แคมเปญปิดไฟให้โลก 1 ชม. แรงกระเพื่อมไม่มากพอ ย่านธุรกิจยังพึ่งแสงเคลื่อนเศรษฐกิจ

by ESGuniverse, 25 มีนาคม 2567


ต้องยอมรับว่าการใช้ “พลังงาน” มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อน หรือ สภาพอากาศรวน (Climate Change) หนึ่งปัญหาของทุกคนทั่วโลก จึงมีแคมเปญการร่วมกันรณรงค์ ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อโลก “ Earth Hour” โครงการร่วมมือระดับนานาชาติ รณรงค์ให้ปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงปัญหา "ภาวะโลกร้อน" ซึ่งมาจากสาเหตุหลักคือ การใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่เป้าหมายพันธสัญญาประชาคมโลก ต้องการลดการปล่อยคาร์บอน 40-50% ในปี 2573 และเป็นศูนย์ในปี 2593



แนวคิดประหยัดพลังงาน ผ่านแคมเปญรณรงค์ ปิดไฟระยะสั้น เป็นเวลา 60 นาที (ระหว่าง 20.30-21.30น.) ในวัน 23 มีนาคมที่ผ่านมา โดยพร้อมเพรียงกันทั่วโลก เพื่อลดการใช้พลังงานชั่วขณะ สร้างการตระหนักรู้ ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

 

ย่านธุรกิจใจกลางกรุง
ปิดไฟเพียงเชิงสัญลักษณ์

 

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังกลับมาขยายตัว จึงต้องมีการใข้พลังงานในการขับเคลื่อน เปิดไฟร้านค้าส่องสว่างในย่านธุรกิจ เพื่อสร้างความคึกคัก ห้างสรรพสินค้าที่ยังมีคนเดิน


ภารกิจปิดไฟ ของ กทม. จึงยังห่างไกลจากนโยบายขับเคลื่อนให้คนกทม. ภาคธุรกิจ ร่วมแรงร่วมใจปิดไฟ 1 ชม.ในค่ำคืนวันเสาร์ จึงเป็นแค่กิมมิก หรือ อีเวนท์เกาะกระแสไปกับโลกของเรา

 

ESG universe ได้สำรวจบรรยากาศใจกลางกรุงในช่วงเวลาที่หลายหน่วยงานจุดกระแสแคมเปญร่วมกันปิดไฟ มีการปิดไฟในเชิงสัญลักษณ์บางจุด บางมุมเล็กๆ ของกทม. อีกด้านของคนอีกหลายกลุ่มในหลากหลายย่าน ยังคงเปิดไฟขับเคลื่อน

 

 

อโศก คือหนึ่งในศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) บิลบอร์ดโฆษณาบนจอแอลอีดี ขนาดใหญ่ใจกลางกรุง จำนวนมาก สิ่งที่พบในช่วงเวลานับถอยหลังที่ 20.30 คือ ผู้คนยังเดินปกติ บนตึกและคอนโด ย่านนี้ ขยับปิดไฟแต่ไม่ได้มากหากเทียบกับแสงที่ส่องสว่างจากถนนทั้งเส้น บิลบอร์ดจอสกรีน กลางกรุงก็มีการปิดจอโฆษณาแอลอีดี ขนาดใหญ่บนตึกอินเตอร์เชนจ์ จอเดียว จากจอโฆษณาเต็มทั้ง 4 มุม ส่วนห้างสรรพสินค้าใกล้ย่านก็ปิดไฟเป็นบางจุด แต่โดยรวมทั่วห้างยังสว่างไสว



เดินเรียบ จากใจกลางสี่แยกอโศกไปยังริมถนนสุขุมวิท จะพบแสงสีเสียง จากร้านอาหาร และผับ รวมถึงจากห้างสรรพสินค้า และ โรงแรมรอบๆ เช่น เอ็มสเฟียร์ (Emsphere) มีการหรี่ไฟแทนปิดไฟ โรงแรมข้างเคียงอย่างเช่น ฮอลิเดย์ อินน์ ได้ปิดไฟ, เอส 31 ปิดไฟ บางจุด แต่โดยส่วนใหญ่มากกว่า 80% ยังเปิดไฟ

 

จุดที่ปิดไฟมืดในบ้านบางหลังในตรอก ซอก ซอย ในถนนสุขุมวิท ปิดไฟมืดมิดในบางเส้นทาง เช่น ซอยสวัสดี ซอยพรศรี หากเป็นบ้านคนจะมีดับไฟมืดทั้งเส้นบางจุดเท่านั้น

 

นี่คือบทสะท้อนการตื่นตัวด้านพลังงาน ของเราชาวกรุง ย่านธุรกิจยังต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยพึ่งพาไฟฟ้า เพราะแคมเปญให้ปิดไฟที่ไม่จำเป็น ความจำเป็นในชีวิตเราพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าถึง 80-90% การเริ่มต้นจุดประกายเล็ก ๆ ในการหาทางออกแก้ไขปัญหาการใช้ไฟฟ้าของเราไม่ส่งผลกระทบต่อโลกร้อน

