เจาะลึก 6 กลยุทธ์ เติบโตไร้ขีดจำกัด เคล็บลับฝ่าวิกฤติโลกผันผวน นำหน้าคู่แข่ง

by ESGuniverse, 7 กุมภาพันธ์ 2567

McKinsey เผยผลวิจัยค้นพบ 6 กลยุทธ์ CEO ผู้นำธุรกิจ ที่มีเพียง 1 ใน4 ที่อยู่รอดฝ่าทุกสมรภูมิวิกฤติโลกมาได้ไม่ว่าจะเป็นโควิด เงินเฟ้อ ภัยสงครามการเมือง รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศ โลกAI และความต่างสุดขั้วในวัฒนธรรมหลากหลาย จนเอาชนะคู่แข่งในตลาด

 

 

5 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาแห่งการทดสอบฝีมือในการบริหารธุรกิจของผู้นำองค์กร หรือ CEO เพราะเต็มไปด้วยบททดสอบ สร้างความแปรปรวนในการวางแผนการบริหารจัดการธุรกิจ เหตุการณ์มากมายในโลกที่เหนือการควบคุม ยากต่อการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนผลประกอบการที่เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โควิด-19 สงคราม ความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) ยังเข้ามามีส่วนในการทำลายล้างรูปแบบการทำงานและธุรกิจ นี่คือบทพิสูจน์ของการวางแผนตัดสินใจ พาองค์กรฝ่าหลุมดำจากความเสี่ยงต่างๆ ทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน

  

 

 ผลการวิจัยจากแมคคินซีย์ (Mckinsey) พบว่า ในช่วงวิกฤติทำให้ธุรกิจเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและภัยคุกคามหลากหลายด้าน มีบริษัทสัดส่วนไม่ถึง 1ใน 4 ของการสำรวจที่มีผลการดำเนินงานที่แซงหน้าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งด้านการเติบโตของรายได้และกำไร

 เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยพบว่า มีบริษัทหลายแห่งมักตัดสินใจวางแผนและทำเรื่องผิดพลาด ในช่วงที่เกิดภาวะเหตุการณ์วุ่นวาย จึงไม่อาจประครองตัวอยู่รอดได้ และผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่สามารถสร้างการเติบโตได้

 หลายบริษัทต้องตกอยู่ในคลื่นแห่งกระแสความผันผวนเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างล้มลุกคลุกคลาน บางบริษัทต้องถอดใจยอมแพ้หันหลังให้วงการไป

มีเพียงบริษัทกลุ่มหนึ่งใน 4 ที่มีความกล้าหาญ สามารถก้าวผ่านพ้นจุดทุกวิกฤติมาได้

 การวิจัยของ McKinsey บริษัทวิจัยระดับโลก ได้ถอดบทเรียนแนวคิดและการวางแผน 6 กลยุทธ์ ในการกล้าตัดสินใจ งัดศักยภาพภายในองค์กรสร้างการเติบโตให้ธุรกิจก้าวขึ้นมามีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง

สิ่งที่เป็นเส้นทางในการก้าวเดินทำให้ผู้นำองค์กรฉายภาพความโดดเด่นสร้างผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องโดดเด่นกว่าใครแม้ในภาวะวิกฤติ มีดังนี้

 

 

 

 

1.สร้างวัฒนธรรมและปลูกฝังทัศนคติด้านนวัตกรรมในองค์กร


“ การปลุกความความเป็นเลิศในการใช้นวัตกรรมช่วยให้บริษัทสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เหนือกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรม "

หากธุรกิจต้องการค้นหาการสร้างการเติบโตในพื้นที่ใหม่ กลุ่มธุรกิจใหม่ๆ จึงมีความจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยทำให้คนเป็นผู้ขับเคลื่อนผ่านการสร้างองค์กรนวัตกรรมได้ จึงต้องมีการสร้างวัฒนธรรมและปลูกฝังแนวความคิด ทัศนคติ ในการทำงานด้วยนวัตกรรม มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา(R&D) หรือ นำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการคิดวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน วิเคราะห์คู่แข่ง ส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับพนักงาน มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงสร้างวัฒนธรรมที่ก้าวข้ามออกจากพื้นที่คอมฟอร์ทโซน กล้าลองสิ่งใหม่ พัฒนาตลาดและสินค้าใหม่ รวมถึงคิดใหม่ ทำใหม่ในหลากหลายการทำงาน จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ สร้างการเติบโตใหม่มาสู่ธุรกิจ

 

 

 

 


