ซีพีเอฟ ย้อนรอยซัพพลายเชนสู่ความยั่งยืน ขับเคลื่อนวงจรผลิตคาร์บอนต่ำรับCBAM

by ThaiQuote, 14 กันยายน 2566

ซีพีเอฟ สู่เส้นทางผลิตอาหารเพื่อความยั่งยืน ตั้งเป้าคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ย้อนรอยเครือข่ายซัพพลายเชน ทั้งฟาร์ม และเกษตรกรกว่า 20,000 ราย พัฒนาระบบ พร้อมส่งวิศวกร จับมือยกระดับปรับปรุงการผลิต คิดค้นนวัตกรรมผลิตรักษ์โลก คาร์บอนต่ำ

 

 

แม้มาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) จะยังไม่นำมาบังคับใช้ในในกลุ่มผลิตอาหาร แต่ซีพีเอฟ ผู้นำด้านการผลิตอาหารรายใหญ่ที่ได้ชื่อว่า เป็นครัวของโลก ผลิตอาหารและขยายการลงทุนใน 16 ประเทศ และมีฐานการผลิตในไทย มีเครือข่ายซัพพลายเชน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) กว่า6,000ราย และเครือข่ายเกษตรกรทำคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง 5,000 ราย อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่อื่นๆ อาทิ เครือข่ายปลูกข้าวโพดที่ลงทะเบียนซื้อขายกว่า 11,000 ราย ธุรกิจเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า 4,000 ล้านคน มีพนักงานทั่วโลก 1.33 แสนคน ซึ่งปศุสัตว์ ถือว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงในกระบวนการเลี้ยง โดยเฉพาะหมูกับไก่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ซีพีเอฟ ต้องพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างซัพพลายเชน ให้มีการตรวจสอบย้อนกลับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำการผลิต ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอน) เพื่อรับมือกับมาตรการต่างๆ จากประเทศคู่ค้า

 



ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย บรรยายหัวข้อ “ESG-BCG : ก้าวใหม่ที่สมดุล ตลาดทุนไทย” กล่าวว่า หลักการที่สร้างโมเดลธุรกิจของ CPF มาจากแนวคิดอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ ห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) ต้องเติบโตด้วย สิ่งที่ดีที่สุดคือจะต้องพัฒนาไปพร้อมกับซัพพลายเชน” ในซัพพลายเชน ของ ซีพีเอฟ นิยามตัวเองเป็นบริษัทผลิตเนื้อสัตว์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ –ปลายน้ำ ในธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจผลิตอาหาร เป็นครัวของโลกที่สร้างสรรค์นวัตกรรมอาหาร ดีต่อกาย และดีต่อใจ

โดย “ดีต่อกาย” หมายถึงการผลิตเนื้อสัตว์โปรตีนคุณภาพ ปลอดภัย และ “ดีต่อใจ” คือการมีส่วนร่วมในการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีตามแนวทาง ESG สอดคล้องกับ BCG บนเป้าหมายการ “สร้างความมั่นคงทางอาหาร” ในทุกประเทศที่ซีพีเอฟเข้าไปทำธุรกิจ

 

 

ปัจจุบันซีพีเอฟลงทุนในต่างประเทศ 16 ประเทศ พร้อมกับมีฐานการผลิตในไทย ซึ่งมีเครือข่ายซัพพลายเชนกว่า6,000ราย ธุรกิจเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า 4,000 ล้านคน มีพนักงานทั่วโลก 1.33 แสนคน

เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน ของCPF ประกอบด้วย มิติ ด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในการผลิตในโรงงานซีพี และ ห่วงโซ่อุปทาน (ซัพลพายเชน) ต้นน้ำ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ เพื่อเป็นอาหารสัตว์ และกลางน้ำ เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มปิด

ด้านสังคมจะต้องมีการส่งเสริมการพัฒนาและเติบโต ในกลุ่มคน สังคม ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้ประโยชน์ร่วมกัน จึงจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจของซีพีเอฟ ในระยะยาว

 

ท่ามกลางความต้องการผู้บริโภค พันธมิตรคู่ค้าทั่วโลกมุ่งขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยกำหนดมาตรฐานธุรกิจสมดุลสิ่งแวดล้อม และสังคม จึงถอดแนวคิดวามยั่งยืนมาสู่โมเดลการพัฒนาธุรกิจ CPF ประกอบด้วย 3 ด้าน

C คือ Climate การมีส่วนเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ตลอดทั้งซัพพลายเชน ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตอาหาร
P คือ People เข้าไปรับปรุงสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ตั้งแต่พนักงาน คู่ค้า จนถึงสังคม ระดับประเทศ และระดับโลก

และสุดท้าย F คือ Food สร้างความมั่นคงทางอาหารในสินค้าเพื่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค

คุณประสิทธิ์ กล่าวถึงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ของซีพีเอฟสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่มีเป้าหมายลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศาในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) เช่นเดียวกันกับ ซีพีเอฟ ประกาศเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (ก๊าซเรือนกระจก) เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593) เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทยที่ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ.2608)

