เปิดกลยุทธ์ยั่งยืน SCG ปี 67 เปลี่ยนผ่าน 6 ธุรกิจสู่ผู้นำธุรกิจสีเขียว

by ESGuniverse, 29 มกราคม 2567

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ เอสซีจี ทุกกลุ่มธุรกิจเร่งเครื่องสร้างการเติบโตทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ตั้งงบลงทุน 40,000 ล้านบาท ขับเคลื่อนทั้ง 6 ธุรกิจสู่สังคม Net Zero

ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย, บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้, พลังงานสะอาดครบวงจร, นวัตกรรมเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงจากโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลล์, การส่งออกปูนคาร์บอนต่ำสู่อเมริกา และปักหมุดซาอุฯ เชื่อมต่อการค้าทั่วโลก มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจกรีนที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างสังคมรักษ์โลกอย่างยั่งยืน

หลังจากแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามกรอบ ESG สมดุล สิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social), ธรรมาภิบาล (Governance) ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งกิจการ และสังคมโดยรวม มีการลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่ในรูปของแสวงหาผลกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการเห็นการดำเนินธุรกิจควบคู่กับเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเป้าหมายการดำเนินธุรกิจนั้นหมายถึงเป้าหมายของความยั่งยืนทั้งโลกที่สอดคล้องกันกับ กรอบการพัฒนาโลกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) ทั้งหมด 17 ข้อ

“เอสซีจี” ดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาตลอดระยะเวลากว่า 109 ปีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2456 ตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันเอสซีจีขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาค อาเซียน มีบริษัทย่อยมากกว่า 200 บริษัท พนักงานมากกว่า 57,000 คน นับเป็นหนึ่งใน กลุ่มบริษัทชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนที่เติบโต อย่างยั่งยืน

พัฒนาธุรกิจมุ่งสร้างคุณค่า ใน 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มุ่งยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการทุกกลุ่ม, ธุรกิจเคมิคอลส์ (SCGC) สร้างสรรค์ “นวัตกรรมเคมีภัณฑ์” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของภูมิภาค และธุรกิจแพคเกจจิ้ง (SCGP) มุ่งเป็นผู้นำด้านโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาค ควบคู่กับดำเนินธุรกิจยั่งยืนตามแนวทาง ESG ทำให้นักลงทุนทั่วโลกให้การยอมรับ เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตระยะยาว จนได้รับการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนชั้นนำโลก ESG Industry Top Rated อันดับที่ 1 จาก 125 บริษัทในกลุ่มสินค้า Industrial Conglomerates ทั่วโลก

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนว่า การดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจสร้างความยั่งยืน ESG 4 Plus ประกอบด้วย มุ่งสู่ Net Zero - Go Green - Lean เหลื่อมล้ำ - ย้ำร่วมมือ - ภายใต้เชื่อมั่น - โปร่งใส” มุ่ง Net Zero คือการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 20% ภายในปี 2573 เอสซีจีสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.13 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็น 12.05% โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ เช่น พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ฯลฯ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนวิจัยและลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น นำปัญญาประดิษฐ์ (AI Supervisory for Energy Analytics) มาใช้ รวมถึงเทคโนโลยีดักจับหรือ กักเก็บคาร์บอน (CCUS) เพิ่มพื้นที่สีเขียว

Go Green -เอสซีจีตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินค้า บริการ และโซลูชันที่ได้ฉลาก SCG Green Choice เป็น 67% ภายในปี 2573 และ 100% ของบรรจุภัณฑ์ ของ SCGP (ธุรกิจแพคเกจจิ้ง) สามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ ภายในปี 2593 โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างหลากหลาย รวมทั้งขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด ด้วยการจัดตั้งบริษัท SCG Cleanergy ให้บริการโซลูซันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และลม ทั้งในไทยและต่างประเทศ และขับเคลื่อนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น CPAC Green Solution เพื่อส่งมอบโซลูชันการก่อสร้างที่ลดการใช้พลังงาน ลดของเสียและหมุนเวียนของเสียกลับมาใช้ใหม่

