อย. อย่าหวงอำนาจ บนความเดือดร้อนของชาวบ้าน

by ThaiQuote, 3 พฤษภาคม 2561

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์  องค์การอาหารและยา หรือ อย.ไม่นับเป็นอาหาร การขอขึ้นทะเบียน จึงใช้วิธีการที่ไม่สลับซับซ้อนนัก กำหนดให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต ให้ใส่รายละเอียดของส่วนผสม อย.พิจารณาตามรายละเอียดที่ยื่นขอ ระบบระเบียบดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่ดี ที่จะทำให้การขออนุญาตและการประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ติดปัญหาเป็นคอขวด 

ระเบียบนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ซื่อสัตย์ ไม่ทุจริตคดโกง แต่กับผู้ประกอบการที่ทุจริตคดโกงและจ้องเอาเปรียบผู้บริโภค กฎระเบียบนี้ไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้

เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปแล้ว จะพบว่า  อย.ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการเข้าไปตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์ทั้งหลายที่ยื่นขออนุญาต หรือกรณีของ “เมจิกสกิน” ที่มีการสวมหมายเลขอย.ก็ไม่มีการตรวจสอบ  เป็นช่องว่างให้ “คนทุจริตคิดคด”นำไปแสวงหาผลประโยชน์ โดยมิชอบ

ในปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ที่ขอการรับรองจากอย. ประมาณ 100,000 ผลิตภัณฑ์ ดูตามศักยภาพแล้ว อย.  ไม่น่าจะตรวจสอบได้ทัน แม้ว่า “เลขาธิการอย. “จะบอกให้ประชาชน “เชื่อมั่น”ในการทำงานของอย.ก็ตาม  ดูจากกรอบตำแหน่งข้าราชการ ปี 255-2557 อย.มีกำลังคนทั้งสิ้น 628 ตำแหน่ง เพียง 628 คน ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ นับแสนผลิตภัณฑ์ เฉลี่ย 1 คนต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์ 160 ผลิตภัณฑ์ หรือ 1 คนตรวจสอบผลิตภัณฑ์ 2 วันต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ ในทางสถิติเหมือนจะทำได้ แต่ในทางปฏิบัติการตรวจสอบผลิจภัณฑ์อาหารหรือเครื่องสำอางค์ จะต้องผ่านห้องปฏิบัติการใช้เวลาหลายวันจึงจะได้ผลออกมา

จึงไม่มีทางเป็นไปได้ ที่คน 600 คน จะตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีมากถึง  100,000 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งไม่มีระบบการตรวจสอบ หากผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงว่า อย.มีกำลังคนน้อย ทำให้การบริหารจัดการมีปัญหา  แต่หากพิจารณากันจริงๆ แม้กำลังคนจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการทำงานของอย.  แต่ปัญหาใหญ่จริงๆคือการบริหารจัดการ  การเพิ่มกำลังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การเพิ่มกำลังคนไม่ได้หมายถึง มีคนมาทำงานเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่หมายถึงการเพิ่มเครื่องมืออุปกรณ์และห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณและเวลาดำเนินการอีกนาน ไม่สามารถตอบสนองการบริหารประชาชนได้ทันท่วงที

เปรียบเทียบกรณี การตรวจรับรอง”ฮาลาล”  แต่เดิมเป็นอำนาจของ”จุฬาราชมนตรี”เพียงคนเดียว ต่อมามีการผ่องถ่ายอำนาจให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นผู้ตรวจสอบรับรอง สามารถแก้ปัญหาคอขวดได้เป็นอย่างดี และกำหนดให้มีที่ปรึกษาที่มีความรู้เรื่องฮาลาลตรวจสอบทุกเดือน หากมีข้อสงสัยก็สามารถส่งห้องแล็บให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตรวจสอบ ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาล 120,000 ผลิตภัณฑ์ มีปัญหาน้อยมาก

อีกองค์กรหนึ่ง กรมการขนส่งทางบก ที่มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพรถจำนวนหลายล้านคัน แต่เดิมการตรวจสอบสภาพรถ กรมการขนส่งทางบกดำเนินการเอง  ซึ่งแม้จะมีสำนักงานอยู่ทั่วประเทศแต่มีกำลังคนและเครื่องไม้เครื่องมือที่เพียงพอ สิ่งที่กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการคือ การให้ใบอนุญาตอู่รถที่มี”มาตรฐาน” ตรวจสอบ  อู่ไหนที่ไม่ทำตามมาตรฐานก็จะยกเลิกใบอนุญาต การบริหารจัดการของกรมการขนส่งทางบก จึงไม่มีปัญหา สามารถตอบสนองการบริหารให้ผู้ใช้รถได้เป็นอย่างดี

กรณีของอาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ อย. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองใบอนุญาตด้วยตัวเอง  คนเพียง 600 คน ไม่สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์นับแสนผลิตภัณฑ์ได้อย่างแน่นอน ไหนจะต้องไล่จับผู้ประกอบการที่กระผิดอีก จึงถึงเวลาที่”อย.จะต้องปฏิรูปตัวเอง” ปลดพันธนาการจากองค์กรตรวจสอบ มาเป็นองค์กรกำกับดูแล ผ่องถ่ายงานตรวจสอบให้เอกชนดำเนินการ

การบริหารยุคใหม่ หมดยุคการหวงอำนาจแล้ว การจะตอบสนองการให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่จะต้องผ่องถ่ายอำนาจผ่องถ่ายงาน ออกไป ให้ความสำคัญกับประชาชนมากกว่าความสำคัญของตัวเอง

Tag :