ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโมเดล ปลดหนี้ ด้วยซอฟต์สกิล ผ่านพี่เลี้ยงการเงิน

by ESGuniverse, 25 ธันวาคม 2566

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นจุดเปราะบางสังคมไทย มีหนี้ครัวเรือน พันธนาการชีวิต วิเคราะห์โจทย์ปลดล็อกหนี้ ปั้นพี่เลี้ยงการเงิน ถอดบทเรียน ทักษะซอฟต์สกิล โค้ชชิ่งใจแลกใจ เข็มทิศชีวิตหลุดบ่วงหนี้ ติวเข้มความรู้วินัยการเงินปรับวิธีคิด มีภูมิคุ้มกัน วางรากฐานการเงิน ชีวิตมีสุข สร้างเครือข่าย Happy Money พลังขับเคลื่อนสังคมไทยสุขยั่งยืน

 

 

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่ออัตราหนี้ครัวเรือนของไทยสูงสุดในรอบ 15 ปี หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 90.6% การเป็นหนี้ คือ “พันธนาการทางการเงิน” ที่เป็นปมล็อกชีวิตใครหลายคน กับการต้องติดอยู่ในวังวน การชดเชยเงินที่ยืมจากอนาคตมาใช้ โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เผยสาเหตุของหนี้ในสังคมไทย เกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ 1.ขาดวินัยทางการเงิน 2.รายรับไม่พอกับรายจ่าย 3.วางแผนการลงทุนผิดพลาด และ 4.มีความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาหลักเกิดจากบริหารจัดการไม่เป็น ไม่มีเงินออม มีการใช้จ่ายเกินตัว มีโอกาสฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ อาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพจิตของลูกหนี้ ปัญหาสังคมที่คนถูกกดดันจากภาระหนี้ จนทำให้ชีวิตไม่มีความสุข ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

เพื่อปั้นพี่เลี้ยงการเงิน ผู้ที่เรียนรู้เรื่องการเงินเพื่อให้สามารถช่วยวางแผนการเงินเบื้องต้นแก่ตนเองได้ และพร้อมเป็นจิตอาสาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้อื่น เกิดทัศนคติทางการเงินที่ดี ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน การหลุดจากกับดักหนี้ และสร้างเงินออม ทำให้ชีวิตมีสุขภาวะดี สร้างสังคมดี ส่งต่อความสุขทำให้ฐานรากของชาติเข้มแข็ง

  

 

SET วางรากฐานมั่นคงการเงินสังคมไทย
ผ่าน“Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน”

พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง การริเริ่มโครงการ “Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน” มีเจตนารมณ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเงิน ซึ่งเป็นพันธกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีสุขภาวะที่ดี (Well-being) ที่จะต้องเริ่มต้นจากความมั่นคงทางการเงิน จึงจัดทำโครงการส่งเสริมการพัฒนาทักษะการวางแผนทางการเงินและการลงทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งระดับบุคคล ส่งต่อไปยังครอบครัว สังคม ซึ่งเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนความเข้มแข็งของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชนมายาวนานกว่า 20 ปี ภายใต้โครงการ “Happy Money” จนล่าสุดในปี 2564 ได้มีการพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมากขึ้นด้วยการสร้าง “พี่เลี้ยงการเงิน” มีการเสริมความรู้ทางการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาการเงินครบวงจร โดยได้ปรับรูปแบบให้มีทั้งออนไลน์ หรือ e-Learning ในช่วงโควิด-19 ควบคู่กับการเวิร์กช็อปในรูปแบบรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนจากหลากหลายองค์กร ส่งพนักงานเข้ามาร่วมอบรม หลักสูตรใช้เวลาอบรม 3-4 เดือน จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ชัดเจนขึ้น สามารถถอดบทเรียนและค้นพบวิธีการแก้ไขหนี้ได้ตรงจุด

ต้องยอมรับว่า ปัญหาทางการเงินเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน ที่ต้องใช้ทักษะหลากหลายในการเข้าไปช่วยแก้ไข การเป็นพี่เลี้ยงการเงิน จะเข้าไปช่วยเติมเต็มทักษะทั้งความรู้การเงิน และเพิ่มประสบการณ์ ทักษะทางจิตวิทยา หรือ Soft skill เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาเปิดใจ ทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาการเงินที่แท้จริงรายบุคคลได้อย่างถ่องแท้ พี่เลี้ยงการเงินจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ

พี่เลี้ยงการเงิน
รู้จริงการเงิน และซอฟต์สกิล
เข้าใจ เข้าถึง “ปัญหาเรื่องเงิน”

พี่เลี้ยงการเงิน เป็นผู้ที่ปลดล็อกปัญหาจากการเปิดใจด้วยความเข้าใจความทุกข์ของคนมีปัญหาการเงิน กลุ่มคนเหล่านี้ มีจิตสาธารณะ นำความรู้จากการเข้าใจปัญหาการเงินที่แท้จริง ถ่ายทอดความรู้จากตัวเอง หลังจากดำเนินการมา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2564) สามารถสร้างพี่เลี้ยงการเงิน 5,219 คน ซึ่งคาดหวังว่าพี่เลี้ยงเหล่านี้จะขยายผลการวางแผนและการปลดล็อกปัญหาทางการเงินให้กับผู้อื่น ไม่ต่ำกว่า 3 คนต่อพี่เลี้ยง 1 คน

“พี่เลี้ยงการเงินจิตอาสา ต้องการถ่ายทอดบทเรียนทำประโยชน์ให้กับคนอื่น อยากให้คนอื่นหลุดพ้น คนเป็นหนี้ คนมีปัญหาการเงิน เหมือนคนจมน้ำ แต่บางคนไม่ยอมรับและเปิดใจว่ามีปัญหา จึงต้องใช้ทักษะในการพูดคุย เปิดใจ ลักษณะโค้ช พี่เลี้ยงการเงินจึงเหมือนเพื่อนคู่คิดที่พร้อมรับฟัง และร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน”

 

 



มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม
สร้างความเข้มแข็งให้คนเปราะบาง

ด้าน อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวถึงความร่วมมือในการเชื่อมต่อพัฒนาพี่เลี้ยงการเงิน โดยมูลนิธิส่งคนเข้าร่วมอบรมกับโครงการพี่เลี้ยงการเงิน เพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับพี่เลี้ยงในมูลนิธิ สามารถถ่ายทอดความรู้จากโครงการไปสู่ประชาชน สังคมในเครือข่าย อาทิ ผู้สูงวัย และผู้เปราะบางในสังคมเข้าร่วมอบรม เช่น คนพิการ กลุ่มคนเหล่านี้จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ หากมีความรู้ มีการวางแผนทางการเงินที่ชัดเจน จะทำให้มีความมั่นคงทางการเงิน และมีสุขภาวะที่ดี ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสทางความรู้

“การให้ความรู้ทางการเงิน เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ตอบโจทย์หลักของประเทศ นั่นคือปัญหาหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานบริษัท พนักงานโรงงาน รวมถึงคนเปราะบางในสังคมไทย และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นการเริ่มต้นจากการให้ความรู้และสร้างผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก่อนเข้าร่วมกับโครงการพี่เลี้ยงการเงิน เรามีการพัฒนาพี่เลี้ยงช่วยแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มคนเปราะบาง ทั้งคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงสังคมผู้สูงวัย เพื่อให้เตรียมพร้อมในการเกษียณ จึงส่งคนเข้าไปอบรมพี่เลี้ยงการเงินกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเชี่ยวชาญ และขยายการให้คำปรึกษาให้คนได้เพิ่มขึ้นด้วย”


 

 

แฮนอัพ ส่งพี่เลี้ยงการเงิน ประกบชุมชน Sandbox
ถอด Key to Success ไว้ใจ ปลดภาระทางการเงิน

ศรวุฒิ ปิงคลาศัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แฮนอัพ เน็ทเวิร์ค จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ กล่าวถึงโครงการ “Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน” หลังจากได้เข้ามาร่วมมือพัฒนาตั้งแต่ต้นปี 2566 พบว่า เป็นโครงการที่เหมาะสมและดีในการช่วยให้คนทั่วไปที่มีปัญหาทางการเงินได้มีวิธีการวางแผนทางการเงินที่ถูกต้อง ที่มีการขยายวงกว้างจากเพียงแค่คนรู้จักไปสู่ คนที่มีปัญหาตัวจริงในสังคมไทย แต่ไม่มีผู้ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาตัวต่อตัวที่รับฟังปัญหาและปรับทุกข์ได้

