โทษของการกินเค็ม

by ThaiQuote, 13 กรกฎาคม 2561

โซเดียมสูงส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?

การรับประทานโซเดียมในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป ล้วนส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งสิ้น จากการสำรวจของกรมอนามัยร่วมกับสถาบันโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าคนไทยส่วนใหญ่รับประทานโซเดียมมากถึง 2 เท่าของปริมาณที่แนะนำ ซึ่งผลเสียของการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงมี ดังนี้

เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ แม้ว่าโซเดียมจะมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากมีมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกาย ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไตยังสามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินได้ทัน แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มักจะไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา หัวใจ และปอด ทำให้แขน ขา บวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ในผู้ป่วยโรคหัวใจ น้ำที่คั่งในร่างกายจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้คนที่กินเค็มหรือได้รับเกลือเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มาก จะทำให้ความดันโลหิตสูง การรับประทานโซเดียมมากเกินไปทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คนอ้วน และผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ และสมอง เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมา นอกจากนี้ ยังพบว่าในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หากรับประทานโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมควบคู่กับยาลดความดันโลหิต สามารถลดความดันโลหิตได้ดีกว่าผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิตแต่ได้รับโซเดียมเกินกำหนด

เกิดผลเสียต่อไต จากการที่มีการคั่งของน้ำและความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือการเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารบางอย่างซึ่งมีผลทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น

โรคหัวใจ การที่เรามีปริมาณเลือดในร่างกายสูงจนนำมาสู่ความดันโลหิตสูงนั้น ย่อมทำให้หัวใจเกิดการสูบฉีดเลือดที่หนักและมีภาวะหัวใจเร็วมากกว่าเดิม ไม่เพียงแค่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตแต่เพียงเท่านั้น เพราะปริมาณของโซเดียมยังทำให้เกิดภาวะร่างกายบวมน้ำและมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งหากเป็นมากๆ ก็อาจจะหนักถึงขั้นหัวใจวาย

อัมพฤกษ์ อัมพาต หากผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงนานและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจนอาการเบาบางลง ผนังหลอดเลือดก็จะได้รับการถูกทำลายจนนำมาสู่การทำลายอวัยวะในส่วนอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อมา โดยเฉพาะสมองที่มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตมากที่สุด เพราะจะเกิดจากโรคหลอดเลือดในสมองแตก

โรคอ้วน การรับประทานเค็มจะทำให้หิวน้ำบ่อย และหากดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้จะทำให้น้ำหนักขึ้นจากพลังงานส่วนเกิน

โรคหอบหืด พบว่าการกำเริบของโรคหอบหืดสัมพันธ์กับการรับประทานเค็ม หากลดอาหารเค็มก็จะลดการกำเริบของโรคหอบหืด

วิธีลดปริมาณเกลือ ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้

• เน้นอาหารสดให้มากกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป และหันมาใช้สมุนไพรประกอบอาหารจะช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้นโดยไม่ต้องเติมเกลือลงไป

• หลีกเลี่ยงหรือบริโภคแต่น้อยสำหรับอาหารที่มีรสเค็มมาก และเครื่องจิ้มประเภทต่าง ๆ

• ชิมอาหารก่อนปรุง และถ้าหากจะใส่เครื่องปรุงก็ควรใส่ทีละน้อย

• อ่านฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณของโซเดียมทั้งหมด หากพบว่ามีปริมาณมากก็ควรหลีกเลี่ยง

ขอขอบคุณข้อมูล : denohealth

Tag :