เปิดตัวแล้ว “ท้าวทองกีบม้า” ราชินีแห่งขนมไทย

by ThaiQuote, 16 มีนาคม 2561

ท้าวทองกีบม้า เธอเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาที่เป็น เป็นลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น และเบงกอล โดยมารดาของท้าวทองกีบม้าชื่อ เออร์ซูลา ยามาดะ ซึ่งมีเชื้อสายญี่ปุ่นผสมโปรตุเกส ส่วนบิดาชื่อ ฟานิก กูโยมา เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมแขกเบงกอลและโปรตุเกสจากอาณานิคมกัว (ปัจจุบันคือรัฐกัว ประเทศอินเดีย)   ชีวิตของท้าวทองกีบม้านั้นมีทั้งในช่วงที่รุ่งโรจน์และอับแสง โดยเมื่ออายุได้เพียง 16 ปี ก็ได้สมรสกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน  ซึ่งมีอายุถึง 36 ปี (ในเรื่องบุพเพสันนิวาส รับบทโดย หลุยส์ สก็อต) เขาเป็นขุนนางชาวกรีกที่ทำราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ซึ่งเป็นขุนนางคนโปรดของพระนารายณ์ เริ่มต้นตองกีมาร์ไม่ได้รักฟอลคอน แต่ฟอลคอนได้แสดงความจริงใจ ด้วยการยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนนับถือ และเปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตามมารี จึงได้แต่งงานกันในที่สุด   ความสวยของนางตองกีมาร์จนเป็นนางอันเป็นที่รักเพียงคนเดียวของเจ้าพระยาวิชเยนทร์นั้น หลวงสิทธิสยามการเขียนถึงบุคลิกของท้าวทองกีบม้าในหนังสือ The Greek Favorite of The King of Siamความว่าท้าวทองกีบม้าเป็นหญิงสาวชาวญี่ปุ่นรูปร่างผอมผมดำตาสีน้ำตาลผิวหน้าสะอาดสดใสสูงราว 5 ฟุตรูปร่างเล็กสดใสร่าเริงแม้จะไม่สวยมากแต่ก็เป็นหญิงผิวคล้ำที่ดึงดูดใจและมีรูปร่างดี   ในงานบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ ได้กล่าวถึงพฤติกรรมท้าวทองกีบม้าหลังการสมรสกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ความว่า“…เขา (เจ้าพระยาวิชเยนทร์])ได้รับความชุ่มชื่นใจจากความเลื่อมใสศรัทธาและความกระตือรือร้นในพระศาสนาของภรรยาเป็นที่ยิ่ง จึงทำให้บ้านเรือนของเขานั้นเปรียบเสมือนว่าเป็นบ่อแห่งคุณธรรมความดีและพระศาสนา จนแทบกล่าวได้ว่า เป็นโรงธรรมยิ่งกว่าจะเป็นทำเนียบของขุนนางผู้ใหญ่ในแผ่นดินเสียอีก…” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมีเมตตาและความเคร่งในศาสนาของแม่นาง ตองกีมาร์   ชีวิตครองเรือนของแม่นางตองกีมาร์นั้นไม่ได้ราบรื่นมากนัก ทั้งนี้เพราะฟอลคอนเป็นคนเจ้าชู้ ก่อนหน้านี้ก็มีเมียที่เกิดจากหญิงชาววัง ซึ่งได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพ ครั้งเมื่อจะแต่งงานกับแม่นางตองกีมาร์ก็จัดส่ง เมียคนนั้นไปที่พิษณุโลก หลังแต่งงานแล้วก็ยังไม่ยุ่งกับคลารา (Clara) นางทาสชาวจีน ที่นางตองกีมาร์ดูแลอยู่ จนทำให้เธอไม่พอใจและไม่อยู่ร่วมกับสามีอีก   ปลายสมัยของสมเด็จพระนารายณ์เป็นช่วงที่เจ้าพระยาวิชเยนร์ตกอับ เพราะข้าราชการฝ่ายไทยหวาดระแวงว่าเขาจะยึดอำนาจและชักใยให้ท่านปีย์ขึ้นครองราช ซึ่งมีหลักฐานทางพงศาวดารระบุว่ามีจดหมายของเจ้าพระยาวิชเยนร์ที่ส่งถึงฝรั่งเศสจริง ดังนั้นหลังจากที่พระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์จึงประหารพระยาวิชเยนร์และยึดทรัพย์ต่างๆ   บาทหลวงอาร์ตุส เดอ ลียอน ที่เข้ามาเผยแผ่พระศาสนาในช่วงนั้น ได้ระบุเหตุการณ์ การจัดการทรัพย์สินของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ดังกล่าวว่า   “…วันที่ 30 พฤษภาคม เขาได้เรียกตราประจำตำแหน่งของสามีนางคืนไป วันที่ 31 ริบอาวุธ เอกสาร และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วันต่อมาได้ตีตราประตูห้องหับทั่วทุกแห่งแล้วจัดยามมาเฝ้าไว้ วันที่ 2 มิถุนายน ขุนนางผู้หนึ่งนำไพร่ 100 คนมาขนเงิน เครื่องแต่งบ้านและจินดาภรณ์ไป…”   แต่นางตอง กีมาร์ก็ได้ลอบแบ่งทรัพย์สินและเครื่องเพชรออกเป็นสามกล่อง สองกล่องแรกไว้กับบาทหลวงเยสุอิต ส่วนอีกกล่องเธอฝากไว้ที่ทหารฝรั่งเศสชั้นนายร้อยไป