“HERO ถ้ำหลวง” หลงประเด็น หรือ ฉวยโอกาส?

by ThaiQuote, 13 กรกฎาคม 2561

  แต่สิ่งที่สังคมกำลังจับตา และกังวลตามมาก็คือ การสร้างกระแส การช่วงชิงกระแส เพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ หรือในหลายๆด้านจากปรากฏการณ์ ครั้งนี้ โดยเฉพาะ การใช้ประโยชน์จาก เด็กเยาวชน 13 คน ซึ่งเป็นผู้ประสบภัย มีความพยายามจะยกให้เด็กทั้ง 13 คน เป็นประหนึ่ง HERO  ของสถานการณ์ พยายามใช้ผลประโยชน์ต่างๆนานามาเสนอให้กับเด็กทั้ง 13 คน เพื่อเรียกกระแส โหนกระแส ให้กับตัวเอง  อย่าง กรณี สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งที่รีบเร่งออกหน้ารับจะให้การสนับสนุนทุนการศึกษาไปจนถึงขึ้นระดับปริญญาเอก  ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก   ความเป็นห่วงที่ เด็กๆเหล่านี้จะถูกกระแสผลประโยชน์จากองค์กรทางธุรกิจ หรือผลประโยชน์ทางสังคม ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาตักเตือน โดยเฉพาะ บทเรียนของต่างประเทศ ชาวชิลี คนงานเหมือง 33 ชีวิต ทีติดเหมืองอยู่นานกว่า 2 เดือนได้พยายามส่งสารข้ามโลก เตือนอย่าให้เด็กเหล่านี้หลงติดกับดัก ชื่อเสียง ที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อผลประโยชน์ต่างๆนานา พวกเขายอมรับว่า ขนาดพวกเขาซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ยังไม่สามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้  ดังนั้น 13 ชีวิต ทีมหมูป่า ที่ยังเป็นเด็ก เป็นเยาวชนคงยากที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้   ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องฉุกคิดและหาทางออกที่ถูกต้อง สังคมไทยต้องชัดเจนว่า การช่วยเหลือ 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวง เด็กๆ คือผู้ประสบภัย และเป็นภัยร้ายแรงที่อาจถึงชีวิตได้ เป็นภัยเป็นสถานการณ์ที่ยากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของโลก จนผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจและร่วมแรงร่วมใจกันทั้งที่ เดินทางมาช่วยเหลือ และ ส่งกำลังใจกันล้นหลาว  ต้องชัดเจน ว่า เด็กคือ ผู้ประสบภัย ไม่ใช่ HERO   สังคมไทยต้อง ชัดเจนว่า บรรดาเหล่า HERO คือ บรรดาทีมช่วยเหลือทั้งหมดทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งคนตัวเล็กๆ มากมาย ที่ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ผนึกกันทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังจนประสบความสำเร็จสามารถ นำพาเด็กๆออกมาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขาเหล่านี้ต่างหาก คือ HERO หากจะมีการสนับสนุนผลประโยชน์ใดๆ คิดถึงพวกเขาเหล่านี้ได้ไหม ? จะในรูปแบบใดที่เหมาะสม ลองคิดหาทางดู  อย่างเช่น ลูกๆของเหล่าบรรดา ซีล คนเก็บรังนก คนสูบน้ำ คนเจาะบาดาลเพื่อพร่องน้ำ ฯลฯ มหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมจะสนับสนุนให้ทุนการศึกษาพวกเขาหรือไม่ ในฐานะคนที่ร่วมกันกระทำความดี เป็นแบบอย่างของการทุ่มเทกายใจในการช่วยเหลือครั้งนี้ ?   ในส่วนของ เด็กเยาวชน 13 คนนั้นสิ่งที่สังคมไทย  และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูและเด็กและเยาวชนต้องตระหนัก ก็คือ จะต้องดูแลไม่ให้เกิดการนำเด็กเยาวชนเหล่านี้มาแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ต้องดูแลและปรับสถานะของเข้าให้กับคืนสู่สังคมตามปรกติ  ต้องให้พวกเขาตระหนักรู้ว่า มีคนมากมายเท่าไร ที่ต้องทุ่มแรงการแรงใจเพื่อที่จะกู้ภัยพวกเขาออกมาจาก สถานที่จากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสถานการณ์หนึ่งของโลก   พวกเขาจะต้องตระหนักสำนึกถึงบุญคุณของเหล่า HERO ที่ทุ่มสรรพกำลังลงไป พวกเขาจะต้องรู้ถึงการเสียสละอันยิ่งใหญ่ ของ จ่าเอกสมาน กุนัน หรือ “จ่าแซม” ที่เสียชีวิตลงจากภารกิจครั้งนี้  และ พวกเขาต้องตอบแทนสังคมไทย สังคมโลก ที่มอบความรัก ความห่วงใยให้พวกเขา ด้วยการเติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ รับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อส่วนรวม เหมือนกับที่พวกเขาได้รับ   “อย่าเลย กับการสร้างกระแส HERO เพื่อจะฉกฉวยผลประโยชน์   หยุดเถิด ก่อนจะเลยเถิด  พวกเด็กๆ หลุดพ้นจากถ้ำหลวงฯแล้ว ขออย่าได้สร้างกับดักล่อให้พวกเขาหลงกลไปติดถ้ำแห่งมายาของผลประโยชน์อีกเลย”   โดย ประภาคาร