ไวล์ดเอด และมูลนิธิรักสัตว์ป่า ร้องสภาฯ เลิกค่านิยม เสิร์ฟฉลาม

by ESGuniverse, 14 มีนาคม 2567

องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และมูลนิธิรักสัตว์ป่า พบเมนูหูฉลาม ในงานจัดเลี้ยงสภา เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำหนังสือเปิดผนึกถึงสภาทรงเกียรติ เลิกเบียดเบียนฉลาม ร่วมมือปูบรรทัดฐานใหม่ สร้างค่านิยม ‘ฉลองไม่ฉลาม’ เลิกเสิร์ฟเมนูหูฉลามในงานเลี้ยง

 

ความเชื่อเรื่องการบริโภคหูฉลามในงานฉลองที่นิยมในหมู่คนไทยมาหลายปี แต่จากการสำรวจขององค์กรไวลด์เอด (WildAid) พบว่ากว่า 60% มีความต้องการบริโภคหูฉลาม เพียงเพราะความอยากรู้อยากลอง เข้าใจว่าอร่อย หารับประทานยาก แม้ว่าจะมีการรณรงค์มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ก็ยังมีความต้องการอยู่ โดยที่นิยมมากที่สุดคือการรับประทานในงานแต่ง งานรวมญาติ ตรุษจีน หรือในวาระพิเศษ

สวนทางกับสถานการณ์ประชากรฉลามที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการทำประมงเกินขนาดเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภค เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้ ฉลามมากกว่า 160 ชนิด จากทั้งหมดกว่า 500 ชนิด กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

1 ใน 3 ของฉลามทั่วโลกถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ เมนูฉลามคุกคามสัตว์ผู้ล่าและเป็นเมนูที่เป็นภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค

 

สภาจัดเลี้ยงหรู เสริฟเมนูหูฉลาม

หลังจากมีการโพสต์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ เมื่อวันพฤหัสที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงการพบว่ารัฐสภาของไทยของไทยยังมีเมนูกินเลี้ยงด้วยหูฉลาม ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความ ไม่เหมาะสม

“ในทะเลมีฉลาม ในสภามี… คุณคิดว่าสภาควรจัด หูฉลามให้ สส. กินกันไหม #งดเลี้ยงอาหาร สส.สว. เถอะครับ”

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และมูลนิธิรักสัตว์ป่า ทั้งสององค์กร ในฐานะองค์กรที่ดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์ฉลาม ต้องการสร้างความตระหนัก ต่อรัฐสภาถึงผล กระทบของการบริโภคเมนูที่ทำจากฉลาม

 

 

 

วอนรัฐสภาเป็นต้นแบบที่ดี

ดร.เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอด และนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เปิดเผยถึง จุดยืนทั้งสององค์กร เห็นตรงกันว่า การเสิร์ฟเมนูหูฉลาม ถือเป็นการสนับสนุนการบริโภคสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในทะเล ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นภัยคุกคามต่อประชากรฉลามทั่วโลกมีจำนวนลดลง และหลายชนิดพันธุ์กำลังเสี่ยง ต่อการสูญพันธุ์

ในขณะที่รัฐบาลของประเทศผู้บริโภคที่สำคัญของโลก อย่างประเทศจีน ได้ประกาศจุดยืนยกเลิกการเสิร์ฟเมนูหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐบาลมานานกว่า 10 ปีแล้ว มีการสร้างการตระหนักรู้ โดยมี“การรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม ตลอด 6 ปีที่ผ่าน มาทำให้เราเห็นว่า คนไทยเริ่มตระหนักว่าการทานหูฉลาม และเมนูฉลามต่าง ๆ เป็นการบริโภคที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะย่อมส่ง ผลกระทบถึงความสมดุลของท้องทะเลในที่สุด

หลายปีมานี้ ประเทศไทยกำลังเป็นตัวอย่างที่ดี ของความพยายามในการอนุรักษ์ฉลาม อย่างเช่น โครงการติดตามประชากรฉลามครีบดำในอ่าวมาหยา ซึ่งเป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และได้นำไปสู่มาตรการเพื่อแบ่งปันพื้นที่ ร่วมกันระหว่างนักท่องเที่ยวและปลาฉลาม

