WEF วัดคุณภาพเศรษฐกิจไทยรั้งอันดับ 51 เกณฑ์ตัดสิน4 มิติ ไทยอ่อนยั่งยืน-ยืดหยุ่น

by ESGuniverse, 24 มกราคม 2567

เวทีเศรษฐกิจโลกกรุงดาวอสปี 2024 ให้ไทยรั้งอันดับ 51 จาก107 ประเทศ เกณฑ์ประเมิน 4 มิติ ไทยเด่นนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานคาบเส้น ขณะที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นยังสอบตก แนะวางกลยุทธ์ยกระดับคุณภาพการศึกษา ทักษะแรงงาน เกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม สร้างความสามัคคี ฟื้นความเชื่อมั่นรัฐ สุดท้ายสร้างธุรกิจ ESG ตอบโจทย์ระยะยาว

 

ท่ามกลางผลกระทบทางเศรษฐกิจ สภาวะสงครามและสัญญาประชาคมที่อ่อนตัวลง ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายและเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนการพัฒนา และการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้รอดพ้นจากการคาดการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่จะลดตัวลงต่ำสุดในรอบสามทศวรรตในปี 2030

การประเมินทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเสี่ยงรออีกข้างหน้าในอีก 7 ปีข้างหน้า

 

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) เข้าร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มกราคมที่ผ่านมา ณ กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีการจัดทำรายงานอนาคตการเติบโต ประจำปี 2567 (The Future of Growth Report 2024) เพื่อวัดคุณภาพการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จาก 107 ประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างสมดุล และยั่งยืน พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก

ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) เปิดเผยถึงผลการเข้าร่วมการประชุมจากเวที World Economic Forum (WEF) พบว่าการสำรวจและ วิเคราะห์ทิศทางการเติบโตในอนาคต ( The Future of Growth Report 2024) พบว่าไทยอยู่อันดับ ที่ 51 จาก 107 ประเทศทั่วโลก โดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณ การให้คะแนนจากองค์ประกอบใน 4 มิติแห่งการเติบโตของประเทศ ในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2023

โดยหลักเกณฑ์การประเมินจากปัจจัยในการวัดการเติบโตทั้ง 4 มิติ ประกอบด้วย

ด้านความเป็นนวัตกรรม (Innovativeness) คือปัจจัยในการใช้นวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้าภัยคุกคามหรือความเสี่ยง และนำใช้เป็นตัวช่วยในการปรับตัวพัฒนาขับเคลื่อนยุคใหม่

ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness) การวางโครงสร้างการบริการที่เอื้อต่อการใช้สาธารณะประโยชน์ให้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่ครอบคลุมแค่เพียงสิ่งปลูกสร้าง แต่ครอบคลุมไปถึงด้านการบริการสาธารณสุข

ด้านความยืดหยุ่น (Resilience) คือ การปรับตัวต่อสภาวะภัยคุกคามและความเสี่ยงที่ไม่แน่นอน ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น โรคระบาด ความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น

ด้านความยั่งยืน (Sustainability) คือ การพัฒนาอย่างสมดุลทั้งสิ่งแวดล้อม คน สังคม ให้เติบโตควบคู่กัน จึงจะทำให้สร้างมูลค่าขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต มั่นคงและยั่งยืน ในอนาคต


ผลการประเมิน พบว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเมื่อเทียบกันกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่แบ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จนถึงกลุ่มมีรายได้ระดับบน พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง อยู่ในอันดับที่ 51 จาก 107 ประเทศ โดยนำทั้ง 4 มิติ มาวัดระดับพบว่า

-นวัตกรรม (Innovativeness) ไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก
คะแนน 47.94 สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 45.2 และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน อยู่ที่39.3 สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นของไทยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม

-โครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness)ไทยคาบเส้น

คะแนน 55.66 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับ ค่าเฉลี่ยโลก อยู่ที่ 55.9 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน อยู่ที่ 54.8 แสดงให้เห็นว่าไทย ยังคงดำเนินการเพื่อการเติบโตที่เป็นธรรมและรวมทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน

-ด้านความยืดหยุ่น (Resilience) ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย
คะแนน 51.5 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก อยู่ที่ 52.75 ถือว่าต่ำกว่าเล็กน้อย  แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้บ่านกลางระดับบน อยู่ที่ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการตอบสนองและฟื้นฟูจากวิกฤติต่าง ๆ ได้พอประมาณและควรมีการพัฒนาในด้านนี้ต่อไป

-ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
ไทยมีคะแนนต่ำถึง 40.84 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก อยู่ที่ 46.8 และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน อยู่ที่ 44.0 จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยให้เพิ่มมากขึ้น

 

5 ปัจจัย หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจครบมิติ

นอกเหนือจาก 4 ข้อที่กล่าวไปด้านบนแล้ว ยังประกอบอีก 5 ปัจจัยที่นำมาคิดคะแนนเสริมกันซึ่งเป็นมิติสำคัญที่เข้ามามีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีดังนี้

     -Talent ในเรื่องของคน ความมีทักษะของประชากร
     -Resource ในเรื่องของการเกื้อหนุนด้านทรัพยากร
     -Financial ในเรื่องของกองทุนหรือความช่วยเหลือด้านการเงิน
     -Technology ในเรื่องของการครอบคลุมของเทคโนโลยี พัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล
     -Instructional ในเรื่องของสถาบันที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาระบบนิเวศทางธุกิจให้แต่ละปัจจัยสามารถเติบโตได้

 

 

