ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเม.ย. ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เลือกตั้ง-ท่องเที่ยวหนุนศก.

by ThaiQuote, 11 พฤษภาคม 2566

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนเม.ย.66 อยู่ที่ระดับ 55.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.63

 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 49.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 52.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 63.6 ซึ่งดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.66

ปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 2.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น 3.ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับลดลง 5.เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น สะท้อนว่ามีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ

ขณะที่ยังมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ 1.ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และปัญหาค่าครองชีพสูง จากปัญหาค่าไฟแพง และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ไม่สอดคล้องกับรายได้ในปัจจุบัน 2. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐ และยุโรป กระทบจิตวิทยาเชิงลบ 3.กระทรวงการคลัง ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 66 ลงเหลือ 3.6% จากเดิม 3.8% เนื่องจากการส่งออกชะลอตัว 4.กังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ และปัญหาฝุ่น PM2.5

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือน เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งการท่องเที่ยวของคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือน แต่ก็ยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด เพราะประชาชนยังกังวลกับค่าครองชีพที่ทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงกังวลต่อภาคสถาบันการเงินของโลก โดยเฉพาะสหรัฐ และสหภาพยุโรป ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

"แต่จากการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ" นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่เข้มข้นมากขึ้นตลอดช่วงเดือนเม.ย. ได้ส่งผลให้มีเม็ดเงินสะพัดลงสู่ระบบเศรษฐกิจจากการทำกิจกรรรมรณรงค์หาเสียงต่างๆ ของแต่ละพรรคการเมือง รวมถึงการจัดเวทีดีเบตของหลายสถาบัน จึงทำให้เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินราว 5-6 หมื่นล้านบาทหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจช่วงนี้

"เราเชื่อว่าเลือกตั้งรอบนี้จะมีเงินสะพัด 5-6 หมื่นล้าบาท บรรยากาศเลือกตั้งปีนี้คึกคัก เพราะทุกพรรคหวังจะครองเสียงข้างมาก ซึ่งทำให้ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง จะมีเม็ดเงินสะพัดเข้ามามากสุดที่ 2-3 หมื่นล้านบาท เริ่มเห็นการจับจ่ายที่มากขึ้นในช่วง 1-2 เดือนจากนี้" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมประเมินว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสมากที่จะเติบโตอยู่ในช่วง 3.0-3.5% และยังมีโอกาสจะเติบโตได้มากกว่า 3.5% หากเศรษฐกิจโลกไม่มีภาพการชะลอตัวที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญอีกประการ คือ การเมืองต้องมีเสถียรภาพ แต่ในทางกลับกัน เศรษฐกิจไทยก็อาจจะเติบโตน้อยกว่า 3% ได้ ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะมีผลบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภค นักลงทุน และกระทบต่อการท่องเที่ยวด้วย

อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย จะมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้ง หลังจากที่เห็นภาพความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ รวมทั้งนโยบายสำคัญที่แถลงต่อรัฐสภา

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า ภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส. สิ่งที่จะเป็นตัวชี้ว่าแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะไปในทิศทางใดนั้น ขึ้นกับ 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ความกังวลในภาคสถาบันการเงินของต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐ และยุโรป ซึ่งจะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนของทั้งคนไทยและต่างประเทศ แต่มองว่าปัจจัยนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงจนต้องกังวลมากนัก เนื่องจากเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย และพยายามดูแลปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินต่าง

ส่วนอีกปัจจัยที่จะมีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้โภค คือ สถานการณ์การเมืองในประเทศ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่รู้ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นรัฐบาล และไม่เห็นโฉมหน้านายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมทั้งความไม่แน่นอนจากปัญหาการเมืองนอกสภาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะจะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ด้วย.

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ม.บูรพา พัฒนาคลังข้อมูลดีเอ็นเอบาร์โค้ดของปลาฉลาม-ปลากระเบน ช่วยให้เห็นภาพความหลากหลายทางชีวภาพ
https://www.thaiquote.org/content/250202

รถไฟหัวกระสุน 'ไร้คนขับ' จะเปิดตัวที่ JR East ของญี่ปุ่นในปี 2573
https://www.thaiquote.org/content/250197

วช. - ม.นเรศวร ส่งมอบเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก แก่กองทัพภาคที่ 3 ให้กำลังพลใช้ป้องกันภัยในพื้นที่เสี่ยง
https://www.thaiquote.org/content/250195