Lean เหลื่อมล้ำ -เอสซีจีตั้งเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 50,000 คน ในปี 2573 ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้แก่ชุมชนและ SMEs เช่น อาชีพพนักงานขับรถบรรทุก โดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ อาชีพ ช่างปรับปรุงบ้าน โดย Q-Chang (คิวช่าง) อาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักบริบาลผู้สูงอายุ ผ่านทุนการศึกษาจากโครงการ Learn to Earn โดยมูลนิธิเอสซีจี อาชีพผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านโครงการพลังชุมชน ตลอดจนให้สินเชื่อร้านค้าช่างและผู้รับเหมารายใหญ่ผ่านแพลตฟอร์ม Siam Saison และช่วยเหลือ SMEs ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ให้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม NocNoc.com และ Prompt Plus โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับโครงการ "รักษ์ภูผามหานที" ซึ่งดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องสามารถช่วยเหลือชุมชนเรื่องการบริหารจัดการให้มีน้ำใช้ตลอดปี โดยการสร้างฝายในพื้นที่เครือข่ายชุมชน ทำให้ในปี 2565 มีจำนวนฝายสะสม ทั้งหมด 115,000 ฝาย เอสซีจียังฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบนพื้นที่แห้งแล้งบนเขายายดา จังหวัดระยอง ต่อเนื่องมากว่า 10 ปีจนเกิดเป็นระบบจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ย้ำร่วมมือ-มุ่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อน ESG กับหน่วยงานระดับประเทศ ภูมิภาคอาเซียน และระดับโลก เพื่อขยายผลครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า และสังคมในวงกว้าง เช่น ร่วมกับ PPP Plastic จัดการขยะ พลาสติกเพื่อนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ร่วมกับไปรษณีย์ไทย และองค์กรเภสัชกรรมในโครงการ "ไปรษณีย์ reBOX" รีโซเคิลกล่องกระดาษรีไซเคิล และร่วมกับศุภาลัยและ SC Asset นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง ฉลาก SCG Green Choice ใช้ในโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมกว่า 100 โครงการ เป็นต้น

จากการมุ่งกลยุทธ์ยั่งยืน 4 Plus ส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานเอสซีจี ในปี 2566 ยังมีกำไรเพิ่มขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลก จีน และอาเซียนชะลอตัว ตลาดปิโตรเคมียังอ่อนตัว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง โดยมีรายได้รวมมูลค่า 499,646 ล้านบาท ลดลง 12 % เมื่อเทียบจากปีก่อน แต่มีกำไรเพิ่มขึ้น 21% ซึ่งเป็นผลมาจากการมุ่งเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียว ที่มีมูลค่าสูง หลังจากมุ่งเน้นการลงทุนนวัตกรรมรักษ์โลก, พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆ กลุ่มธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง

 "แม้ว่ายอดขายของทาง เอสซีจี จะลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทางบริษัทยังคงมองไปถึงการลงทุนธุรกิจสีเขียวที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมโลกมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งทรานส์ฟอร์มโครงสร้างธุรกิจ สร้างความเติบโต แข็งแกร่ง เน้นลงทุนนวัตกรรมรักษ์โลก, พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆกลุ่มธุรกิจ”

แผนปี 2567 ทุ่มทุน 4 หมื่นลบ.
เคลื่อน 6 กลุ่มธุรกิจโกกรีน

สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจในปี 2567 ทุกกลุ่มธุรกิจเร่งเครื่องสร้างการเติบโตอย่างเต็มที่ทั้งไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยนวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร เน้นบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ คว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการของไทย คาดว่าตลาดอาเซียนจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจกรีนที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจพร้อมสร้างสังคม Net Zero ที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