แต่บาทหลวงเยสุอิตเกรงจะไม่ปลอดภัยจึงฝากไว้กับนายพันโบช็อง แต่เมื่อทั้งบาทหลวงและนายพันโบช็องมาถึงบางกอก นายพลเดฟาร์ฌ จึงเก็บทรัพย์สินทั้งหมดไว้เอง ครั้นเมื่อถึงเวลาคืนทรัพย์สินของฟอลคอนแก่ออกญาโกษาธิบดีผู้แทนของไทย “ทรัพย์สินที่คงเหลือมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น” จึงทำให้มารีอาสิ้นเนื้อประดาตัว ประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกข์เวทนากับคุมขัง ดังปรากฏในบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ ความว่า   “…สุภาพสตรีผู้น่าสงสารผู้นั้น ถูกโยนเข้าไปขังไว้ในโรงม้าอันคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไม่มีข้าวของติดตัวไปเลย มีแต่ฟากสำหรับนอนเท่านั้น”   เหตุการณ์ที่แย่ที่สุดในชีวิตของนางคือ เมื่อหลวงสรศักดิ์พระโอรสในสมเด็จพระเพทราชาพระเจ้าแผ่นดินใหม่ มีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นภริยา เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็เกิดความเกลียดและขู่อาฆาต ดังปรากฏในพงศาวดารว่า   “…ฝ่ายภรรยาฟอลคอน ได้ถูกรังแกข่มเหงต่าง ๆ บุตรพระเพทราชาก็เกลียดนัก ด้วยบุตรพระเพทราชาได้ไปเกี้ยวภรรยาฟอลคอน แต่ภรรยาฟอลคอนไม่ยอม บุตรพระเพทราชาจึงเกลียดและขู่จะทำร้ายต่าง ๆ”   ตลอดเวลาทุกข์ลำบากนี้ นางพยายามหาทุกวิถีทางที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เพื่อขอออกไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา นายพลเดฟาร์ฌที่ประจำการที่ป้อมวิไชยเยนทร์ที่บางกอก ได้ให้สัญญากับนางว่าจะพาออกไปพ้นกรุงสยาม แต่นายพลเดฟาร์ฌได้บิดพลิ้วต่อนาง ต่อมานางได้ต้องการขอให้บาทหลวงกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฝรั่งเศสที่สามีเคยเป็นผู้อำนวยการแก่นางบ้า ซึ่งช่วงนั้นนางได้ ถูกส่งตัวเข้าไปเป็นคนรับใช้ในพระราชวัง และได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทำอาหารหวานประเภทต่างๆ ส่งเข้าไปในพระราชวังตามกำหนด การทำหน้าที่จัดหาอาหารหวานส่งเข้าพระราชวัง ท้าวทองกีบม้าได้ประดิษฐ์ขนมขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา โดยดัดแปลงตำรับเดิมของโปรตุเกส และนำเอาวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีในสยามเข้ามาผสมผสาน ซึ่งหลักๆได้แก่ มะพร้าว แป้งและน้ำตาล จนทำให้เกิดขนมใหม่ที่มีรสชาติอร่อย พระราชวังก็ได้ให้ความชื่นชมมากและถูกเรียกตัวเข้าไปรับราชการในพระราชวังในตำแหน่งหัวหน้าห้องเครื่องต้น ดังมีรายละเอียดในจดหมายเหตุฝรั่งเศสโบราณ ที่บันทึกการปฏิบัติหน้าที่ในห้องเครื่องต้นของนาง ความว่า   "...ภรรยา [ของนายคอนสแตนติน] เป็นท้าวทองกีบม้าได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผุ้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอด ขนมทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา"   หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมากๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์   ในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางมารี ตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้ที่สุด หลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ. 2265   นางตองกีมาร์หรือท้าวทองกีบม้าได้รับสมญานามว่า “ราชินีแห่งขนมไทย” จากจดหมายเหตุฝรั่งเศสโบราณ ที่บันทึกการปฏิบัติหน้าที่ในห้องเครื่องต้นของนาง ความว่า   "...ภรรยา [ของนายคอนสแตนติน] เป็นท้าวทองกีบม้าได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอด ขนมทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา" ซึ่งขนมเหล่านี้เป็ฯการดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกส ให้เป็นขนมหวานของไทย และเผยแพร่ไปทั่วจวบจนทุกวันนี้     ขอขอบคุณข้อมูลจาก / วิกิพีเดีย ขอขอบคุณภาพ / https://www.instagram.com/susiroo/

Tag :