“เราอยากเห็นรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นต้นแบบที่ดีในการปกป้องสัตว์ที่มีความสำคัญต่อท้องทะเล รวมไปถึงส่งเสริมการบริโภค อย่างยั่งยืนที่ไม่รบกวนและคุกคามธรรมชาติ”


62% เมนูหูฉลามในไทย เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์

ผลวิจัยดีเอ็นเอในผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายในประเทศไทย โดยองค์กรไวล์ดเอด ร่วมกับทีมนักวิจัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นักวิจัยอิสระ และกรมประมง พบว่า ชนิดพันธุ์ฉลามส่วนใหญ่ (62%) ที่พบในหูฉลามที่ขายในไทย มาจากปลาฉลามที่มีสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์ ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ผู้บริโภค ซุปหูฉลามอาจกำลังกินฉลามที่เสี่ยงสูญพันธุ์

 

การทำประมงเกินขนาด ฆ่าฉลามปีละ 80 ล้านตัว

การมีอยู่ของฉลามในทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ระบบนิเวศทำงานได้ตามปกติ แต่งานวิจัยล่าสุดระบุว่า แต่ละปี มีปลาฉลามราว 80 ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ราว 25 ล้านตัว หรือ 1 ใน 3 เป็นปลาฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ โดยภัยคุกคามหลักเกิดจากการทำประมงเกินขนาด และความต้องการบริโภค

 

คนไทยมากกว่าครึ่ง (56%) ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต

ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามของคนไทยในเขตเมืองทั่วประเทศจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,007 คน พ.ศ. 2566 โดยองค์กรไวล์ดเอดและบริษัทวิจัยแรพพิด เอเชีย (Rapid Asia) พบว่า คนไทยในเขตเมืองบริโภคหูฉลามบ่อยที่สุดในร้านอาหารกับครอบครัว (60%) ตามด้วย งานแต่งงาน (57%) สังสรรค์กับเพื่อนในร้านอาหาร (46%) และงานรวมญาติในช่วงเทศกาล ตรุษจีน (42%)
แม้ผลสำรวจล่าสุดพบว่า การบริโภคหูฉลามของคนไทยในเขตเมืองมีแนวโน้มลดลงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีคนไทยมากกว่าครึ่ง (56%) ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต บ่งชี้ว่า ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคหูฉลามที่สำคัญ

 

 

 

ทั่วโลกยกเลิกเมนูหูฉลามในหลายภาคส่วน

หลายปีผ่านมา ทั่วโลกการปรับเปลี่ยนนโยบายที่มุ่งสู่การยกเลิกการบริโภคหูฉลามในหลายภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชนในไทย ที่ได้จัดโครงการ Fin Free Thailand ซึ่งริเริ่มในปีพ.ศ. 2556 ได้รับความสนใจและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากเครือโรงแรมขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารชั้นนำ โดยธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการได้ให้คำมั่นที่จะยกเลิกการเสิร์ฟเมนูหูฉลาม ในธุรกิจของตนจนถึงทุกวันนี้

“เราขอเรียกร้องให้รัฐสภาร่วมตามรอยรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่แสดงจุดยืนเลิกเสิร์ฟหูฉลามก่อนหน้านี้ เพื่อสนับสนุนแนวทางความยั่งยืน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ต่อสาธารณชนและเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม” แนนซี่ ลินน์ กิ๊บสัน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักสัตว์ป่า และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Fin Free Thailand กล่าว

องค์กรไวล์ดเอด และมูลนิธิรักสัตว์ป่า จึงขอความร่วมมือรัฐสภาเป็นผู้นำในการปกป้องทรัพยากร ทางทะเล เป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนไทย และสร้างภาพลักษณ์แง่บวกในระดับนานาชาติ ด้วยการแสดงจุดยืนไม่บริโภค ไม่เสิร์ฟเมนูฉลามในรัฐสภา และงานเลี้ยงทางราชการในทุก ๆ โอกาส เพราะการจัดเลี้ยง หรืองานสังสรรค์ไม่ว่าในโอกาสใด ไม่ควรมีฉลามเป็นเมนูบนโต๊ะอาหารอีกต่อไป