สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบารมีเคียงคู่รัชกาลที่ ๙

by ThaiQuote, 11 สิงหาคม 2561

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้   โครงการที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้ง เป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น   นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้น ๆ เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ   สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นฐานการดำรงชีวิตของพสกนิกร คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ถวายพระราชสมัญญา "พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ" แด่พระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิคุณของรัฐบาล และปวงชนชาวไทย ในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ   ในกิจทางด้านการทหารนั้น ทรงดำรงตำแหน่งพันเอกผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ ทรงให้ความสนพระทัยต่อการดำเนินงานของกรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ตลอดมา โดยผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๒๑ จะเข้ามาถวายรายงานถึงผลการปฏิบัติงานพร้อมกับรับพระราชเสาวนีย์ตลอดจนคำแนะนำไปดำเนินการปฏิบัติอยู่เป็นประจำ   นอกจากปวงชนชาวไทยแล้ว บรรดาเพื่อนบ้านที่ต้องลี้ภัยอพยพมายังแผ่นดินไทย ก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยไปให้ความร่วมมือกับกาชาดสากลในการช่วยเหลือผู้อพยพ และพระราชทานครูเข้าไปสอนวิชาชีพให้แก่ผู้อพยพ กิจการดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนองค์กรระหว่างประเทศต่างพากันยกย่องและทูลเกล้าถวายรางวัลและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมาก ดังเช่น  
  • องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญซีเรส เทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้นและทรงเป็นผู้ "ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง" (๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๒)
  • มหาวิทยาลัยทัฟส์ จากรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรมในฐานะที่ทรงยกระดับฐานะการครองชีพของประชาชน และช่วยบรรเทาทุกข์ของเด็ก (พ.ศ. ๒๕๒๓)
  • สหพันธ์พิทักษ์เด็ก แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก (๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔)
  • สถาบันเอเชียโซไซตี้ แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม (๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘)
  • มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าของโลก สดุดีเทิดพระเกียรติ ในฐานะบุคคลดีเด่นด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า (๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๙)
  • ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ทูลเกล้าฯถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ ซึ่งสถาบันแห่งนี้เคยมอบให้ แต่เฉพาะ ผู้ที่เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลกเท่านั้น (๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑)
  • ศูนย์ศึกษาการอพยพ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐนิวยอร์ก กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงรับรางวัลความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยประจำปี ณ วอชิงตัน ดี.ซี. (๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓)
  • กลุ่มผู้สนับสนุนพิพิธภัณฑ์เด็กในสหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔)
  • องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ ในฐานะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอนุรักษ์และพัฒนางานศิลปหัตถกรรม ณ ศาลาธรรม จังหวัดเชียงใหม่ (๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕)
  • กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณพิเศษในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ ๕ รอบ ในฐานะทรงอุทิศพระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นผลให้แม่และเด็กนับล้านได้รับบริการขั้นพื้นฐาน (๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕)
  • กองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแห่งความเป็นเลิศในฐานะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพัฒนาสตรีไทย (๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕)
  • มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม (๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘)
  ด้านการเกษตรและชลประทาน ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง   การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเกษตรกรจะสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น   จึงกล่าวได้อย่างแท้จริงว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่๙  ทรงเป็นคู่บารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช  พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติล้วนแล้วแต่ยังความเจริญก้าวหน้า และความมั่นคงมาสู่ประเทศชาติ ดำเนินพระราชจริยวัตรตามหลักคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง ช่วยเสริมและแบ่งเบาพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดรัชสมัยที่พระองค์ทรงครองราชย์   ขอขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย