เจาะลึกเส้นทางนวัตกรรมสีเขียว ‘บางจาก’ ข้ามยุคฟอสซิล สู่ Ecosytem ธุรกิจอนาคต

by ESGuniverse, 14 พฤศจิกายน 2566

หลังจาก”บิ๊กดีล” เอสโซ่มาประกบ บางจาก เติมเครือข่ายปั๊ม2,200 แห่ง จุดเชื่อม ”ประสบการณ์นวัตกรรมสีเขียว” Ecosytem ขุมพลังธุรกิจอนาคต ไฟฟ้า พลังงานงานหมุุนเวียน และเทคโนโลยีชีวภาพ ผลลัพธ์ปิดดีล 9 เดือน กำไรถึง 3.1 หมื่นล้านบาท ฉายสปอร์ตไลท์ ให้ “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ซีอีโอ แห่งบมจ.บางจาก คว้ารางวัลซีอีโอแห่งปี 2023 และหุ้นยั่งยืน

 

 

ภายหลังจากดีลประวัติศาสตร์ “บางจาก” เข้าซื้อหุ้น “เอสโซ่” 65.99% มูลค่า คิดเป็นเงิน 22,606 ล้านบาท ่ถือเป็น “Big Move” เคลื่อนทัพเสริมพลังกองทัพเครือข่ายธุรกิจค้าน้ำมัน ภายหลังรวม 2 แบรนด์ ทำให้มีฐานกำลังสินทรัพย์สถานีบริการน้ำมัน เป็น 2,200 สาขา เสริมกลยุทธ์เดินคู่กันรีโนเวทสถานีบริการ เปิดโอกาสใหม่สร้าง “ประสบการณ์ นวัตกรรมสีเขียว” มุ่งสู่ธุรกิจอนาคต

เสริมความมั่นคงในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่ง S&P Global CSA ได้ประเมินความยั่งยืนดัชนี DJSI บางจากมีคะแนนสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอุตสาหกรรมค้าน้ำมัน และก๊าซ และได้รับ การประเมิน MSCI ESG Rating ระดับ AA สูงสุดขององค์กรในธุรกิจพลังงานในประเทศไทยที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 และได้รับการประเมินด้านหุ้นยั่งยืน จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET ESG Rating) ระดับ “AAA” (คะแนนรวม 90-100) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร (Resources) จากประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 โดยวางเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) จะทำได้ภายในปี 2050

ยังมีการสร้างระบบนิเวศสีเขียว เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจอนาคต อาทิ การขยายธุรกิจพลังงานทดแทน ส่งเสริมองค์ความรู้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ ( Synbio) เข้ามาในประเทศ

 

 

บางจาก ก้าวขึ้นสู่ “บทบาทผู้นำในการสร้างระบบนิเวศสังคมคาร์บอนต่ำ” ผ่านสถานีบริการน้ำมัน ประตู เปิดประสบการณ์นวัตกรรมสีเขียว ภายในองค์กรบางจาก เช่น การเปิดสถานีบริการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งแรก พร้อมกันกับ บุกเบิกแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ “วินโนหนี้”

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับพันธมิตรจัดตั้งชมรมตลาดคาร์บอน “Carbon Markets Club” และเป็นผู้นำในธุรกิจเชื้อเพลิงพลังงานสะอาด อาทิ การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) เป็นรายแรก

โดยมีเป้าหมาย บางจาก ก้าวสู่องค์กรเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 และคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050

  

 

4 ขุมพลังธุรกิจอนาคต

กลุ่มบางจาก ได้วางแผนในการแสวงหาโอกาสในกลุ่มธุรกิจใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกในอนาคตไว้ และหลายธุรกิจอยู่ในเส้นทางขาขึ้น
1.กลุ่มธุรกิจการตลาด

สถานีบริการน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีก ถือเป็นประตูส่งมอบประสบการณ์ นวัตกรรมสีเขียว “ Greenovative Experience” ผ่านเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,200 แห่ง จุดเชื่อมในการสร้างสังคมสีเขียวภายใต้กลุ่มธุรกิจในอนาคต ที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมัน (non-oil) เช่น กาแฟอินทนิล น้ำมันหล่อลื่น Furio EV Charger รวมทั้งความร่วมมือกับพันธมิตรด้านอาหารหลากหลายและนำระบบดิจิทัลมาส่งมอบประสบการณ์ทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ให้กับผู้ใช้บริการ