เร่งยกระดับสร้างอนาคตไทย

ปั้นคนคุมAI ลดเหลื่อมล้ำ

ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ได้กล่าวเสริมว่า อนาคตเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับอดีตที่เราทำไว้ ในส่วนของคะแนนที่วัดจากปัจจัยที่ในการเติบโตทั้ง 4 ข้อ นำมาคิดคำนวณผ่านปัจจัยเสริมทั้ง 5 ข้อแล้ว ประเทศไทยอยู่ตรงจุดไหน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวัดกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ทางด้านความเป็นนวัตกรรม อยู่อันดับที่ 51 จาก 107 ประเทศ และเป็นอันดับ 7 ของอาเซียน นับได้ว่าดีเกินครึ่ง

“แม้ว่าคะแนนดีแต่ได้ไม่เยอะ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศรายได้สูงนานาประเทศมีโอกาสสร้างนวัตกรรมมากกว่าประเทศรายได้น้อยกว่าถึง 2 เท่าตัว ประเทศไทยส่วนมากเป็นผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาคือเราต้องเป็นผู้สร้างบ้าง อธิบายอย่างเห็นภาพได้ว่า เราไม่ได้สู้กับAI-Artificial Intelligence (ปัญญาประดิษฐ์) แต่เราต้องสู้กับผู้สร้างAIให้ได้”

สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ประเมินการพัฒนาครอบคลุมด้านการกระจายความเจริญเติบโตให้ทั่วถึง อยู่อันดับที่ 53 จาก 107 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 6 ของเอเชีย

“ไทยมีความพร้อมทางด้านการลงทุนโครงข่ายการบริการไฟฟ้า ระบบไอที และสุขภาพ”

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องพัฒนาการลงทุนเพิ่มเติมคือการลดช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยคะแนนด้านความไม่เท่าเทียม อยู่ที่ 3.0/100 เป็นคะแนนที่ต่ำมาก

“ประเทศไทยถือว่ามีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนค่อนข้างมาก ทำให้สัดส่วนคนรวยกระจุกคนจนกระจาย ส่งผลต่อการกระจายรายได้ทำให้ได้คะแนนน้อย” ดร.วิเลิศกล่าว

ทางด้าน ความยั่งยืน ประเทศไทยเกือบรั้งท้าย อยู่อันดับที่ 88 จาก 107 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 8 ของเอเชีย คะแนนอาจจะไม่ได้ดีนักแต่เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งโลก แต่ไม่ถึงกับแย่เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชีย

“ไทยจะต้องมีการปรับปรุงด้านความยั่งยืนในหลายมิติ ที่จะต้องพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว เพื่อสร้างการเติบโตกระจายรายได้คนทุกกลุ่มในอนาคต ความยั่งยืนคือการมองระยะยาว ณ ตอนนี้ประเทศไทยยังขาดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการจัดลำดับความสำคัญ ต้องกระตุ้นคุณภาพการศึกษา เพิ่มคุณภาพแรงงาน เอื้อต่อเกษตร ไม่กระทบต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเข้าใจบริบทของสังคม สร้างความสามัคคี รวมถึงเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐ เพื่อสร้างธุรกิจตามหลัก ESG ที่ตอบโจทย์และยั่งยืนต่อไปได้ในระยะยาว”

ส่วนในด้านการปรับตัวยืดหยุ่นต่อสถาณการณ์ที่เกิดความไม่แน่นอน ไทยอยู่อันดับที่ 57 จาก 107 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 8 ของเอเชีย เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยปรับตัวได้ไม่ค่อยดีมากนัก

“เราต้องมุ่งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับกับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงได้ ในส่วนของคะแนนความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร ประเทศไทยได้ 100 คะแนน แต่ในด้านของความเป็นหนึ่งทางสังคมเราได้คะแนน 0.0 จากช่วงที่เก็บข้อมูล ณ เดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2023 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจึงอาจจะไม่ชัดเจนนัก”


4 ทางออกแก้เพนพอยท์ เติบโตสมดุล

ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ยังได้กล่าวสรุปถึงกลยุทธ์สร้างการเติบโตให้กับประเทศ (Holistic Future Growth Strategies) ที่เป็นการเติบโตแบบสมส่วนและสมดุล ทั้ง 4 ข้อ ได้แก่

Innovativeness : ให้ความสำคัญกับกฏระเบียบและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา, ให้ความสำคัญกับการจดเครื่องหมายทางการค้า รวมถึงให้ความสำคัญกับแรงงานที่มีความรู้ในทุกๆภาคส่วนเพื่อป้องกันแรงงานไหลออกนอกประเทศ

Inclusiveness : ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสิทธิเสรีภาพ ด้วยการเพิ่มคุณภาพการงานอาชีพ ด้านการศึกษา เพิ่มแรงงานในหลายๆระดับรวมไปถึงการกระจายความรู้ พัฒนาศักยภาพแรงงานไทย, เพิ่มงบประมาณในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงลดหนี้นอกระบบ

Sustainability: ออกกฏหมายคุ้มครองธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน, ผลักดันกลยุทธ์การทำ ESG ในทุกๆด้านเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว, เพิ่มการลงทุนในส่วนของพลังงานทดแทน และเพิ่มคุ้มครองสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและคุณภาพของแหล่งน้ำ มุ่งหน้าแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไปพร้อมๆกันอย่างครอบคลุม

Resilience: สนับสนุนการฝึกทักษะให้กับแรงงานระดับกลาง, ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ และ เพิ่มจำนวนเตียงให้กับโรงพยาบาล, สร้างความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐ และ สร้างความสามัคคี ทลายความคิดที่แตกแยกทางการเมือง