สัญญาไทยในเวที COP28 ดัน พ.ร.บ.Climate Change รักษาความมั่นคงอาหาร

by ประกายดาว แบ่งสันเทียะ บรรณาธิการ , 26 ธันวาคม 2566

เปิดคำสัญญาไทยในเวทีCOP28 คุมปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดปี2025 ดันพ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คุมปล่อยคาร์บอน หนุนระดมทุน1แสนล้านเหรียญต่อปีเปลี่ยนผ่านประเทศพัฒนา รุกนำร่องปลูกข้าวทนทานทุกสภาวะสู้โลกร้อน รักษาฐานมั่นคงทางอาหาร

 

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 28 (Conference of the Parties ครั้งที่ 28) ณ ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นเวทีช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566

 

 

เวทีการประชุม COP28 คือ ความหวังของมวลมนุษยชาติ ที่จะต้องขอฉันทามติจากสมาชิกกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลกไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส(C)เป็นจริง เนื่องมาจาก การรายงาน ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (IPCC) ระบุว่า ที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 1.1-1.2 C เมื่อเทียบกับชี่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความแปรปรวนสภาพอากาศและภัยพิบัติ ไฟป่า น้ำท่วม พายุ และความแห้งแล้งทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนับล้านล้านเหรียญ

ปรากฎการณ์การรวมตัวของ สมาชิกภาคีกว่า 200 ประเทศ , ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีมากกว่า 100 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ที่รวมมูลค่าธุรกิจราว 4 ล้านล้านเหรียญ พนักงานราว 12 ล้านคน, ตลอดจนภาคประชาสังคม รวมถึงผู้นำทางจิตวิญญาณ มารวมตัวเพื่อขับเคลื่อนไปสู่วาระสำคัญของโลก


พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ตัวแทนจากประเทศได้ ได้เข้าร่วม การประชุมระดับสูง (High-level Segment) ของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ไปประกาศจุดยืนประเทศไทยพร้อมดำเนินการตามข้อตกลงจากทุกประเทศร่วมกันลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง

"โลกใบเดียวของเราส่งสัญญาณแล้วว่า ปี 2023 กำลังจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุด ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันลงมือทำ เพื่อให้ลูกหลานของเรามีโลกใบนี้ที่อาศัยอยู่ได้ต่อไป คนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนมากขึ้น และประเทศไทยยืนยันว่าได้ทำตามสิ่งที่ได้ให้คำมั่นไว้ เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานภายในประเทศที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมรวมถึงพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อยกระดับการดำเนินงานต่อไป”

 


สัญญาปล่อยก๊าซสูงสุดปี2025
ดันพ.ร.บ.Climate Change ลดคาร์บอน


สำหรับแผนการดำเนินงาน ประเทศไทยได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ค.ศ. 2030 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ภายในปี ค.ศ. 2025 และจะต้องปรับเปลี่ยนระบบนิเวศเศรษฐกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ รัฐบาลไทย ยังได้เร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว โดยมีกลไกการเงินที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์อย่างเป็นระบบ รวมไปถึงการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบหลักในการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และจะสนับสนุนเปาหมายระดับโลกด้านการปรับตัว

“มีการผลักดันพรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอน และจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ให้ปรับตัวสอคดล้องกับเป้าหมายระดับโลก”

 

ระดมทุน 1แสนล้านเหรียญในปี 2025
เปลี่ยนผ่านไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการผลักดันตัวอย่างของการปรับตัวในภาคเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ทั้งนี้ ประเทศไทย พร้อมสนับสนุนแผนการระดมเงิน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2025 เพราะเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำให้บรรลุเป้าหมายของประเทศกำลังพัฒนา

“ประเทศไทย มีความยินดีที่จะได้เห็นความชัดเจนของกองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหาย ใน COP28 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประเมินสถานการณ์การดำเนินงานระดับโลก จะสะท้อนให้เห็นเส้นทางสู่ 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายของความตกลงปารีส”

 

 

ประธานCOP28ประกาศ
วาระ In Action ลงมือทำจริง

ดร.สุลต่าน บิน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบรรษัทบริหารธุรกิจน้ำมัน เป็นประธานการประชุม และมีรัฐบาลกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม

โดยประธานCOP28 แม้จะถูกวิจารณ์เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับต้น ๆ ของโลก และยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบรรษัท บริหารธุรกิจน้ำมัน เชื้อเพลิงฟอสซิล ต้นเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ซึ่งประธานCOP ได้ให้คำสัญญาไว้กับการประชุมที่ดูไบครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งใด เพราจะนำไปสู่การปฏิบัติ ลงมือทำจริง

“ฉันสัญญากับ COPครั้งนี้จะไม่เหมือน COP ครั้งอื่น ๆ ครั้งนี้จะเป็นการที่นำทุกคนมารวมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ผู้นำศรัทธา เยาวชน และชนพื้นเมือง ทุกคนมารวมกันตั้งแต่วันแรก ทุกคนรวมตัวกันลงมือปฏิบัติ และส่งมอบการปฏิบัตินั้นให้เห็นผลเปนรูปธรรม Everyone United, acted and delivered.”

