เคแบงก์ผนึกกองทุนยั่งยืน พาลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว

by ประกายดาว. แบ่งสันเทียะ, 29 กุมภาพันธ์ 2567

เคแบงก์ผนึก ต้นแบบกองทุนยั่งยืน จากสวิสเซอร์แลนด์ ลอมบาร์ด โอเดียร์ ออกแบบกลยุทธ์ลงทุนรับโลกเศรษกิจใหม่ มูลค่ากว่า 1.2 พันล้านล้านบาท เผยทุนเริ่มวิ่งหนีธุรกิจเสี่ยงรับภัยพิบัติสิ่งแวดล้อม วาง 4 กลยุทธ์ขับเคลื่อนโลกยั่งยืน พลังงาน ฟื้นฟูทรัพยากร ลดใช้และหมุนเวียนทรัพยากร เพิ่มมูลค่าทรัพยากรเป็นสินทรัพย์มหาศาล

ธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์ ร่วมจัดงานเสวนาด้านความยั่งยืน ‘RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND’ เพื่อผลักดันและเร่งให้เกิดการลงมือทำเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการลงทุน มีบทบาทในการร่วมกันลงทุนไปสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่ยั่งยืนในอนาคต

ทั้งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาหารและการเกษตร ปิโตรเคมี และพลังงานหมุนเวียน ประเทศไทยจึงต้องปรับตัวหลีกหนีวิกฤติไปสู่การสร้างโอกาสการลงทุนเพื่อความยั่งยืนมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.2พันล้านล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2573

ตามแผนพันธสัญญาความตกลงปารีสที่กว่า 200 ประเทศได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) เข้ามาเป็นทั้งความเสี่ยง และท้าทายทางเศรษฐกิจ จึงต้องร่วมมือกันควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ.2593


‘RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND’ งานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี จึงจัดขึ้นเพื่อมุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศไทยก้าวไปสู่ความยั่งยืน ตามแนวคิด‘RETHINK SUSTAINABILITY’ เพื่อกระตุ้นให้ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการยึดโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนและ CLIC® Economy มาเป็นแกนหลัก ในการเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในระยะยาว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

 

4 แรงขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านตลาดสู่โลกธุรกิจยั่งยืน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเปิดถึงปัจจัยสำคัญในการสร้างความการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 4 แรงขับเคลื่อนสำคัญ ได้แก่


     1 .การกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์จากภาครัฐ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero จำเป็นต้องใช้มาตรการสนับสนุน และปกป้องผู้ที่สูญเสียจากากรเปลี่ยนผ่าน


     2.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนความต้องการจากตลาดทำให้ภาคธุรกิจได้เร่งปรับตัวขยายตลาดรองรับความเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องกับความยั่งยืน


     3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม สิ่งที่จะมาช่วยในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ต้นทุนถูกลง


     4.การเลือกลงทุนของนักลงทุน เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญมีบทบาททำหน้าที่เปลี่ยนผ่านที่จะเลือกลงทุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สร้างความยั่งยืน

 

นักลงทุนปรับไมด์เซ็ท เลือกธุรกิจยั่งยืน ถอยออกจากความเสี่ยง

“อำนาจการลงทุนอยู่ในมือนักลงทุน และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยั่งยืนให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกที่ไปพบตอนโรดโชว์ จะไม่พบกับธุรกิจที่มีความเสี่ยงไม่ยั่งยืน และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ดังนั้นถ้าเราไม่ปรับตัว จะสูญเสียการหาตลาดใหม่ ๆ แน่นอน โอกาสที่เคยมีก็หายไป แต่หากปรับตัวได้ จะสร้างแบรนด์ สร้างประวัติที่ดี สร้างความเข้าใจ และโอกาสทำรายได้ เติบโตต่อเนื่องในระยะยาว”

นักลงทุนในปัจจุบันจะมีคำถามถึงการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม แม้กระทั่งเคแบงก์ ที่ติดอันดับ DJSI ต่อเนื่อง 8 ปี นักลงทุนจะเจาะลึกเข้าไปถึงพอร์ตของการปล่อยสินเชื่อนั้น เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ความยั่งยืนหรือไม่ และทำธุรกิจอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อผลกระทบสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น น้ำท่วม หรือไม่

“เคแบงก์ต้องกลับมาสแกนพอร์ตฟอลิโอ ปรับพอร์ตสินเชื่อให้มีความยั่งยืน ธุรกิจก็ต้องปรับตัวเพื่อเราจะไปด้วยกันต่อได้”

เคแบงก์ ถือเป็นธนาคารที่มีจุดยืนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ให้เกิดขึ้นจริง เริ่มต้นจากการดำเนินการภายในองค์กร และการใช้พลังงาน (Scope1-2 ) ลดคาร์บอนภายในดำเนินการภายในธนาคาร เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์ ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และตั้งเป้ามายไปสู่ Net Zero ในปี 2065 ในทิศทางเดียวกันกับประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนนอกองค์กร (Scope3)