เอสซีจี ตั้งงบประมาณ การลงทุน 40,000 ล้านบาท เน้นลงทุนนวัตกรรมรักษ์โลก พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีความต้องการและเติบโตได้อีกมาก สะท้อนจากยอดขาย SCG Green Choice ปี 2566 อยู่ 54 %ของยอดขายทั้งหมด อีกทั้งเร่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-Value Added Products & Services – HVA) เชื่อมั่นสามารถเพิ่มความหลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้าตรงใจ ฉับไว พร้อมเร่งทรานส์ฟอร์มโครงสร้างธุรกิจตามกลยุทธ์สร้างความคล่องตัว แข็งแกร่งและเติบโตระยะยาว เพื่อรับความท้าทายต่าง ๆ ให้ทันท่วงที ใน 6 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจเคมิคอลส์ หรือ SCGC

ผลักดันนวตกรรมพลาสติกรักษ์โลก ‘SCGC GREEN POLYMER’ ให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี 2573 และเร่งขยายนวัตกรรมพลาสติกสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แบ่งได้เป็น 1.โพลิเมอร์(Polymer) เพื่อผลิตรถยนต์น้ำหนักเบา แข็งแรง ช่วยประหยัดพลังงาน 2.อะเซทิลีนแบล็ก(Acetylene Black) ใช้ใส่เข้าไปในขั้ว Cathode(Active Metherial) คาดแล้วเสร็จครึ่งแรกในปี 2026 นอกจากใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถใช้กับเคเบิลไฟฟ้าแรงสูงได้อีกด้วย

ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน

เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทน 40 % นำเสนอโซลูชั่นการออกแบบอาคารที่ช่วยคำนวณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้างด้วยแพลตฟอร์ม ‘KITCARBON’ และเดินหน้าส่งออกปูนคาร์บอนต่ำสู่ประเทศอเมริกา ที่ลดการปล่อย co2, ลดการใช้ถ่านหินลง 86% และลดการใช้ไฟฟ้าลง 38% โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับปูนพอร์ตแลน

ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง

บริหารจัดการต้นทุนพลังงาน ปรับใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต เช่น สมาร์ทโซลูชันเพื่อผู้อยู่อาศัย ประหยัดพลังงาน ห่างไกล PM2.5, SCG Solar Roof Solutions ที่มียอดขายค่อนข้างดีในช่วงที่ผ่านมา และพัฒนา SCG Air Scrubber ในประเทศไทย ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย ช่วยบำบัดอากาศเสียและประหยัดพลังงานจากระบบปรับอากาศได้สูงสุด 30% มุ่งสู่อสังหาฯ ประหยัดพลังงานในอนาคต

ธุรกิจดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล

ขยายความแข็งแกร่งครอบคลุมในไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงกลุ่มตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เช่น ภูมิภาค SAMEA(เอเชียใต้, ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา) ล่าสุดได้ตั้งสำนักงานใหญ่ ณ ประเทศซาอุดิอาราเบีย พร้อมบริหารจัดการตั้งแต่การหาแหล่งผลิตสินค้าจนถึงการสร้างตลาดส่งออกทั่วโลก ขยายธุรกิจและเจาะโครงสร้างขนาดใหญ่ (Giga Project) ร่วมสร้างสังคม Net Zero ผ่านทุกๆกลุ่มสินค้า

ธุรกิจเอสซีจี คลีนเอเนอร์ยี่

พลังงานสะอาดครบวงจร มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานสะอาดตามทิศทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของโลก มีจุดแข็งด้าน Smart Grid ช่วยให้การซื้อ-ขายพลังงานสะอาดสะดวกยิ่งขึ้น โดยมีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมหลายที่ในประเทศไทยและกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล ซึ่งในปี 2567 ได้มีการเตรียมขยายธุรกิจไปยังตลาดอาเซียน ทั้งในเวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียต่อไป

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือ SCGP

มุ่งนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม พร้อมทั้งขยายกำลังการผลิตและ M&P(Merger&Partnership) ในธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์, บรรจุภัณฑ์อาหาร และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Bio-Solutions ที่เป็นเมกะเทรนเติบโตสูง รับกับแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งออก โดยพัฒนาควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนและผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพ เพิ่มสัดส่วนการใข้พลังงานทางเลือกเป็น 35 % ของการใช้พลังงานทั้งหมด ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ESG พัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างความแข็งแรงของธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

Tag :