อินเทรพิด ชู เที่ยวไทยเท่ เสน่ห์อัตลักษณ์ คุณค่ามัดใจชาวโลก

by ESGuniverse, 16 มีนาคม 2567

ผู้นำธุรกิจโลกท่องเที่ยวผจญภัย เดินหน้าฝังดีเอ็นเอความยั่งยืนเครือข่ายสำคัญทั่วโลก ซึมซับคำว่า “แก่นแท้” เข้าถึงความหมายการท่องเที่ยวยั่งยืนไม่ใช่แค่เทรนด์ วางยุทธศาสตร์บูรณาการที่ยั่งยืนต่อเนื่องครบวงจร ตั้งเป้าลูกค้าทั่วโลกเพิ่มสองเท่า พร้อมบริจาค 1% ของรายได้ให้กับโครงการด้านความยั่งยืนคล้ายกัน

 

การเดินทางท่องเที่ยว ที่เติบโตขยายตัวจนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รองรับปริมาณทัวร์เป็นรถบัส จองอาหาร ที่พัก การเดินทางเรือ เที่ยวบิน ในปริมาณจำนวนมาก ล้วนเป็นต้นเหตุกระตุ้นการบริโภคจนเกินกว่าทรัพยากรที่มี การปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง และการเข้าไปรุกล้ำทำลายสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตของคนในชุมชนดั้งเดิม

หากธุรกิจท่องเที่่ยวไม่ปรับตัว ความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติที่ลดลง กระแสการต่อต้านจากผู้บริโภคบางกลุ่ม ชุมชนที่ไม่ได้รับประโยชน์ในการกระจายรายได้สู่ชุมชน ไม่ช้าก็จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจึงต้องเป็นผู้นำในการปลูกฝังการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การเดินทางที่ไม่ใช่เพียงกอบโกยทรัพยากร ทำลายวิถีชุมชน แต่เป็นการสร้างคุณค่าการท่องเที่ยวที่ค้นหาความหมาย แบ่งปันคุณค่าและประสบการณ์ในห่วงโซ่อุปทาน ร่วมกัน

บริษัท อินเทรพิด ทราเวล บริการท่องเที่ยวแบบผจญภัยรายใหญ่ที่สุดในโลก มากกว่า 35 ปี เป็นผู้บุกเบิกการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ หรือท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แนวคิดคือการพานักท่องเที่ยวเดินทางไปค้นพบสถานที่แปลกตา สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น และการผจญภัยทั่วโลก สอดแทรกท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก ไม่ทำลายคุณค่าดั้งเดิม ผ่านเครือข่ายบริษัท ที่มีสำนักงาน 28 แห่งทั่วโลก ให้บริการท่องเที่ยวแบบผจญภัยมากกว่า 1,150 ครั้งใน 119 ประเทศ รวม 7 ทวีป มีบุคลากรประจำ 18 คนและไกด์นำเที่ยวท้องถิ่น 40 คน โดยในปีที่ผ่านมาให้บริการเดินทางระหว่างประเทศ 22 ทริป มีนักท่องเที่ยว 5,000 คน

ด้วยวลีเด็ดที่ว่า “การท่องเที่ยวยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นส่วนสำคัญที่อยู่ในองค์กรจะต้องรับผิดชอบ” ของบิ๊กบอส นายดาร์เรล เวด ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อินเทรพิด ทราเวล จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการท่องเที่ยวในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบดำเนินธุรกิจบริการท่องเที่ยวมา 35 ปี มองแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืน ที่ต้องขยายความให้ชัดเจน ไม่ใช่เพียงทำให้คนเดินทางสร้างประสบการณ์การเยือนที่มีความหมายที่แท้จริง แบบเข้าถึง”แก่นแท้” ของการท่องเที่ยว” ความยั่งยืน ไม่ใช่เป็นเพียงกระแส หรือแค่เทรนด์ ที่ทำตามทุกคน

ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการด้านบริการท่องเที่ยว จะต้องให้ความสำคัญ ในการสร้างการตระหนักรู้ จึงต้องเข้าใจ 2 ประเด็น คือ ผู้คนมาจากไหน และ จะไปไหน หมายถึง คนต้นทาง จนถึงคนปลายทาง ทำให้ทั้งคนต้นทางให้เข้าใจความหมาย และทำให้คนปลายทางได้รับประโยชน์จากการเดินทาง ร่วมแบ่งปันความสุขเติบโตไปพร้อมกัน ทางบริษัทท่องเที่ยว จึงถือเป็นแกนกลางที่เชื่อมโยงการแบ่งปันความยั่งยืนร่วมกัน

 

 

บูรณาการธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน
คนต้นทาง ส่งคุณค่า ถึงคนปลายทาง

ดาเรล เน้นย้ำว่า แนวคิดนี้ เขาทำมาตั้งแต่วันแรกของการตั้งธุรกิจบริการท่องเที่ยว เมื่อกระแสหรือเทรนด์เกิดขึ้นในยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพอกาศ การขับเคลื่อนธุรกิจจึงต้องทำให้บริษัท ต้องขยายความหมาย เพิ่มการรับรู้สิ่งที่เคยทำในอดีต โดยการเพิ่มวิธีการคำนวณการปล่อยคาร์บอน และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน ที่สามารถพิสูจน์การลดการปล่อยคาร์บอน ตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative) นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจบริการท่องเที่ยวใน 27 แห่งทั่วโลก

รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ สวัสดิภาพสัตว์ สภาพแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ปัญหาของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มลูกค้าของอินเทรพิด จะนำไปสู่การปฏิบัติให้ชัดเจน เข้มข้น ในทุกซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการสร้างระบบเวศการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น

เพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่าธุรกิจเป็นผู้บุกเบิก การบริการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีตัวชี้วัดผลการดำเนินงานระดับมาตรฐานระดับโลก โดยการได้รับการรับรอง B-Corp (Certified B Corporation) เป็นมาตรฐานในการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงสุด ถือได้รับการยอมรับจากองค์กร พนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

 

บทพิสูจน์ หมุดหมาย
ใส่ใจความยั่งยืนแบบถึงแก่น

ทั้งนี้ ไทยถือเป็นหมุดหมายแรก ที่จะนำร่องการขับเคลื่อนการบริการธุรกิจท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยจะนำไปสู่การสร้างแนวทางปฏฺิบัติให้เข้าใจแก่นแท้ของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายงานในอดีตที่ทำมาให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยเข้าไปมีบทบาทในการรักษาสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรท่องเที่ยวไม่ให้เสื่อมโทรม ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ทิ้งเศษขยะให้เป็นมลพิษ

ดาร์เรล กล่าวว่า ในฐานะผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ ท่องเที่ยวยั่งยืน ต้องการจะฉลองโอกาสครบรอบ 35 ปี จึงเดินทางมาประเทศไทย และไปเยี่ยมสำนักงานของบริษัทรวม 27 ประเทศ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กับบุคลากรของบริษัทฯ ทุกคนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียพันธมิตรในธุรกิจทุกคน ร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมาย ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573)เติบโตไปควบคู่กัน

 

 

บูรณาการท่องเที่ยว
ชูจุดขายสัมผัสวิถีชุมชน

สำหรับการเติบโตจะมุ่งเน้นการใช้กลยุทธ์บูรณาการแบบแนวดิ่ง (Vertical Integration) หมายถึง การเติบโตในกิจการร่วมกัน ทั้้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายการทำงานไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศสำคัญๆ ซึ่งประเทศไทยก็คือหนึ่งในนั้น โดยมีการบริการท่องเที่ยว สัมผัสวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมและการอยู่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น การรับประทานอาหารท้องถิ่นและค้นพบประเทศไทยที่แท้จริง ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่สำคัญมีการลดการปล่อยคาร์บอน และยังสนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจหลักของอินเทรพิด ด้วยรูปแบบการเดินทางที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

