“ม.รังสิต” หนึ่งเดียวที่มี “กัญชา” ในครอบครอง...ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

by ThaiQuote, 18 มกราคม 2561

มหาวิทยาลัยรังสิต ถือเป็นสถาบันการศึกษา และเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้สามารถครอบครองพืชกัญชาได้โดยถูกกฎหมายเพื่อการวิจัยทางการแพทย์  โดยคณะเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต ได้ทำการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ 3 โครงการด้วยกัน ในเรื่องการนำประโยชน์ของกัญชามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง รศ.ดร.ภญ.นริศา คำแก่น อาจารย์ประจำหมวดวิชาเภสัชเวทและตัวยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การนำร่องการวิจัยด้านกัญชา ถือเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศไทย โดยเป็นการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ซึ่งขณะนี้มีการวิจัยใน 3 โครงการด้วยกัน คือ โครงการที่ 1.การสกัดสารกัญชา โดยลดการสูญเสียและเสื่อมสภาพของสารสำคัญ คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (delta-9-tetrahydrocannabinol หรือ THC) และแคนนาบิไดออล (Cannabidiol หรือ CBD) ให้คงอยู่ในปริมาณสูงที่สุด ซึ่งสารสำคัญดังกล่าวจะเป็นตัวที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ซึ่งอยู่ในระหว่างการวิจัยการใช้สารทั้ง 2 ชนิดด้านพิษวิทยา คือการใช้สารดังกล่าวจะมีผลกระทบข้างเคียงอย่างไรกับผู้ป่วยที่จำเป็นจะต้องใช้ในระยะเวลานาน โครงการที่ 2. ผลงานการวิจัยของ ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ อาจารย์ประจำหมวดวิชาเภสัชเวทและตัวยา ในหัวข้อ “การออกฤทธิ์ของ 9- tetrahydrocannabinol ต่อการลุกลามของเซลล์มะเร็ง” โดยนำกัญชาไปทดสอบฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งพบว่า กัญชาสามารถลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และลดการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้ค่อนข้างดี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการวิจัยในสัตว์ทดลอง โดยเป็นการศึกษาเซลล์มะเร็งในทางเดินน้ำดีซึ่งเป็นชนิดหนึ่งของการเกิดมะเร็งตับ โครงการที่ 3. การพัฒนาตำรับสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา โดย ภญ.วรวรรณ สายงาม อาจารย์ประจำศูนย์วิจัย โดยเป็นการทำวิจัยสืบเนื่องมาจากโครงการแรกที่มีการสกัดสารให้ได้สารสำคัญปริมาณสูงมาแล้ว จะนำมาคำนวณเพื่อให้ทราบขนาดยาที่ใช้ในการรักษา โดยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์รูปแบบสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากที่สกัดจากพืชกัญชาที่มีจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่มีใช้ภายในประเทศไทย เบื้องต้นหวังผลเกี่ยวกับอาการปวดจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีส่วนช่วยในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาแผนปัจจุบัน ทั้งนี้การทำวิจัยในรูปแบบของสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก เนื่องจากเมื่อฉีดพ่นสเปรย์เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุในช่องปาก ตัวยาจะสามารถดูดซึมได้ทันที ซึ่งแตกต่างจากยารับประทาน หากเรารับประทานยาลงไปตัวยาหรือสารสำคัญจะถูกสารในร่างกายทำลายไปได้ ดังนั้น ข้อดีที่เด่นชัดของยารูปแบบนี้ คือตัวยาจะไม่ถูกเมตาบอไลท์ที่ตับทำลาย และออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า สำหรับเหตุผลที่เลือกวิจัยสารสกัดจากกัญชา เนื่องจากกัญชาเป็นพืชที่มีสารที่เรียกว่า Cannabinoids มีสารยับยั้งมะเร็งในหลายชนิด แต่เป็นข้อบ่งใช้ในการใช้ร่วมกับเคมีบำบัด ซึ่งจะช่วยเป็นการรักษาแบบผสมผสานในการลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้หวังผลทั้ง 2 อย่างคือ ลดอาการข้างเคียงของเคมีบำบัด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และช่วยเพิ่มความอยากอาหาร เพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งได้ ในขณะเดียวกันก็มีผลต่อการเจริญเติบโตการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งด้วย โดยขณะนี้การวิจัยมีความคืบหน้าเป็นอย่างดี คาดว่าภายในอีก 3-4 เดือนต่อมาจากจะสามารถนำงานวิจัยดังกล่าวออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป

Tag :