ไล่บี้ทวงคืน! พ่อค้าจีนหัวใส แปะยี่ห้อ"เจินเจิ่นโถว"ละเมิด"หมอนทอง"

by ThaiQuote, 16 พฤษภาคม 2561

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเรื่องประสาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ขอให้เพิกถอนการ ขึ้นทะเบียน ทุเรียน"หมอนทอง" หลังพบ ผู้ประกอบการ กรุงปักกิ่ง ฉวยโอกาสตีทะเบียน ในชื่อ"จินเจิ่นโถว" แปะยี่ห้อละเมิดสิทธิ์ สำนักงานเครื่องหมายการค้า ทบวงกำกับดูแลตลาดของจีน ระบุไทยสามารถยื่นคำร้องขอเพิกถอนเครื่องหมายการค้า "จินเจิ่นโถว" ในภาษาจีน ที่แปลว่า หมอนทอง ได้ หลังมีผู้ประกอบการจีนยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีน หลังจากมีกรณีผู้ประกอบการจีนนำคำว่า "หมอนทอง" หรือ "จินเจิ่นโถว" ในภาษาจีน ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ในประเทศจีน ทำให้ได้ถือครองสิทธิคำว่า "หมอนทอง" ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยและการส่งออกของประเทศ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานไปยัง สำนักเครื่องหมายการค้าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ CTMO รวมทั้ง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ สำนักงานพาณิชย์ กรุงปักกิ่ง เพื่อตรวจสอบข้อมูลด้านกฎหมาย และหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยฝ่ายไทย แสดงข้อกังวล กรณีมีผู้ประกอบการของจีน จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า "หมอนทอง" เมื่อเป็นเครื่องหมายการค้าในจีน และตรงกับ"หมอนทอง" ซึ่งเป็นชื่อพันธุ์ผลไม้ทุเรียนอันโด่งดังของไทย จึงไม่สามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าในจีนได้ โดยล่าสุดวานนี้(15 พ.ค.) มีหนังสือตอบกลับมาจาก กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ทบวงกำกับดูแลตลาดของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีสาระสำคัญระบุถึง การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "จินเจิ่นโถว" ในหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทุเรียน 7 รายการ รวมทั้งยังมี ข้อเสนอแนะจากสำนักงานเครื่องหมายการค้า ทบวงกำกับดูแลตลาดของจีน ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ประชาสัมพันธ์แจ้งให้ผู้ประกอบการ ผลิต และ จำหน่าย ทุเรียน พันธ์"หมอนทอง" ให้ความรู้ เกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน และดำเนินการเชิงรุกเพื่อปกป้องธุรกิจของบริษัท ส่วนกรณีเครื่องหมายการค้า "จินเจิ่นโถว" ที่ได้มีการยื่นจดทะเบียนแล้วในจีน หากมีความเห็นต่างจากผลการพิจารณา สามารถเรียกร้องสิทธิและปกป้องผลประโยชน์ได้ ทั้งในกรณีที่เครื่องหมายการค้าดังกล่าว อยู่ในช่วงของการประกาศการพิจารณาการจดทะเบียนเบื้องต้น หรือ เครื่องหมายการค้านั้นได้รับการจดทะเบียนแล้ว หรือเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ได้มีการใช้เป็นเวลาติดต่อกันนานเกิน 3 ปี หรือ แม้แต่เครื่องหมายการค้านั้น ผ่านการตรวจสอบยืนยันหรือนุมัติให้เป็นชื่อทั่วไปของสินค้า ก็สามารถขอเพิกถอนได้
Tag :