“การดูแลรักษาทรัพยากรในระหว่างการท่องเที่ยว กำลังเป็นข้อเรียกร้องโดยทั่วไป คนยุคใหม่ตระหนักต่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนมากขึ้น บริษัทการท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องยึดเป็นเป้าหมายหลัก การได้รับรางวัล B-Corp ถือเป็นคำมั่นสัญญาที่สำคัญอันดับแรก ของ “อินเทรพิด” ในการสร้างความไว้วางใจให้กับธุรกิจในประเทศไทยและทั่วโลก”

 

 

ระดมทุน อนุุรักษ์วิถีชีวิตคืนอัตลักษ์ท้องถิ่น
แม่เหล็กดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ

มิสเตอร์ไมค์ สจ๊วต ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินเทรพิด ดีเอ็มซี (ประเทศไทยและลาว) กล่าวว่า บริษัทยังได้ ตั้งมูลนิธิ อินเทรพิด ( Intrepid Foundation) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ทำหน้าที่ระดมทุน โดยที่ผ่านมามีมูลค่าระดมทุน 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 555 ล้านบาท) นำไปใช้ในการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นทั่วโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) และในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ.2566) Intrepid foundation ร่วมมือมูลนิธินิเวศวิถี (Eco Thailand Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรท้องถิ่นในประเทศไทย เพื่อดำเนินการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นด้วยการจัดโปรแกรมการศึกษาที่สอนเรื่องวิธีการรักษา แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น สำหรับ Eco Thailand มุ่งเน้นที่ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

“ค่านิยมของเราสอดคล้องกับความสำคัญของการมีอิทธิพลต่อมุมมองและการดำเนินการของชุมชนผ่านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นต่อไปในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ จุดเด่นของการท่องเที่ยวของบริษัท ต้องการนำเสนอการสัมผัสวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมและการอยู่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น การรับประทานอาหารท้องถิ่นในแบบไทยแท้ ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจหลักของอินเทรพิด ในการนำเสนอเอกลักษณ์เฉพาะ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” มิสเตอร์ไมค์ สจ๊วตกล่าว


เป้าหมาย นักท่องเที่ยวเติบโต 2 เท่า

มิสเตอร์ดาร์เรล เวด ยังได้กล่าวถึงการเป้าหมายทางด้านรายได้ภายหลังจากมีการปรับโมเดลธุรกิจ ตั้งเป้าหมายรายได้คาดว่าจะมีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 46,000 ล้านบาท ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573 ) คิดเป็นการเติบโต 47 % ภายใน 6 ปี ข้างหน้า จากปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2566 มีรายได้อยู่ที่ 621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 22,000 ล้านบาท) และตั้งเป้าหมาย มีจำนวนลูกค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 600,000 ราย จากปีก่อนหน้ามีจำนวน 320,000 ราย
และสิ่งสำคัญในการสร้างการเติบโตไปควบคู่กับการดูแลรักษาทรัพยากร และผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งชุมชน สังคม จึงได้ร่วมบริจาค 1% ของรายได้ให้กับโครงการที่ได้เริ่มดำเนินงานตามวัตถุประสงค์เดียวกับทางบริษัทฯ

 

 

เติมองค์ความรู้สู่ชุมชน
ร่วมปกป้อง รักษานิเวศยั่งยืน

นางสาวจินตมาศ ศิลปพรหมมาศ รองประธานกรรมการมูลนิธินิเวศวิถี (Eco Thailand Foundation) กล่าวว่า ในฐานะองค์กรที่ให้การส่งเสริมศักยภาพชุมชนในประเทศไทยด้วยทักษะและความรู้ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น สร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ “อินเทรพิด” ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อความยั่งยืน โดยมอบแนวทางการรับมือและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นระยะยาวในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG”