2 นักวิชาการความยั่งยืนผ่า ‘TESG Fund’ ปลุกทุนยั่งยืนไม่ตรงเป้า แนะสร้าง Ecosystem

by ประกายดาว แบ่งสันเทียะ , 16 พฤศจิกายน 2566

2 นักวิชาการด้านความยั่งยืน จากไทยพัฒน์ - SDG Move วิเคราะห์ TESG Fund หวังปลุกรายย่อยระดมทุนยังไม่ตรงจุด เผยปลุกความสนใจลงทุนหุ้น ESG คีย์สำคัญ ปฏิวัติเศรษฐกิจสีเขียวอยู่ที่ Ecosystem แนะออกกฎหมายรับผิดชอบปล่อยคาร์บอน

 

 

 

แม้การบริหารองค์กรยั่งยืน โดยจัดการสมดุลธุรกิจกับ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล( ESG) จะเป็นเมกะเทรนด์ใหญ่ในการขับเคลื่อนการลงทุนของโลก ภาคธุรกิจจึงต้องลงทุนลดการปล่อยคาร์บอน ตามพันธะสัญญาปารีสเร่งลดอุณหภูมิลงไม่เกิน 1.5 องศาภายในปี 2573 พร้อมกันกับใส่เงินทุนเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนา 1 แสนดอลลาร์ต่อปี ถือเป็นเทรนด์ที่จะมีการเติบโตไปสู่การ “ปฏิวัติเศรษฐกิจสีเขียว”

SCB Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์) SCB CIO ระบุว่า ESG คือตัวเร่งการลงทุนอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่ปี 2559-2563 มีการออกกฎระเบียบทั่วโลกออกมาตรการกำกับดูแลด้าน ESG เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 41% ต่อปี และในปี 2564 เติบโต 17% เป็นบทสะท้อนที่ทำให้เกิดการตื่นตัวด้าน ESG ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค สถาบันการเงิน และนักลงทุน

ทำให้ กองทุนรวม ESG ในต่างประเทศเติบโตต่อเนื่อง มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (AUM) ของกองทุนรวมตั้งแต่ในปี 2559-2564 เติบโตเฉลี่ยเกือบ 30% ต่อปี มีส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2559 มาเป็น 6% ในปี 2564 และทรงตัวในปี 2565 โดยยุโรป มีการเติบโตมากที่สุด

ส่วนในไทย พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลไทย ออกครั้งแรกเดือนสิงหาคม 2563 วงเงิน 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.585% ต่อปี ยังต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนตลาด (market yield) ของพันธบัตรรัฐบาลทั่วไปที่มีอายุเท่ากัน โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ESG ในลิสต์ 210 บริษัท จากทั้งหมด 800 บริษัท เป็นจุดเริ่มจูงใจตลาดลงทุน

ทว่าหุ้นด้าน ESG โดยรวมยังมีไม่คึกคัก การทำESG ยังเป็นกลุ่มทุนบริษัทขนาดใหญ่ และที่สำคัญ ความสนใจต่อการระดมทุนยังต่ำ เป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับหุ้นทั่วไป และการทำ ESG ยังอยู่ในรูปแบบสมัครใจ ไม่มีผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงจนเกิดการขับเคลื่อนตลาดขนาดใหญ่

มาตรการล่าสุด ภายหลังจากตลาดหุ้นดิ่งอย่างหนักถึง 1,300 จุด ทางสภาตลาดทุนไทย (FETCO) เข้าพบกับ กระทรวงการคลัง เพื่อกระตุ้นการลงทุนกลุ่มหุ้นด้านความยั่งยืน ชื่อว่า “กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน" (Thailand ESG Fund -TESG) โดยจะนำเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสัปดาห์หน้า ข้อสรุปเป็นการออกตราสารหนี้ธุรกิจที่ดำเนินการสอดคล้องกับ ESG เป็นเวลา 8 ปี (10 ปี ปฏิทิน) ในวงเงินลงทุนสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท/ราย เพิ่มจากการลงทุนลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ที่ภาครัฐให้สิทธิวงเงินรวมไม่เกิน 500,000 บาท/ราย เป็นการกระตุ้นให้มีคนไทยมีรูปแบบการออมผ่านการลงทุนในตลาดทุน และดึงดูดฐานนักลงทุนรายใหม่เพิ่มขึ้น โดยใช้กองทุน TESG มาจูงใจ เพราะเป็นเมกะเทรนด์โลก และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งไปสู่การขับเคลื่อนความยั่งยืนตามหลัก ESG