 

กทม.ชวนปิดไฟให้โลก พร้อม 7 พันเมืองทั่วโลก

นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กิจกรรม ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ปี 2567 (60+ Earth Hour 2024) เป็นกิจกรรมที่ กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน รณรงค์และเชิญชวนผู้ประกอบการ ร้านค้า ประชาชน ลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา


รวมถึงการถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับเมืองต่าง ๆ กว่า 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. ซึ่งทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือปิดไฟในช่วงดังกล่าว



5 Landmark ขานรับร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์



โดยในปีนี้ 5 Landmark หลักของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า สะพานพระราม 8 และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ได้ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ด้วย



1ชม. ลดใช้ไฟ 1.3แสนบาท

 

จากการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการไฟฟ้านครหลวง พบว่า กิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 24.65 เมกะวัตต์

 

“ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2567 ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. ลดความต้องการการใช้ไฟฟ้าลงได้ 24.65 เมกะวัตต์ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 11 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบได้กับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 1,100 ต้น ใน 1 ปี (ต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อปี) และสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ 130,182 บาท “



กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงได้รณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึก ให้ประชาชนและทุกภาคส่วน เห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการคือกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน มาตั้งแต่ปี 2551



15 ปี กทม ประหยัดแล้ว 81 ล้านบาท

 

เมื่อปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ลดการใช้ไฟฟ้าได้ 36 เมกะวัตต์ และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 5.2 ตัน หรือเทียบกับเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 43 เที่ยวบิน หรือการใช้รถยนต์ดีเซลเท่ากับ 31,200 กิโลเมตร หรือเทียบกับการปิดไฟครัวเรือน 23,400 ครัวเรือน



จากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551-2566 สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 22,512 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 12,260.6 ตัน คิดเป็นมูลค่า 81.14 ล้านบาท

 

30 ภาคีเครือข่าย ร่วมลดภาวะโลกร้อน

 

กทม.ยังได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย 30 หน่วยงาน ร่วมประกาศเจตจำนง กับกรุงเทพมหานครในการดำเนินการลดภาวะโลกร้อน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการขนส่งมวลชน 2.ด้านพลังงาน 3.พื้นที่สีเขียว และ 4.การจัดการขยะมูลฝอย



“ กรุงเทพมหานคร ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งกิจกรรมปิดไฟฯ ในวันนี้ เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความร่วมมือ หากประชาชนทุกคนตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและร่วมอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการปฏิบัติให้เป็นวิถีชีวิตประจำวัน เช่น ถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหากไม่ใช้งาน ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น ปิดไฟที่ไม่ใช้งานทุกครั้งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงมือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้จักรยาน การปลูกต้นไม้ การลดใช้รถยนต์ เป็นต้น ”

 

โลกดีขึ้นจากการปิดไฟได้อย่างไร ?


ด้วยวิธีง่าย ๆ เหล่านี้ ถ้าทุกคนร่วมมือกัน จะเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่ช่วยโลกของเราจากปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน จากหากทุกคนร่วมใจกันปรับพฤติกรรมเพียงคนละเล็ก ๆ น้อย ๆ

แต่มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกมหาศาล มีส่วนสำคัญในการลดระดับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระยะสั้น 60 นาที จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงเท่ากับลดจำนวนรถยนต์ในถนนไปถึง 48,000 คัน หรือช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงได้ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ ผลลัพธ์ที่ดีต่อโลกดังนี้


1.การอนุรักษ์พลังงาน


การลดใช้พลังงานจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ช่่วยประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานจากเชื้อเพลิงหินถ่าน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

2.ลดการปล่อยคาร์บอน


ไฟฟ้าที่ใช้ยิ่งมาจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ การลดปริมาณการใช้ก็เท่ากับลดปริมาณการเผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน


การลดการใช้ไฟฟ้า ทำสร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของพลังงานสะอาด จากธรรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และน้ำ เพราะการลดการใช้ไฟฟ้าทำให้ลดช่วงกระหน่ำการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืน จึงไม่ต้องเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนให้กับโลก

4.ส่งเสริมการตระหนักรู้


กิจกรรมปิดไฟ เพื่อลดการใช้พพลังงาน เพียง 1 ชั่วโมง ไม่การหยุดการใช้ แต่จะนำไปสู่การ กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม ทำไมเราจึงต้องมาร่วมกันปิดไฟ เข้าใจถึงปัญหาวิกฤติโลกร้อน และปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เห็นความสำคัญของการประหยัดพลังงาน เราจึงลุกขึ้นมาหยุดการใช้อุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น จากการลงมือทำด้วยตัวเราเอง จนถึงการสร้างความร่วมมือในชุมชน องค์กร และเมือง กรุงเทพฯ นั้นสร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร


5.ปรับพฤติกรรมสู่ความยั่งยืน


การลุกขึ้นมาปิดไฟเพียง 1 ชั่วโมง เป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นคนไทย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จนกลายเป็นนิสัยการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า มีการใส่ใจอนุรักษ์การใช้พลังงานในครัวเรือน จนนำไปสู่การคิดเป็นระบบ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน การบริโภค การใช้จ่าย การแยกขยะ การลดการใช้น้ำ การรีไซเคิล และการทำปุ๋ยหมัก


6.เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ


สภาพอากาศแปรปรวนได้ทำลายระบบนิเวศ ที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ สิ่งมีชีวิต สัตว์ พืชนานาพันธ์ุ การปิดไฟ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟููความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตคืนกลับมาเกื้อกูลโลกของเรา


Earth Hour คือการเริ่มต้นจากปิดไฟ 1 ชั่วโมง ในการกระตุ้นการตระหนักรรู้ ปลูกจิตสำนึกของผู้คนในสังคมให้หันมาใส่ใจการประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งที่สำคัญมากกว่าการปิดไฟ 1 ชั่วโมงคือการที่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสื่งแวดล้อม

 

แก้ปัญหาโลกร้อนที่ตัวเรา ร่วมด้วยช่วยกันลดใช้พลังงาน เพียงแค่ปิดไฟ 1 ชั่วโมง จะช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงได้ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ หรือหากช่วยกันทั้งกรุงเทพฯ ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ถึง 20 ตัน เท่ากับลดจำนวนรถยนต์ในถนนไปถึง 48,000 คันเลยทีเดียว

 

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI กล่าวว่า พลังงานเป็นส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อนเป็นหนึ่งปัญหาระดับโลกที่ต้องเร่งแก้ไข และซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาดังกล่าวมาจากการใช้พลังงานของมนุษย์ ดังนั้นการเข้าร่วมกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2024)” จึงเป็นกิจกรรมที่ต้องสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง

 

ทางสถาบันตระหนักถึงการลดใช้พลังงานในทุกๆวัน เช่น การปิดไฟที่ไม่จำเป็นหรือปิดไฟช่วงพักกลางวัน การกำหนดเวลาเปิด-ปิดแอร์ในสำนักงาน และสำหรับกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมงในปีนี้ถึงแม้ว่าตรงกับวันหยุดทำการของสถาบัน แต่ได้มีการกำชับเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ให้ร่วมปิดไฟที่ไม่จำเป็นที่บ้านเพื่อร่วมแสดงพลังรักษ์โลก ลดใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น


“การปิดไฟ 1 ชม.ถือเป็นกิจกรรมดีๆ ที่ช่วยให้คนหันมาใส่ใจการใช้พลังงานและถือเป็นจุดเริ่มต้นในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าหากจะทำให้คนตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าวและมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงแนวทางการลดใช้พลังงาน ปัญหาการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประชาชนต้องเผชิญ นำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการลดใช้พลังงานหรือปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน อาทิ การใช้พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดพลังงานก็น่าจะส่งผลดีในการลดใช้พลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน”

 

การสนับสนุนกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2024)” ถือเป็นพลังสำคัญในการร่วมลดปัญหาโลกร้อนง่ายๆ ด้วย2มือของตนเอง พร้อมเป็นการสะท้อนภาพพจน์ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI คือ องค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม ที่พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงรุกสู่การปฏิบัติร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ด้วยหลักธรรมาภิบาล

 

สำหรับ Earth Hour เป็นโครงการร่วมมือระดับนานาชาติ รณรงค์ให้ปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงปัญหา "ภาวะโลกร้อน" ซึ่งมาจากสาเหตุหลักคือการใช้พลังงานที่มากขึ้น ซึ่งหลังจากการปิดไฟเป็นเวลา 60 นาที จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการกระตุ้นสร้างจิตสำนึกของผู้คนในสังคมให้หันมาใส่ใจการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม

 

Earth Hour เป็นโครงการร่วมมือระดับนานาชาติ รณรงค์ให้ปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง  เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งหลังจากการปิดไฟเป็นเวลา 60 นาที จะะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงเท่ากับลดจำนวนรถยนต์ในถนนไปถึง 48,000 คัน หรือช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงได้ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ

 

Earth Hour จะไม่ประสบความสำเร็จแค่ภายใน 1 ชั่วโมงเท่านั้น แต่เป็นเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกระตุ้นสร้างจิตสำนึกของผู้คนในสังคมให้หันมาใส่ใจการประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งที่สำคัญมากกว่าการปิดไฟ 1 ชั่วโมงคือการที่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสื่งแวดล้อม