ที่ผ่านมาโครงการ ”พี่เลี้ยงการเงิน” จะมุ่งเน้นที่การแก้ไขปัญหาให้กับคนรู้จักภายในองค์กร คนในครอบครัว เป็นหลัก แต่การเข้ามาของแฮนอัพ จะทำให้ขยายการแก้ไขปัญหาไปสู่คนทั่วไป พี่เลี้ยงการเงินที่มีจิตอาสา จะมีโอกาสไปประกบคนที่ไม่รู้จักมาก่อน ซึ่งมีความยากและท้าทาย แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะหากประสบความสำเร็จ จะทำให้เข้าใจพฤติกรรม ทัศนคติ และถอดบทเรียน ในการแก้ไขปัญหาขยายวงในระดับที่กว้างมากขึ้น ดังนั้น จึงพัฒนาโครงการนำร่อง (Sandbox) ในโครงการที่เข้ามาร่วมมือทำงานการเข้าไปช่วยเหลือชุมชน และมีการถอดบทเรียน วิธีการเข้าถึงคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก ให้ได้รับความไว้วางใจ (Trust) กล้าเปิดใจปัญหาส่วนตัวให้พี่เลี้ยงการเงินรับฟังได้

“พี่เลี้ยงการเงินจิตอาสา มีความรู้ และปรารถนาดีต่อผู้อื่น ต้องการให้พ้นจากภาระการเงิน แต่ต้องเข้าไปช่วยคนไม่รู้จัก จึงต้องพัฒนาเป็น Sandbox นำร่องให้เข้าใจปัญหาและความท้าทาย เพราะการเงินส่วนบุคคล ต้องมีการพัฒนากลไกความสำเร็จ (Key to Success) การทำให้เกิดความไว้ใจ ให้ข้อมูล และวิธีการโน้มน้าวใจร่วมแก้ไขปัญหาของแต่ละคน เป็นสิ่งที่ยาก”

 

 

 

พี่เลี้ยงการเงิน จิตอาสา
สร้างเกราะความมั่นคงการเงินให้คนไทย

รุ้งลาวัลย์ สกุลมาลัยทอง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าถึงจุดสนใจที่เข้าร่วมโครงการพี่เลี้ยงการเงินเกิดจากการต้องการมีความรู้การวางแผนทางการเงิน เพื่อพัฒนาทักษะการวางแผนชีวิต มีความมั่นคงก่อนเกษียณให้กับตัวเอง ใช้เวลาอบรมยาวนานจนเกิดความเข้าใจ จนทำให้มีความพร้อมวางแผนตัวเองในวัยเกษียณ จึงคิดถึงการเดินตามความฝันกับเป้าหมายต้องการใช้ความรู้เป็นอาจารย์ ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผุู้อื่นในวัยหลังเกษียณได้ เมื่อมาเติมเต็มความรู้การเงิน ที่มีทั้งด้านฮาร์ดไซด์และซอฟต์ไซด์ ช่วยให้เข้าใจ ปัญหาคน มองเห็นโอกาสเข้าไปแก้ ช่วยเหลือคนได้จำนวนมาก

“ส่วนตัวมีเป้าหมายชีวิตหลังเกษียณ อยากเป็นครูอาสา แต่โครงการพี่เลี้ยงการเงินมาช่วยเติมเต็มความรู้ให้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นส่งต่อความรู้ทางการเงิน ช่วยการวางแผนการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ภาษี จัดการหนี้ ให้มีความมั่นคงทางการเงิน อย่างน้อยให้เค้าตั้งเป้าหมายชีวิตให้มีความมั่นคง มีการวางแผนเกษียณอย่างมีความสุข หรือได้ปลดหนี้มีรอยยิ้ม มีความมั่นคงทางการเงินก็ถือว่าเราได้บุญแล้ว”