กองทุนดังกล่าวจะเริ่มเปิดเสนอขายภายในต้นเดือนธ.ค. โดยมีมาตรการจูงในำมาลดหย่อนภาษีในปี 2566 ได้ทันทีมใกล้เคียงกับการให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long – Term Equity Fund : LTF) เฉลี่ย 1 หมื่นล้านบาทต่อปี คาดว่าจะมีเงินเข้ามาลงทุนในกองทุน TESG ในปีแรกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนบริษัทจดทะเบียนที่เข้าเกณฑ์ ESG ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีจำนวน 210 บริษัท จากกว่า 800 บริษัท

สถาบันไทยพัฒน์ ชี้ ESG
เป็นหัวขบวนขับเคลื่อนทุนได้ด้วยกฎหมาย

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับ ESG Fund ว่า วิธีการไม่สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนทำให้เกิดการลงทุนด้าน ESG ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ถือเป็นเป็นกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว ในการลงทุนในธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดทุนและเศรษฐกิจได้ในอนาคต ทั้งนี้แม้มูลค่าการลงทุนเริ่มต้นไม่สูงนักราวหมื่นล้านบาท แต่มาตรการทำให้ปลุกความสนใจต่อสังคม และภาคธุรกิจตื่นตัว และรู้จักการลงทุนด้านความยั่งยืน กระตุ้นให้ภาคธุรกิจเร่งพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องต่อความสนใจของนักลงทุน ตามทิศทางการพัฒนาของทั้งโลกกำลังตื่นตัวการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน


อย่างไรก็ตาม แนวทางจะขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เกิดการพัฒนาตลาดการลงทุนด้าน ESG เพื่อมีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดขึ้นชัดเจนตามประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามากดดันดันให้ภาคธุรกิจไทยต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง จากปัจจุบันที่การขับเคลื่อนธุรกิจและตลาดยังอยู่ในภาคสมัครใจ เช่น การนำกฎหมายที่อยู่ระหว่างร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างยกร่างระเบียบมาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป ที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี2566 ทำให้เกิดการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม หรือพื้นที่อื่นๆ จะต้องลดการปล่อยก๊าซในการทำธุรกิจ ไม่เช่นนั้น จะต้องชดเชยด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จึงจะทำให้ภาคธุรกิจเร่งลงทุนปรับตัวพัฒนาสินค้า บริการ และการลงทุนไปสู่ สังคมสีเขียว (Green Society) ได้จริง


“ในสังคมไทยต้องการขับเคลื่อนการลงทุนผ่านทางกฎระเบียบ มาตรการบังคับ แทนการภาคสมัครใจ ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการดำเนินการ จึงจะทำให้ภาคอุตสาหกรรม เห็นผลกระทบหากไม่ตื่นตัวดำเนินการใดๆ จึงจะนำไปสู่การขยายตลาดทำให้ลุกขึ้นมาทำเรื่อง ESG กันมากขึ้น ส่วนกองทุนTESG ที่รัฐบาลกำลังจะออกมา มีผลช่วยกระตุ้นตลาดทุนผ่านนักลงทุน”


SDD Move หวังสร้างEcosytem
สร้างระบบมีดีมานด์ยั่งยืนแท้จริง


ชล บุนนาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับ ESG Fund ว่า วิธีการพัฒนากองทุนโดยการสร้างแรงจูงใจนำไปลดหย่อนภาษี คล้ายกับ LTF ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนให้สังคมกลับมาตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ และได้รับความสนใจจากนักลงทุน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจ SMEs หันมาพัฒนาธุรกิจให้สอคดล้องกับESG สามารถกระตุ้นตลาดได้ผ่านนักลงทุน

ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่จะทำให้ ESG สร้างแรงกระเพื่อม ขนาดใหญ่ ในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจ คือการสร้างระบบนิเวศ (Ecosytem) ที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการลดหย่อนภาษี แต่จะต้องเริ่มต้นจากการสร้างตลาดดีมานด์ โดยเริ่มต้นส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีการพัฒนาระบบ การจัดซื้อจัดจ้าง (Green Procurement) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้เกิดความต้องการสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต สิ่งเหล่านี้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้ ESG มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม และขับเคลื่อนธุรกิจได้.

Tag :