2.รักษาคำมั่นสู่เส้นทางความยั่งยืน หลอมรวมการเติบโต


“ การรักษาการเติบโตของผลการดำเนินงานให้ยั่งยืนต้องครอบคลุม 3 เสาหลัก ”

“Triple Outperformers” การตามหาเป้าหมาย ESG Score ประกอบด้วย สร้างผลประกอบการที่ดีเหนือตลาด, มีกำไรที่ดีเหนือกว่าภาพรวมเศรษฐกิจ พร้อมกับการปรับกระบวนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับสมดุล ESG (สิ่งแวดล้อม, สังคม และ ธรรมาภิบาล) เป็นสิ่งสำคัญทำให้องค์กรมุ่งเป้าหมายสร้างการเติบโตสูงไปพร้อมกัน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2017-2021) มีเพียง 1 ใน 4 บริษัท มีผลการดำเนินงานเติบโตสูงเกินกว่า 10% ซึ่งมีธุรกิจกว่าครึ่งหนึ่งมีผลการดำเนินงานเติบโตดี ตามเป้าหมายเหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรม เพราะการสมดุล 3 เสา

 

 

 

 


3. สร้างคุณค่าจากฐานข้อมูล โดยการวิเคราะห์จาก AI

“ การเติบโตเริ่มต้นจากการเข้าใจคุณค่าของธุรกิจหลัก จะนำไปสู่ผลการดำเนินการที่ดี ปลดล็อกศักยภาพธุรกิจไปสู่โอกาสใหม่ๆ ที่จะขับเคลื่อนผู้คน สร้างความเปลี่ยนแปลงตลาด ด้วยการนำเสนอการบริการและสินค้าใหม่ ”

บริษัทเหล่านี้ทุ่มเททรัพยากรมากกว่าบริษัทคู่แข่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขายและการตลาดรวมไปถึงความพร้อมเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัล มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ( AI) มาช่วยวิเคราะห์ ข้อมูล ศึกษาพฤติกรรมลูกค้าให้ชัดเจน รวมถึงการช่วยค้นหาแนวทางการวางแผนธุรกิจให้แข็งแกร่ง มีความกล้าที่จะลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล สร้างคน สร้างทีม กระบวนการทำงาน และนำนวัตกรรมมาสร้างความเป็น”สถาบัน” จึงมีพลังในการดึงดูด ได้รับความไว้วางใจ และความเชื่อถือในตลาด และยังทำให้เกิดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแตกต่างจากคู่แข่ง เพราะมีความเป็นตัวตนในคุณค่าของธุรกิจชัดเจน

  

 

 

 


4. ขยายธุรกิจที่มีสิทธิ์ชนะ

“ ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ ต้องฉีกกฎรูปแบบเดิม ก้าวไปสู่เส้นทางการสร้างมูลค่าใหม่สร้างโอกาสมหาศาลกลับสู่ธุรกิจ ”

 

“ความพึงพอใจกับสิ่งเดิม คือ ศัตรูขัดขวางการเติบโต” นั่นคือเหตุผลที่บริษัทต่างๆ ไม่เคยหยุดที่จะแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่ฉีกกฎเกณฑ์รูปแบบเดิม หรือ ต่อยอดจากเดิม เพื่อสร้างผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพอย่างชาญฉลาด

ผู้นำธุรกิจ ที่เป็นผู้ไม่หยุดตามหาความสำเร็จใหม่อย่างต่อเนื่อง ก็เหมาะสมที่จะได้รับชัยชนะ ตลาดที่เข้าไปแข่งขัน พวกเขาจึงต้องค้นหาคำตอบของอัตลักษณ์เฉพาะตัวของธุรกิจที่ตอบโจทย์ลูกค้า หรือ ห่วงโซ่ธุรกิจ (Supply Chain) สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์แห่งคุณค่า ที่แข็งแกร่งให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจได้รับประโยชน์ร่วมกัน


หากค้นพบรูปแบบการทำธุรกิจอยู่บนหลักการแบ่งปันผลประโยชน์จะสามารถสร้างสรรค์คุณค่าได้หลากหลายช่องทาง การวิจัยในกลุ่มอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และการสื่อสาร ค้นพบว่าธุรกิจ 274 ราย มีผลประกอบการที่สูง เพราะสร้างการเติบโตตามหลัก TSR (Total Shareholder Return) สร้างผลตอบแทนสู่ผู้ถือหุ้น โดยตัวอย่างของธุรกิจที่ขยายกิจการไปถูกที่ถูกเวลา สามารถสร้างมูลค่าในธุรกิจใหม่ผ่าน 4 ด้าน คือ สร้างความรู้เฉพาะที่แก้โจทย์ปัญหาของลูกค้า, มีศักยภาพในการค้นพบสินทรัพย์ใหม่ สร้างลูกค้าใหม่ และสร้างห่วงโซ่คุณค่าจากต้นน้ำยันปลายน้ำ ให้เชื่อมต่อกัน และกล้าเปลี่ยนธุรกิจเก่าเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ที่ใช้นวัตกรรมออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่