2.กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า

ที่ผ่านมา กลุ่มบางจากเน้นดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้พลังงานของผู้บริโภคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย บมจ. บีซีพีจี ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

โดยมี EBITDA 1,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35 % จากไตรมาสก่อนหน้า และ 10 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็น EBITDA สูงที่สุดใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา

รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป. ลาว กลับมาผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเต็มไตรมาส และมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม (การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้น 2 โครงการ) รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทยมีปริมาณการจำหน่ายไฟเพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล

  

 

3.กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่

การลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และมีกลุ่มธุรกิจขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ ๆ (New Frontier Businesses) อาทิ ธุรกิจแพลตฟอร์มให้บริการรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie และสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศสำหรับนวัตกรรมสีเขียว

4.OKE ในนอวร์เวย์ มาแรง EBITDA 32%

ทั้งนี้ OKEA ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐของนอร์เวย์ในการขยายการลงทุนในแหล่ง Statfjord โดยคาดว่าธุรกรรมจะเสร็จสิ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566

โดยผลงานล่าสุดมี EBITDA 4,873 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32 % จากไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณจำหน่ายของ OKEA เพิ่มขึ้น 17 % จากไตรมาสก่อนหน้า จากปริมาณจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นของแหล่งผลิต Brage และ Nova (ในไตรมาส 2 ปี 2566 ไม่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จาก 2 แหล่งนี้)

  

 

ผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

ผลงานการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมสีเขียวในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปีนี้ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับมอบรางวัลแห่งปี CEO of the Year 2023 in Greenovation Leadership หรือ รางวัลผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดดเด่นด้านวัตกรรมสีเขียว จัดโดยหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดยยกย่องผู้นำองค์กรและอุตสาหกรรมในแง่ของวิสัยทัศน์และความสำเร็จในการบริหารธุรกิจ โดยมีเกณฑ์พิจารณาจากการสร้างสรรค์นวัตกรรม การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับ ESG

“เรายังคงยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาสมดุลของความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ (Energy Trilemma)” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ตอกย้ำผลงาน 9 เดือนแรกปี 2566

นอกจากกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มุ่งเน้นทางด้านนวัตกรรมสีเขียวแล้ว กลุ่มบางจาก ยังมีอีก 2 กลุ่มธุรกิจที่สร้างการเติบโตได้เช่นเดียวกัน

กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 1,312 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จากไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ 1,571 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นทั้งตลาดค้าปลีกและตลาดอุตสาหกรรม เป็นผลจากการผลักดันการจำหน่าย การขยายสถานีบริการ และการส่งเสริมการตลาด ประกอบกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดน้ำมันอากาศยาน ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

กลุ่มธุรกิจเอสโซ่ (ประเทศไทย) มี EBITDA 1,281 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3 ได้เริ่มมีการรับรู้ผลการดำเนินงานของเอสโซ่ (ประเทศไทย) ในงบการเงินรวมของบางจากฯ ตั้งแต่ 1 กันยายน 2566 ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2566 โรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชามีการหยุดดำเนินการผลิตเพื่อการซ่อมบำรุงตามแผนและเพื่อดำเนินการติดตั้งและเชื่อมต่ออุปกรณ์สำหรับโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 เป็นเวลา 25 วัน

โดยรวมผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้รวม 242,931 ล้านบาท มี EBITDA 31,433 ล้านบาท โดยไตรมาส 3 ปี 2566 มีรายได้ 94,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 26 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับตัวเลขกำไรเติบโตมาจาก 4 ปัจจัย คือ

1.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันที่ราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มี Inventory Gain 3,598 ล้านบาท

2.ปริมาณการจำหน่ายของธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น

3.ธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามีการรับรู้การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว เริ่มรับรู้รายได้ และ ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2 โครงการ

4. ผลการดำเนินงานของเอสโซ่ (ประเทศไทย) ในสัดส่วน 76.34 % ในงบการเงินรวม ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นต้นมา รวมถึงมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการต่อรองราคาซื้อที่เกิดจากการประเมินมูลค่ายุติธรรมของทรัพย์สิน (PPA) จำนวน 7,389 ล้านบาท

จับตาเส้นทางการเติบโตในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมสีเขียว ของกลุ่มบางจาก ทั้งธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และ ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ ภายใต้การนำของ “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ในแนวทาง “การสร้างจุดยืนที่แข็งแกร่ง และการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จะนำมาซึ่งความสำเร็จที่มากยิ่งขึ้น”