หลังจากเริ่มต้นเป็นพี่เลี้ยงการเงินตั้งแต่ปลายปี 2566 รับผู้มีปัญหาทางการเงินมา 5 เคส ยอมรับว่าการเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น ยากและท้าทายกว่าการวางแผนให้ตัวเอง เพราะจะต้องมีกระบวนการเริ่มต้นจากทำให้เปิดใจ จึงจะทำให้ผู้เข้าโครงการกล้าบอกเล่าปัญหาที่แท้จริง ให้กับผู้ที่ไม่เคยรูัจักและสนิทมาก่อน นี่คือกลไกที่นำไปสู่การค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการเป็นหนี้ และมีภาระทางการเงิน “หลังจากเข้าไปช่วยวางแผนผู้มีปัญหาหนี้สินที่ค้าง ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายซึ่งมาจากไลฟ์สไตล์ ทัศนคติและพฤติกรรมเดิม ต้องใช้เวลาปรับพฤติกรรมร่วมกัน และติดตามผลตลอด 1 ปี หรือมากกว่านั้น”

 

 

 

ส่งต่อ บทเรียนปลดหนี้หลักล้าน สู่สังคมไทย

ปถวี แสงเวียน ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เล่าถึงชีวิตที่สามารถหลุดจากกับดักหนี้หลักล้านได้ ด้วยองค์ความรู้การวางแผนทางการเงิน จากโครงการพี่เลี้ยงการเงิน ก่อนที่จะพบโครงการ มักเคยคิดว่าปัญหาทุกอย่างจัดการได้ด้วยตัวคนเดียว ไม่ต้องการปริปากบอกรายรับรายจ่าย ต้นทุนการเงินของชีวิตให้กับใคร จึงทำให้เงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จนต้องติดบ่วงของการต้องคิดถึงการจ่ายค่างวด หนี้นอกระบบและในระบบ พัวพัน จนทำให้เกิดทุกข์

ชีวิตถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเข้ามารู้จักกับการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบทำให้เข้าใจวิธีการจัดลำดับการชำระหนี้เร่งด่วน การรวมหนี้ พร้อมกันกับหารายได้เสริมให้ชดเชยภาระหนี้ จนเห็นความเปลี่ยนแปลงยอดหนี้ค่อย ๆ ลดจำนวนลง จนหลุดพ้นภายในเวลา 3 ปี

เขาเชื่อว่าวิธีการที่ทำให้เขาหลุดกับดักหนี้และการจัดระเบียบวินัยทางการเงินที่ผ่านพ้นวิกฤตมาได้นั้น องค์ความรู้คือสิ่งสำคัญ จึงควรจะขยายเป็นวิทยาทาน บอกเล่าเรื่องราว และบทเรียนไปสู่คนที่กำลังติดบ่วงหนี้เหมือนเขาให้หลุดพ้นได้ จึงสมัครเป็นพี่เลี้ยงการเงินจิตอาสา เข้าไปช่วยปลดทุกข์ทางการเงินให้ผู้อื่น

“ในช่วงเป็นหนี้รู้สึกไม่สบายใจ กังวล ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ ต้องไปหยิบยืมคนจนเป็นหนี้นอกระบบ แต่พอปลดภาระหนี้ได้รู้สึกโล่งและสบายใจ สามารถควบคุมวางแผนค่าใช้จ่ายได้ จึงอยากจะถ่ายทอดวิธีเหล่านี้ให้คนอื่น เพราะเชื่อว่าคนอย่างผมนั้นมีเยอะ แต่ไม่แสดงตัวตนออกมาชอบแบกความทุกข์ปัญหาไว้คนเดียว ดังนั้นต้องมีเพื่อนคู่คิด ที่คุยกันรู้เรื่อง คนแบบเดียวกัน คนเป็นหนี้เหมือนกัน ย่อมเข้าใจกัน” เขาเล่าถึงแรงบันดาลใจ

เป้าหมายในชีวิตในปัจจุบัน จัดระบบได้หมดแล้ว สามารถบริหารจัดการเตรียมตัวเกษียณ บั้นปลายชีวิตตั้งใจทำหน้าที่จิตอาสาพี่เลี้ยงการเงิน ถ่ายทอดวิธีคิดให้หลุดจากกับดักหนี้ มีเงินออม มีความมั่นคงในชีวิต “การมีความรู้การวางแผนทางการเงินจะช่วยสังคมไทยได้อีกมาก เพราะในยุคนี้ เงินเฟ้อ มูลค่าเงินน้อยลง ดังนั้นต้องรู้จักบริหารเงินให้เกิดประโยชน์ และส่งต่อความรู้ให้คนข้าง ๆ เพื่อนฝูง และคนอื่น ๆ ในสังคม”

องค์กรที่สนใจสร้างพี่เลี้ยงการเงิน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ www.set.or.th/happymoney