เวิลด์แบงก์ ฟื้นฟูความมั่งคั่งชายฝั่ง Blue Economy นิเวศเศรษฐกิจยั่งยืน

by ESGuniverse, 21 กุมภาพันธ์ 2567

เวิลด์แบงก์ หนุนการออกพันธบัตรเพื่อเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ Blue Bonds ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลแบบบูรณาการ ขับเคลื่อนนิเวศเศรษฐกิจชายฝั่งยั่งยืนในไทย

 

ธนาคารโลกเปิดตัวโครงการความร่วมมือกับประเทศไทยด้านนวัตกรรมทางการเงิน สนับสนุนการลงทุนด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และการจัดการทรัพยากรทางทะเลแบบบูรณาการในประเทศไทย

 


ธนาคารโลกได้จัดการประชุมเปิดตัวโครงการความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการลงทุนด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และการจัดการทรัพยากรทางทะเลแบบบูรณาการในประเทศไทย (Innovative Blue Financing for Integrated Seascape Management) ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้กองทุน PROBLUE Multi-Donor Trust Fund ซึ่งเป็นกองทุนให้เปล่าเพื่อการลงทุนด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงินของธนาคารโลก


คุณจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุมความร่วมมือดังกล่าว โดยได้กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตามกรอบ SDGs 17 เป้าหมาย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580

 

 

ด้าน สบน. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง มีบทบาทสำคัญในการ กระตุ้นให้เกิดการใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

โดยในปี 2563 สบน.ได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเป็นครั้งแรกมูลค่า 30,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในรถไฟฟ้าสายสีส้ม และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 หลังจากนั้นก็ดำเนินการมาต่อเนื่อง ปัจจุบันมียอดหนี้พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนราว 412,00 ล้านบาท

 

ก้าวต่อไปจะศึกษาการระดมทุนที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีความยืดหยุ่นในการรับมือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

คุณจินดารัตน์ กล่าวอีกว่า สบน.มองเห็นความสำคัญในการลงทุนใน Blue Economy ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการด้านการท่องเที่ยว ประมง รวมทั้งการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรทางทะเล

ดังนั้นเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลก ให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งโครงการที่สอดรับกับการลงทุน เกณฑ์การลงทุน เครื่องมือในการระดมทุน และข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งจะมาช่วยต่อยอดให้การพัฒนาแผนงานด้าน Blue Economy ประสบความสำเร็จ

 

เวิล์ดแบงก์ หนุนไทย
วางกรอบทำงาน
ฟื้นระบบนิเวศชายฝั่ง

 

ทางด้าน Mr. Fabrizio Zarcone ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าการอนุรักษ์ชายที่ชายฝั่งของยุโรปและปะการังของประเทศมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะมีสัดส่วน 18 ของ GDP เพราะสามารถขับเคลื่อนมููลค่าเศรษฐกิจจากพื้นที่ชายฝั่งทะเล เช่นเดียวกันกับประเทศ 23 จังหวัด ที่มีชายฝั่งตั้งอยู่ติดกับทะเล สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำรายได้มาสู่จังหวัด อาทิ อาหาร การท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการกระจายรายได้ นำไปสู่การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น

 

 

ไม่เฉพาะเพียงในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงพื้นที่ชายฝั่งทางทะเลทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบัน พื้นที่เหล่านี้กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการบริโภค ppl จนเกินความต้องการ ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตบริเวณชายฝั่ง

 

ทั้งนี้ ผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งทะเล จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การขนส่งและการท่องเที่ยว การประมง ทำให้อ่าวไทยได้รับความเสียหาย ป่าชายเลนลดลง ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงชายฝั่งถูกกัดเซาะถึง 30% และยังส่งผลทรัพยากรธรรมชาติในทะเลลดลง ถึง 8% รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามากกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อีกทั้ง ยังมีพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกเกาะเซาะถึง 6 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสูง ที่ต้องสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น หญ้าทะเลชายฝั่งถูกทำลายกว่า 90% ส่งผลกระทบต่อโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ

 

การที่ธนาคารโลกสนับสนุนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) จึงมีความสำคัญต่อการสนับสนุนการพัฒนาและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและทะเลในประเทศต่างๆ รอบโลก ที่จะส่งผลทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งการประมง การท่องเที่ยวและการขนส่ง จะต้องช่วยลดมลพิษ ลดปริมาณขยะพลาสติกในท้องทะเล มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สร้างระบบนิเวศที่สร้างระบบสมดุลให้กับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม



ในปีที่ผ่านมา ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2023 มีการสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจสีน้ำเงินมูลค่า 144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกิจกรรม 181 โครงการ อีกทั้งยังร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินรวมมูลค่าทั้งสิ้น 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านโครงการ กำจัดขยะพลาสติกในทะเล อีกทั้งยังมีการศึกษาแผนพัฒนาตลาดพลาสติกรีไซเคิล ผ่านการร่วมมือกับ หลากหลายหน่วยงาน เพื่อที่จะนำขยะจากท้องทะเลมารีไซเคิลได้ 100%

 

 

ทางธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย ในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน โดยเริ่มมีการวางกรอบการทำงานตั้งแต่ 22 พฤศจิกายน ในปีที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อวางแผนการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงินได้อย่างยั่งยืน ช่วยในการลดอุปสรรคการลงทุนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

 


ด้าน Ms. Farah Imrana Hussain เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเงิน ธนาคารโลก ได้เล่าถึงประสบการณ์ของธนาคารโลกในด้านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้กล่าวว่า บทบาทของธนาคารโลกในการสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืนประกอบด้วย 3 อย่าง ดังนี้

1. ช่วยเหลือให้ผู้กำหนดนโยบาย สามารถพัฒนากฎระเบียบและสร้างแรงจูงใจให้การใช้นวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืน
2. สนับสนุนให้เกิดความโปร่งใสของกระบวนการ ESG ระหว่างนักลงทุนกับผู้ออกพันธบัตร
3. ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับพันธบัตรที่ดำเนินการ

 

ทั้งนี้ ธนาคารโลกเป็นสถาบันแห่งแรกที่ออกพันธบัตรสีเขียวตั้งแต่ปี 2008 ทั้งพันธบัตรสีเขียวอันแรกในฟิจิ ไนจีเรีย อียิปต์ อินเดีย เวียดนาม รวมถึง Green Sukuk ซึ่งตราสารหนี้อิสลามสีเขียวอันแรกทั้งในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงพันธบัตรสีน้ำเงินอันแรกของโลกใน Seachelles โดยนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ธนาคารโลกได้สนับสนุนการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนแล้วกว่า 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 24 สกุลเงิน

 

4 ปี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายฝั่งยั่งยืน


คุณวราภรณ์ หิรัญวัฒน์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมธนาคารโลก ได้กล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลในสัดส่วนที่สูง และที่ผ่านมาทรัพยากรทางทะเลเหล่านั้นเสียหายทั้งจากภัยธรรมชาติเองและกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบกลับมายังภาคเศรษฐกิจ

 

ขณะที่ธนาคารโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กองทุน PROBLUE จึงเป็นหนึ่งในกลไกที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงในการใช้ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งธนาคารโลกได้ทำงานร่วมกับประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาตั้งแต่ปี 2562 ผ่านการสนับสนุนระดับภูมิภาคและระดับประเทศจาก PROBLUE เป็นมูลค่ารวม 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการต่อสู้กับขยะพลาสติกในทะเลในประเทศไทยและอาเซียน

 

 

การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมได้แก่ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

ทั้งนี้ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ (1) เพื่อประเมินความพร้อมการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินอย่างยั่งยืน รวมถึงการออกพันธบัตรสีน้ำเงิน และเสนอข้อเสนอแนะและแผนการดำเนินงาน (2) พัฒนาส่วน Blue financing Section ของกรอบการทำงานทางการเงินอย่างยั่งยืน (Sustainable Financing Framework) รวมถึงขอบเขตและเกณฑ์ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (Taxonomy) แนวทางการรายงาน และกำหนดเกณฑ์สำหรับการลงทุนด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (3) ให้คำแนะนำในการระบุเกณฑ์สำหรับการลงทุนด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และ (4) ประเมินขนาดของเงินทุนที่สามารถระดมได้และประเภทการลงทุนที่คาดว่าจะสามารถระดมทุนได้จากพันธบัตรสีน้ำเงินต่อไป