สำหรับข้อสรุปจากการประชุม COP28 มีการประชุมมีข้อสรุป ประเด็นสำคัญที่ประเทศภาคีอนุสัญญา ทำพันธสัญญาความตกลงชาติสมาชิกเกือบ 200 ประเทศ ในการแก้ไขปัญหา ตามที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (IPCC) ได้ เป้าหมายการคงอุณหภูมิโลก จะต้องควบคุมอุณหภูมิไม่สูงเกิน 1.5องศาเซลเซียส(C) ภายในปี 2030 หลังจากที่ที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึง 1.1-1.2 C มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นไปถึง 2.5C ในปี 2100 แม้นานาชาติจะให้คำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยมลพิษ แต่โลกยังมีความเสี่ยง ในการจำกัดความร้อนบนโลก

 

7 ข้อตกลง สู่ลงมือปฏิบัติ

ในเวที COP28 จึงต้องมีการทำข้อตกลง จากประเทศสมาชิกได้ร่วมทำฉันทามติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE Consensus) ‘เปลี่ยนผ่าน’ (transition away from fossil fuel) การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อไม่ทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเลวร้ายลงไปกว่านี้ โดยมีสรุปเป็นมติ ดังนี้

1. เร่งดำเนินการเปลี่ยนไปสู่แหล่งพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อน เพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (NET ZERO) ในปี 2593
2. พลิกโฉมการเงินสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศให้ประเทศที่ยากจนและดำเนินการในข้อตกลงใหม่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา
3. มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบต่อธรรมชาติและผู้คน
4. COP28 เป็นการประชุมที่ครอบคลุมในประเด็นปัญหามากที่สุด
5. จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติ (Nationally Determined Contributions-NDCs) สำหรับทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ
6. เพิ่มพลังงานหมุนเวียน 3 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2573
7. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2 เท่าภายในปี พ.ศ. 2573
หลังการประชุม COP28

สำหรับความตกลงในรายละเอียดที่นำมาสู่มตินั้นเกิดแนวคิดของการตระหนักรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก พร้อมกันกับจัดทำกรอบการดำเนินงาน เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้ คือ


1.ยอมรับว่าที่ผ่านมาความร้อนของอุณหภูมิโลก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ ดิน น้ำ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงต้องมีการบริหารในพื้นที่ให้ยั่งยืน ทนต่อสภาพแล้ง และฟื้นคืนความสมบูรณ์ของมหาสมุทร การแก้ไขปัญหาของ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change)
จึงต้องดำเนินการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ, ระดับภูมิภาค ท้องถิ่น รวมถึงพันธมิตรที่เป็นอิสระ มีการรวมตัวสร้างพันธสัญญารักษาทรัพยากร โดยมีเครื่องมือมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดแผน NDCs ให้เดินไปสู่เป้าหมาย

2.ปรับรูปแบบแผนระดมทุนทางการเงินเพื่อลงทุนด้านสภาพอากาศและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจากงบประมาณภายในประเทศ ธนาคารพัฒนา องค์กรด้านการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ตัวแทนการพัฒนา ภาครัฐ เอกชน นักสังคมสงเคราะห์ ดึงเข้ามาสร้างความร่วมมือขนาดใหญ่ระดับโลก เพื่อร่วมมือกันปกป้องโลก ฟื้นฟูระบบนิเวศ

3.เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เปลี่ยนผ่านโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมือง ผู้หญิง เด็ก และกลุ่มเปราะบาง จะต้องได้รับการเคารพในสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วม

4. ส่งเสริมการสร้างความร่วมมอข้ามภาคส่วน สร้างสังคมโลกที่ไร้ขอบเขตประเทศ ศาสนา เขื้อชาติ เพื่อรวมพลังความร่วมมือกันวางกลยุทธ์และแผนการฟื้นฟูดินและความหลากหลายทางชีวภาพ

5.ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือวางแผน อออกแบบกลยุทธ์ โดยการรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจัดการความยั่งยืน ในพื้นที่ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการวางกรอบ วิธีการ สร้างกรอบการทำงานที่ชัดเจน มีการแบ่งปันข้อมูลจากประเทศสมาชิก เพื่อบรรลุเป้าหมาย