เกษตรไทยได้ประโยชน์อะไร เมื่อโลกปฏิวัติเกษตรกรรมยั่งยืน

by ESGuniverse, 29 พฤศจิกายน 2566

ครม.มติ ตอบรับร่างปฏิญญาเกษตรยั่งยืน ส่งกระทรวงเกษตรร่วมลงนามในเวที COP28 วันที่ 1 ธ.ค. ณ ดูไบ เปิดผนึกพันธสัญญาต้องปฏิวัติวงการเกษตรไทย ทบทวนนโยบายผลิตอาหารฟื้นฟูระบบนิเวศ กอบกู้วิถีชีวิตวิถีกสิกรรม ช่วยผู้ด้อยโอกาส และสร้างนวัตกรรมระบบผลิตยั่งยืน

 

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อภาคการเกษตรของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งปัญหาฝนแล้ง และน้ำท่วมที่รุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายและมีผลิตออกมาในปริมาณที่น้อยลงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงาน ในปี 2564พบว่าตั้งแต่ ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ภาคเกษตรของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจาก การทำเกษตรจากกระบวนการทางธรรมชาติ อาทิ การเตรียมพื้นที่ เพาะปลูก จนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต การปลูกข้าวเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ตามมาด้วย การใช้ที่ดิน การเผาในที่โล่ง การจัดการมูลสัตว์ ล้วนส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นั่นคือวิธีดั้งเดิมที่เกษตรกรทำมาหลายชั่วอายุคน เมื่อทั่วโลกต้องการขับเคลื่อนภาคการเกษตรฟื้นฟูระบบนิเวศ แนวคิดเกษตรกรมยั่งยืน จัดการห่วงโซ่การผลิตจึงเป็นแนวทางปฏิวัติที่ภาคการเกษตรกไทยจะต้องปรับนโยบาย และวิถีเกษตกรรม จากอุตสาหกรรมเร่งผลิต เก็บเกี่ยว ขาย ทำเงิน สู่การทำเกษตรให้คำนึงถึงระบบนิเวศ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชีวิต และสิ่งมีชีวิตให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์

ร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action) เป็นหนึ่งในวาระพันธสัญญาในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28 UNFCCC) (การประชุม COP28) ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม COP28 ได้มีหนังสือถึงประเทศสมาชิกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations -FAO)ให้ร่วมลงนาม 

  

 

ล่าสุด ทางมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้เห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญภาคการเกษตรกรรมของไทย จะต้องเตรียมพร้อมกับการปฏิวัติระบบการผลิตในภาคการเกตรให้สอดคล้องกับภาวะโลกร้อน นั่นคือการคำถึงการใช้น้ำลดลง และคำนึงถึงการฟื้นฟูทรัพยากร รวมถึงสิ่งสำคัญคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
สำหรับ หลักการสำคัญของร่างปฏิญญาว่าด้วยการเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ประกอบด้วย 3 การตอบสนอง คือ 1.ประเด็นที่ควรตระหนักถึง 2.แนวทางความร่วมมือ และ 3. การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายในปี 2568

นี่คือแปนที่สร้างพันธสัญญาให้สมาชิก ต้องรับรู้ ลงมือทำ และการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย

ประเด็นที่ควรตระหนักถึง

1.สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนเปลงอย่างรุนแรงส่งผลต่อความสามารถในการฟื้นตัวด้านการเกษตรและระบบอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งผลต่อกลุ่มเปราะบางในการเข้าถึงอาหารเมื่อต้องเผชิญกับความหิวโหย ภาวะทุพโภชนาการ และความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น

2.ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับอาหารที่ปลอดภัย เพียงพอ ราคาไม่แพงและมีคุณค่าทางโภชนา ตามบริบทของความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

3.ระบบเกษตรและอาหารเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน เช่น เกษตรกรรายย่อย เกษตรกรแบบครอบครัว ชาวประมง ผู้ประกอบการด้านอาหาร ดังนั้น ความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงมีบทบาทสำคัญต่อการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะความร่วมมือของสถาบันการเงินในการให้เงินทุกสนับสนุน

แนวทางการทำงาน

1.เพิ่มกิจกรรมเกี่ยวกับการปรับตัว และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความเปราะบางของเกษตรกร ชาวประมง และผู้ผลิตอาหารรวมถึงเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคสำหรับแก้ไขปัญหา เช่น การสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม การเสริมสร้างและการจัดการน้ำแบบบูรณาการในระบบเกษตรและอาหารทุกระดับเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

2.สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การมีระบบการคุ้มครองทางสังคมและเครือข่ายความปลอดภัย การวิจัยและนวัตกรรมที่ตรงเป้าหมาย และความต้องการเฉพาะของกลุ่มต่าง ๆ รวมถึง โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน

3.สนับสนุนคนงานในภาคการเกษตรและระบบอาหาร รวมทั้งบทบาทของสตรีและเยาวชนให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ยังสามารถประกอบอาชีพได้ตามแนวทางที่เหมาะสม

4.ลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เช่น เสริมสร้างสุขภาพของดิน สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และลดการสูญเสียขยะทางอาหารจากการผลิตและการบริโภค พร้อมกันนี้ให้เสริมสร้างการจัดการน้ำแบบบูรณาการ

เป้าหมายภายในปี 2568

1.บูรณาการระบบเกษตร และอาหารเข้ากับแผนของชาติ เช่น ยุทธศาสตร์ระยะยาว และยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ก่อนการประชุม COP30 (ปี 2568) รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วมตามความเหมาะสมภายในบริบทของประเทศ

2. ทบทวน หรือ ปรับทิศทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรและอาหาร เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ก็ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนความสามารถในการปรับตัวและการดำรงชีวิตและส่งเสริมให้เกิดการลดการสูญเสียอาหาร ของเสีย และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ

รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงการเงินทุกรูปแบบจากภาครัฐ องค์กรการกุศลและภาคเอกชนสำหรับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรและอาหาร เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหาร

3.ส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม รวมถึงความรู้ในท้องถิ่นและชนพื้นเมืองเพื่อเพิ่มผลผลิตและการผลิตที่ยั่งยืนของเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมความยืดหยุ่นของระบบนิเวศและปรับปรุงความเป็นอยู่ของชุมชนในชนบท เกษตรกรรายย่อย ครอบครัวเกษตรกรและผู้ผลิตรายอื่น

4.เสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่ไม่เลือกปฏิบัติ เปิดกว้าง ยุติธรรม เสมอภาค และโปร่งใส โดยมีองค์การค้าโลกเป็นแกนหลัก

ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม COP28 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2566 โดยพิธีการลงนามระดับผู้นำประเทศจะจัดขึ้นระหว่างการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28 UNFCCC) ในวาระ World Climate Action ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ภาคการเกษตรของไทยจะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ประโยชน์จากร่างฯ ฉบับนี้มากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่น่าติดตาม