 

ตั้งเป้าปล่อยกู้เปลี่ยนผ่านธุรกิจ 2แสนล้าน

โดยมีเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ได้ มูลค่า 1-2 แสนล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 7.3 หมื่นล้านบาท จึงมีการจัดตั้งทีม Climate Banking เพื่อทำหน้าที่ดูแลสินเชื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero โดยพิจารณาธุรกิจ สินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความยั่งยืน เศรษฐกิจสีเขียว และ คาร์บอนเป็นศูนย์

“เราพยายามจะสร้างแรงกระเพื่อมให้ sustainability เกิดขึ้นจริง จึงต้องเริ่มจากตัวเรา และนำไปสู่การสร้างSustain จากนักลงทุน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาครัฐในการพัฒนาสตาร์ทอัพ สร้างกลไกการใช้ชีวิตไปสู่สังคมยั่งยืนให้ดีขึ้น”

ทั้งนี้ ได้มีแผนสร้างความร่วมมือกับ ธนาคารพาณิชย์ อย่างเช่น ธนาคารกรุงศรี ในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมมือกัน เปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero รวมไปถึงร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการจัดทำหลักเกณฑ์มาตรการ(Handbook) ไปสู่การเปลี่ยนผ่าน Net Zero

 

4 อุตสาหกรรมพลิกเศรษฐกิจใหม่
มูลค่า 878 ล้านล้านบาท

นาย อูแบร์ เคลเลอร์ Senior Managing Partner, Lombard Odier กล่าวว่า ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ในยุคปัจจุบัน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกร้อนขึ้น และมลพิษในท้องทะเล การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จนเข้าสู่วิกฤติ ที่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจกำลังจะล่มสลาย จากวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจที่สร้างกิจกรรมทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกนี้ จึงถึงเวลาที่นักลงทุน และภาคธุรกิจ ภาคการเงิน จะต้องมีบทบาทในการปรับกระบวนการคิด เข้าสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม


โดยมีการวางกรอบการทำงาน ใน 4 แนวทาง เปลี่ยนเศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย


1.ด้านพลังงาน เพิ่มอัตราการใช้ไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน 70% ในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593)


2.การฟื้นฟูทรัพยากรดิน ในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น รวมถึงคืนความหลากหลายทางชีวภาพ ในมหาสมุทร ภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573)


3.ลดการใช้ผลิตภัณฑ์จากทรัพยากร 1 ใน 3 ภายในปี พ.ศ.2573 และผลิตภัณฑ์เดิมมาหมุนเวียนผลิตใหม่ (Circular Economy)


4.การเพิ่มมูลค่าคาร์บอนเครดิต จากการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ที่จะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า

นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านจากตลาดสีเขียวที่เป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market ) ไปสู่ตลาดขนาดใหญ่ (Mass Market) โดยนำเทคโนโลยี มาช่วยสนับสนุน จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ อาทิ พลังงานหมุนเวียน ตลาดผลิตภัณฑ์ตอบสนองพลังงานไฟฟ้า ที่จะขับเคลื่อนไปการสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่ากว่า 24.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 878 ล้านล้านบาท )

แม้จะเป็นวิกฤติแต่ถือว่ายังมีโอกาสในการพัฒนา ในการลงทุนเปลี่ยนผ่าน เพราะในยุคปัจจุบันมีการคิดค้นเทคโนโลยีมากมายที่มีต้นทุนถูกลง และมีประสิทธิภาพขึ้นมาช่วยให้การเปลี่ยนผ่านทำได้เร็ว ต่ำลง เช่น ต้นทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งโซลาร์และ ลม มีแนวโน้มต่ำลง

รวมถึงประสิทธิภาพสูงขึ้น ท้งรถยนต์ไฟฟ้า และสถานีชาร์จที่เพิ่มมากขึ้น จะเป็นกลไกสำคัญช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้

กลไกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ยานยนต์ อุตสาหกรรม และ อาคารสีเขียว รวมถึง อุตสาหกรรมอาหาร

ตลอดจนสิ่งสำคัญที่สุดคือ ภาคนโยบาย ในประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ ในหลากหลายภูมิภาค ที่มีการออกนโยบายและมาตรการสนับสนุน ในสหภาพยุโรป สหรัฐ และจีน ถือเป็น 3 ตลาดใหญ่สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกสู่ความยั่งยืนในอนาคต

 

ผู้นำคือ กัปตัน ก้าวข้ามความท้าทายยุคเปลี่ยนโลก

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนถือเป็นภารกิจระดับโลก ประเทศผู้นำที่มีความพร้อมสามารถกำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนที่อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อทุกประเทศ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความท้าทายเป็นอย่างมากต่อประเทศไทย งานเสวนาด้านความยั่งยืนในครั้งนี้จึงเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารกสิกรไทยในการเป็นองค์กรที่เพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life and Business) เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนผ่านบทบาทในการส่งเสริมเงินทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืน โดยเชื่อมั่นในการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น