ส่องโมเดล ’เศรษฐกิจหมุนเวียน’ Action plan ยุทธศาสตร์ไทยเทียบ 5 ต้นแบบสร้างความมั่งคั่ง

by ESGuniverse, 18 มีนาคม 2567

เปิดโมเดล “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ยุทธศาสตร์ออกแบบระบบนิเวศ สังคมบริโภคอย่างรับผิดชอบ โอกาสจ้างงานในธุรกิจใหม่กว่า 7-8 ล้านตำแหน่งในปี 2573 แกะรอย 5 ประเทศต้นแบบสร้างความมั่งคั่งจากเศรษฐกิจหมุนเวียน เทียบยุทธศาสตร์ไทยปั้นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ ผ่านโมเดล BCG

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ศึกษาแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนจาก 5 ประเทศทั่วโลก พร้อมแนะภาครัฐควรส่งเสริม อำนวยความสะดวก และสนับสนุน ให้รอบด้าน เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืน

โลกแห่งการบริโภคจนเกินความต้องการที่ผ่านมา ตามแนวทางเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ใช้แล้วหมดไป ใช้แล้วทิ้ง ใช้ครั้งเดียว เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟื่อย ส่งผลทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัด ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรโลกกว่า 8,000 ล้านคน โจทย์ของภาคการผลิตสินค้าในยุคต่อไป จึงต้องคิดค้นหาวิธีการผลิตใหม่ และที่ผลิตอยู่แล้วในตลาด นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือ ตามแนวทาง 3 R ลดการใช้ นำกลับมาใช้ใหม่ และนำไปรีไซเคิลวัตถุดิบเปลี่ยนรูปผลิตภัณฑ์ใหม่ ( Reduce, Reuse, Recycle)

นี่คือหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรเสื่อมโทรม ทรัพยากรขาดแคลน ลดปริมาณขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการคิดค้นนวัตกรรมการผลิตใหม่ จึงทำให้เกิดการส่งเสริมธุรกิจใหม่ ที่ตอบสองการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ นำกลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยหาวิธีการในการกำจัดของเสีย พัฒนาสินค้าที่มีความคงทนใช้งานได้นานขึ้น สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ทำให้ทุกคนเข้าถึงสินค้าคุณภาพ ในราคาไม่สูง ถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นระบบ


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ทิศทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอบโจทย์ในยุคหน้า ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอุตสาหกรรมที่ช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบ และเศรษฐกิจหมุนเวียนยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) คาดว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนอาจช่วยสร้างงานใหม่ทั่วโลก ประมาณ 7 – 8 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2573 และช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หลายเป้าหมาย โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ

 

3 ยุทธศาสตร์ ออกแบบระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน

สนค. ได้ศึกษาแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลก โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เสนอแนะว่า ภาครัฐควรมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน 3 ด้าน ได้แก่
1.การส่งเสริม (promoting) โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน และส่งเสริมวัฒนธรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน
2. การอำนวยความสะดวก (facilitating) โดยอำนวยความสะดวกในการประสานงานเชื่อมโยงนโยบายและแผนงานอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน
3. การสนับสนุน (enabling) โดยช่วยระดมเงินทุนและจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการประเมินผล

ส่อง 5 ประเทศ ต้นแบบสร้างความมั่งคั่ง
เศรษฐกิจหมุนเวียน

ผอ. สนค. กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาแนวทางของภาครัฐใน 5 ประเทศ/กลุ่มประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และจีน พบว่า แต่ละประเทศมีแนวทางที่สอดคล้องและครบถ้วนตามข้อเสนอแนะของ OECD แตกต่างกันไป โดยทุกประเทศมีการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กำหนดมาตรการ ในการลดขยะ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาทักษะที่จำเป็น

สหภาพยุโรป ที่ผ่านมาได้มีการทบทวนแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Action Plan: CEAP) ค.ศ. 2015 ก่อนจัดทำแผน CEAP ใหม่ในปี ค.ศ. 2020 เพื่อให้การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมทั้งด้านการผลิตและการบริโภค ในระดับประชาชน เมือง และภูมิภาค รวมถึงเป็นผู้นำโลกในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ฟินแลนด์ ได้จัดตั้งกองทุนนวัตกรรม SITRA ที่มีภารกิจสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะ มีแนวทางหลัก 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจ การขยายตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน การสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาระบบนิเวศของเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนานวัตกรรม ดิจิทัล และศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนประเทศอื่นด้วย

เนเธอร์แลนด์ ได้ก่อตั้ง Netherland Circular Accelerator! เป็นศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ และให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs และพัฒนา Holland Circular Hotspot ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจหมุนเวียน

ญี่ปุ่น ได้เปิดตัว Japan Partnership for Circular Economy (J4CE) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ประกอบการในประเทศ และสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านการปรับตัวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

จีน ออกมาตรการสนับสนุนทางการเงิน มาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจหมุนเวียน สนับสนุนเงินทุนผ่านกองทุน Central Financial Rewarding Fund และให้สินเชื่อ Green credits และ Green bonds แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจหมุนเวียน


ย้อนกลับดูยุทธศาสตร์ชาติไทย
ปักหมุดหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน แผนสภาพัฒน์ ฉบับ13

สำหรับประเทศไทย มีการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ โดยกำหนดหมุดหมายและกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตรง คือ หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

ชูไทยเป็นศูนย์กลางอุตฯ Bio-Circular-Green Econom

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” และกำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางในด้านอุตสาหกรรม Bio-Circular-Green Economy

โดยในปี 2565 มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 484 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 3.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 77 โครงการ หรือมูลค่าประมาณ 4.12 พันล้านบาท

ฉลากสิ่งแวดล้อม รับรองผลิตภัณฑ์

ไทยมีการจัดทำระบบรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องหมายรับรอง เศรษฐกิจหมุนเวียน (CIRCULAR MARK) ซึ่งเป็นฉลากที่ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบ การใช้ทรัพยากร และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มวัสดุก่อสร้างกลุ่มพลาสติก กลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์

“การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนจะมีผลดีต่อประเทศ หากทุกภาคส่วน ร่วมกันผลักดันอย่างจริงจัง ไทยควรส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันทางการค้า และกระตุ้นให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืน


อาทิ สร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนในทุกมิติ ร่วมกันจัดทำแนวทางการประเมินผลและประโยชน์ที่เกิดจากเศรษฐกิจหมุนเวียน ประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการให้บริการสาธารณะ จัดทำโครงการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมการตลาดและพิจารณาใช้มาตรการเพื่อเพิ่มความต้องการและส่งเสริมการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าและบริการหมุนเวียน “ ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้าย