดำเนินงานและกิจกรรมสำคัญของหอการค้าไทยเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย โดยหอการค้าไทยมุ่งเน้นดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในทุกมิติ ทั้งนี้ ในปี 2566 ถือเป็นปีที่สำคัญซึ่งหอการค้าไทย จะครบรอบ 90 ปี โดยเป้าหมายสำคัญต่อเนื่องคือการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัดและเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศจะร่วมกันส่งเสริมความเข้มแข็งของเอสเอ็มอีไทยให้แข่งขันได้ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมามีอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น พร้อมสร้างอนาคตประเทศอย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่น ร่วมกันสร้างสรรค์ และช่วยกันผลักดัน โดยงานสัมมนาหอการค้าทั่วไทยครั้งหน้า หรือปี 2566 จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯต่อไป.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในวันจันทร์นี้ ท่ามกลางการประท้วงทั่วประเทศเมื่อสุดสัปดาห์
https://www.thaiquote.org/content/248831

พืชสอนลูกหลานของพวกเขาถึงวิธีปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
https://www.thaiquote.org/content/248814

วช. หนุนทีมวิจัย สจล. ถ่ายทอดกระบวนการผลิตไอน้ำสมุนไพร ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
https://www.thaiquote.org/content/248812