ธ.ก.ส. เปิดบิลคาร์บอนเครดิต ขับเคลื่อนต้นไม้เศรษฐกิจทำเงิน

by ESGuniverse, 9 กุมภาพันธ์ 2567

ธ.ก.ส.เปิดบิลขายต้นไม้นำรายได้สู่ชุมชน ผ่าน BAAC Carbon Credit ผลผลิตจากธนาคารต้นไม้ นำร่องบ้านท่าลี่ และบ้านแดง จ.ขอนแก่น ขับเคลื่อนซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตทำรายได้ 1.2 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 5.1แสนตันคาร์บอน ใน 5 ปี

 

หลังจากซุ่มปลูกต้นไม้ผ่านโครงการธนาคารต้นไม้ ผลักดันให้เกิดการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างมายาวนาน จนมาถึงวันที่การปลูกต้นไม้ นอกจากเก็บเกี่ยวผลผลิต กินและขายได้แล้ว ยังขายคาร์บอนเครดิตให้หน่วยงานรัฐได้ด้วย ผ่านโครงการ ในโครงการ BAAC Carbon Credit 2 หมู่บ้านนำร่อง คือ บ้านท่าลี่ และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น เป้นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนอื่นๆ เห็นถึงอานิสงส์ของการปลูกป่านั้นเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่เพียงให้ชีวิตยืนยาว ดีต่อสุขภาพของคนในชุมชน ทำเงินแล้ว ยังซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

 

 

 

 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า หลังจากธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ภายใต้โครงการ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้ จนปัจจุบันมีชุมชนธนาคารต้นไม้ 6,814 ชุมชน มีสมาชิก 124,071 คน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนในโครงการกว่า 12.4 ล้านต้น มูลค่าต้นไม้กว่า 43,000 ล้านบาท และการยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่า มีการนำต้นไม้ที่ปลูกมาแปลงเป็นสินทรัพย์ เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินและนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้/ป่าไม้ ปีละ 116 ล้านบาท

 

 

ถือเป็นโครงการที่สร้างโอกาสให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. จึงขยายผลร่วมมือกับชุมชนธนาคารต้นไม้ดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อเดินหน้าแนวทางการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ และตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)

 สำหรับกระบวนการ เริ่มต้นจากการขึ้นทะเบียนโครงการ การตรวจนับจำนวนต้นไม้ การตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ( อบก.) เพื่อนำปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเข้าไปช่วยตอบสนองความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ผลักดันให้ประเทศไทย สามารถบรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่วางไว้ ในปี 2050 และคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2065

  “เรานำร่องโครงการธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวนคาร์บอนเครดิต 400 ตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. ซื้อ-ขายกึ่ง CSR ในราคาตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1,200,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ 842,100 บาท ”

ทั้งนี้ นอกจากช่วยสร้างรายได้กลับคืนสู่ผู้ปลูกต้นไม้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่จะมาดูดซับปริมาณคาร์บอน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน

 

 

ส่วนหลักการคิดคำนวณ.. ต้นไม้ 1 ต้น ช่วยสร้างปริมาณคาร์บอนเครดิตได้เฉลี่ย 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ซึ่งพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้เฉลี่ย 100 ต้น/ไร่ จะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิต 950 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ณ ราคาขายกึ่ง CSR 3,000 บาทต่อตันคาร์บอน (อัตราคำนวณรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 70 : 30) กล่าวคือ เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่าขึ้นทะเบียนต้นไม้ในแต่ละต้น การตรวจนับและประเมิน การออกใบรับรอง เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการขาย

 ดังนั้น เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายที่ร้อยละ 70 ของราคาขาย หรือประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี หรือกรณีปลูกต้นไม้แบบหัวไร่ปลายนา จะสามารถปลูกได้เฉลี่ย 40 ต้น/ไร่ คิดเป็น 380 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ต่อปี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อไร่ต่อปี

 

 

 


84 ชุมชน ผ่านรับรองเก็บคาร์บอน 2.7ล้านตัน

 

โดยปัจจุบันมีชุมชนที่ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกและได้รับใบประกาศเกียรติคุณ LESS จาก อบก. แล้ว 84 ชุมชน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้กว่า 2.7 ล้านตันคาร์บอน ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนเงินทุนให้กับชุมชนธนาคารต้นไม้ในการกักเก็บคาร์บอนแล้ว จำนวนกว่า 3.8 ล้านบาท

 “ ธ.ก.ส. พร้อมขยายผลการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ โดยสนับสนุนการปลูกป่าเพิ่มในที่ดินของตนเองและชุมชน ปีละประมาณ 108,000 ต้น ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อ - ขายได้กว่า 510,000 ตันคาร์บอน ภายใน 5 ปี ” นายฉัตรชัย กล่าว

 

 

นอกจากนี้ ธกส.ได้ส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การเพาะกล้าไม้ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดพื้นที่การเผาตอซังข้าว อ้อยและข้าวโพด เพื่อลด PM 2.5 การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน การนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตน้ำส้มควันไม้ ปลูกสมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น

โครงการ BAAC Carbon Credit เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการทำให้องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งไว้ ซึ่งนอกจากหน่วยงานจะได้รับประโยชน์ในด้านธุรกิจ ที่มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจชุมชนในการดูแลและปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการปกป้องโดยคนในชุมชน สะท้อนถึงความเข้มแข็งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกอีกด้วย