สร้างระบบผลิตรักษ์โลก
ยกระดับปศุสัตว์ เกษตร คาร์บอนต่ำ

 

 

ทั้งนี้ จึงต้องมีการกลับมาปรับปรุงพัฒนาเครือข่ายซัพพลายเชนเลี้ยงสัตว์กว่า 6,000 ราย โดยซีพีเอฟเข้าไปช่วยเหลือ ตั้งแต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด -19 ที่ประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียน จึงเร่งรัดการจ่ายเงินเครดิตสินค้าภาย 30 วัน เป็นเวลา 2ปี (ตั้งแต่ปี 2563-2565) จากนั้นจึงดึงธนาคารกรุงเทพ เข้ามาปล่อยสินเชื่ออกเบี้ยต่ำ ช่วยให้เงินทุนหมุนเวียนดีขึ้น

ในปีนี้ จัดทำโครงการเอส เอ็ม อี เอ็กซ์ ต้นทุนต่ำ นำรักษ์โลก ที่ดึงSMEs 10 ราย นำร่อง เข้าร่วมการปรับปรุงมาตรฐานในกระบวนการผลิตเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อาทิ การปรับปรุงกระบวนการผลิตลดคาร์บอน และคิดหาวิธีผลิตสินค้าที่คาร์บอนต่ำ โดยซีพีเอฟ จะส่ง วิศกร จากในเครือ พร้อมกับมีการอบรม 4เดือน เพื่อที่จะร่วมกันคิดค้นนวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตคาร์บอนต่ำ เมื่อสำเร็จก็จะมีการถอดบทเรียน ขยายผลไปสู่รายอื่นที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน เพื่อเตรียมความพร้อมลดคาร์บอน ในการผลิตร่วมกัน ก่อนที่จะมีมาตรฐานการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ในกลุ่มอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปร่วมมือกับเกษตรที่ปลูกข้าวโพด ต้นทางการผลิตอาหารสัตว์ ได้ลงทะเบียนในโครงการ เครือข่ายเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน กว่า 11,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกว่า 3 แสนไร่ทั่วประเทศ เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับ ไปถึงพื้นที่รับซื้อมีส่วนในการผลิตที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่

“ซีอีเอฟ ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมต่อเนื่อง เนื้อสัตว์ที่ผลิตได้มาตรฐานนักบินทานได้ ในกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์เราใส่นวัตกรรมรองรับเทรนด์อาหารอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องของความยั่งยืน โดยมองว่าเรื่องความยั่งยืน ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะทำแล้วคุ้ม ทำแล้วประหยัดขึ้น จะเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว”

สำหรับเป้าหมายการลดลดก๊าซเรือนกระจกในการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ วางเป้าหมายไว้ที่ 30.3% ในปีค.ศ. 2030 และลดการปล่อยก๊าซเป็น 72% ในปี ค.ศ. 2050 ตามมาตรฐาน เชิงวิทยาศาสตร์ จาก SBTI ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ไม่สามารถทำได้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้

ส่วนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือน จากการใช้พลังงาน บรรจุภัณฑ์ ของเสีย ตั้งเป้าหมายที่จะลด 42% ในปี ค.ศ.2030 และเพิ่มเป็น 90% ในปี ค.ศ. 2050

“หากไม่ทำอะไรเลยก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จการลดการปล่อยก๊าซตามเป้าหมาย จึงต้องเริ่มข้าไปตรวจสอบย้อนกลับการปล่อยก๊าซคาร์บอน ในซัพพลายเชน ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตของซีพีเอฟ ให้เริ่มต้นปรับตัว”

ในส่วนของการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และดิจิทัลเทคโนโลยี ปัจจุบัน ซีพีเอฟมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 31% ในปี 2566 ผ่านการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกรและไก่ไข่ มีการใช้ชีวมวลใน 18 โรงงาน และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานและฟาร์มกว่า 42 เมกะวัตต์ มีการใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ที่ผ่านมายังร่วมปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่ามากกว่า 5 ล้านต้นทั้งในไทยและต่างประเทศ และยังได้นำระบบข้อมูลอัจฉริยะ ระบบออโตเมชั่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และใช้พลังงานไฮโดรเจนจากมูลสัตว์

ส่วนทางด้านสังคม มีโครงการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน พัฒนาคนให้มีรายได้ โดยการเป็นเจ้าของกิจการ ผ่านโครงการแฟรนไชส์ 5 ดาว ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีอาชีพ หรือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ 100% ปัจจุบันมี 5,650 สาขา สร้างรายได้ให้ชุมชน และคอนแทร็กฟาร์มมิ้ง ที่ตั้งเป้าว่าจะมีจำนวนเกษตร 5,758 คน สร้างรายได้ 7,628 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ในปี 2566 ร่วมถึงการสนับสนุนคู่ค้า เช่น ลดเครดิตเทอม เพิ่มสภาพคล่อง และมุ่งเน้นการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผ่านการปฏิบัติตามข้อกำหนดองค์กร การดำเนินการอย่างโปร่งใส การต่อต้านคอรัปชั่น และความตระหนักด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

Tag :