 5. ลดขนาดธุรกิจเมื่อจำเป็นต่อกลยุทธ์ใหม่

“ การสละทิ้งภาระบางอย่างเพื่อขับเคลื่อนผลการดำเนินงานที่เหนือกว่าในอนาคตได้ ”

 บางบริษัท เส้นทางแห่งการเติบโตที่เหนือกว่านั้น เริ่มต้นด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้มีธุรกิจแยกตัวออกจากบริษัทแม่เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ในองค์กรให้สำเร็จ เพราะโครงสร้างธุรกิจเดิมไม่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนสิ่งใหม่ ไม่เท่าทันต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังจะเป็นอย่างไร กลยุทธ์ในการลดขนาดธุรกิจเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ต้องมีหลักการในการรักษาวินัยทรัพยากรการลงทุน ทั้งเงินทุนและทรัพยากรบุคคล ที่จะต้องไปช่วยผลักดันธุรกิจแห่งอนาคตจากการแยกส่วนไปสู่อนาคต

 บริษัทที่มีส่วนร่วมในการจัดการพอร์ตโฟลิโอแบบไดนามิกได้สำเร็จ จะมีส่วนสำคัญในการสร้างให้เกิดความเป็นเจ้าของธุรกิจ และสร้างประวัติการเติบโตที่ดีกว่า บริษัทที่เข้าซื้อกิจการ เพื่อก้าวเข้าสู่กลุ่มที่มีการเติบโตสูง ที่ยังขาดความได้เปรียบในการแข่งขัน

 

 

6. คนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจ

“ การสร้างความเป็นเจ้าของกิจการให้กับพนักงาน เป็นจุดเริ่มในการชับเคลื่อนการเติบโตที่มีประสิทธิภาพการทำงานที่เหนือกว่า ”

 ซีอีโอที่มีผลงานโดดเด่นไม่เพียงแต่มองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง การเติบโตอย่างทะเยอทะยานเท่านั้น แต่ยังระดมพนักงานจากกลุ่มผู้บริหารระดับสูงไปยังแนวหน้า สร้างทักษะ และความสามารถเพื่อสร้างคุณค่าอย่างรวดเร็ว

 บริษัทเหล่านี้ ส่งเสริมกรอบความคิดที่กล้าหาญและสร้างกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับธุรกิจ จะมีศักยภาพสร้างมูลค่าสูงสุด จะเกิดจากความคิดเห็นของพนักงานและปลูกฝังความเป็นเจ้าของกิจการ โดยมีการลงทุนในการพัฒนาทักษะ และเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญด้านการทำงาน ขณะเดียวกันมุ่งเน้นสร้างลูกค้าและระบบนิเวศภายนอกให้เติบโต รวมไปถึงการจัดการประสิทธิภาพที่เข้มงวด ผสมผสานทั้งแบบคล่องตัวและแบบดั้งเดิม ผ่านการสร้างพื้นฐานและ ประเมินผล(KPI) ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านประสิทธิภาพ

 เมื่อการเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จ สามารถสร้างความยืดหยุ่นทั่วทั้งองค์กร จะนำไปสู่การเติบโตที่เหนือกว่าอย่างต่อเนื่อง นี่คือเหตุผลว่า แม้บริษัทขาดแคลนเงินทุน ภาวะเศรษฐกิจผันผวน แต่ผู้นำสามารถฝ่าวิกฤติ นำพาองค์กรไปถึงเป้าหมายการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด และยั่งยืน หัวใจคือการรักษา กรอบความคิดแบบครอบคลุมทุกวงจร 

เพราะการเติบโตที่เหนือกว่าอย่างต่อเนื่อง..ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่มาจากการมี “ผู้นำที่มีความกล้า” ตัดสินใจอย่างชาญฉลาดพาองค์กรก้าวผ่านทุกอุปสรรค

 

ที่มา: https://www.mckinsey.com/capabilities/growth-marketing-and-sales/our-insights/courageous-growth-six-strategies-for-continuous-growth-outperformance