กรมการข้าวยันปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ยึดการตลาดนำ

by ThaiQuote, 16 สิงหาคม 2561

จากกรณีที่มีข้อวิจารณ์นโยบายปรับโครงสร้างการผลิตเกษตรกรรม 23,300 ล้านบาท โดยให้ชาวนาลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 3 ล้านไร่ และไปปลูกพืชระยะสั้นหรือทำเกษตรอย่างอื่นแทน ว่า รัฐบาลไร้ความสามารถในการส่งออกข้าวที่ชาวนาผลิตได้ภายในประเทศ และเป็นการซ้ำเติมชาวนาหากลดปริมาณเพาะปลูกก็จะยิ่งทำให้ชาวนามีรายได้ลดลงไปอีก ทั้งนี้ระบุให้รัฐบาลเร่งส่งออกข้าว โดยขอความร่วมมือจากตลาดนำเข้าเดิมในแถบแอฟริกา จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย และประเทศอื่น นั้น   นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ชี้แจงว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ต้องทำการผลิตข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาด ทำการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว และสร้างความเป็นธรรมในการขายข้าวให้แก่ชาวนา โดยมีเป้าหมายที่จะให้อุปทานข้าวสมดุลกับอุปสงค์ ทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ ไม่อ่อนตัวลง ต้นทุนการผลิตข้าวต่ำลง ทำให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่สูง มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2561 ชาวนาขายข้าวเปลือกเจ้าได้ตันละ 7,691 – 8,162 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิสามารถขายได้สูงถึงตันละ 15,078 – 17,076 บาท   อธิบดีกรมการข้าว ชี้แจงต่อไปว่า อย่างไรก็ตามการเพาะปลูกข้าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ข้าวราคาตกต่ำ โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรัง มีการใช้ทรัพยากรน้ำมาก มีการปลูกอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการพักดิน ทำให้สูญเสียความสมดุลของระบบนิเวศน์ รวมทั้งมีการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม ทำให้การปลูกข้าวได้ผลผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง โดยให้ชาวนาหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน อายุสั้น ประหยัดน้ำ และมีตลาดรองรับ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว พืชผัก เป็นต้น พร้อมทั้งมีมาตรการการบริหารจัดการน้ำ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การสนับสนุนปัจจัยการผลิต และการเชื่อมโยงการตลาดให้แก่ชาวนา ซึ่งจะทำให้ชาวนามีรายได้มากกว่าการปลูกข้าว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีรายได้มากกว่าการปลูกข้าวนาปรังไร่ละ 1,187.20 บาท (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ผลตอบแทนไร่ละ 1,450 บาท และข้าวนาปรังให้ผลตอบแทนไร่ละ 306.29 บาท)   ขณะที่ นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ชี้แจงประเด็นที่กล่าวถึงรัฐบาลไร้ความสามารถในการส่งออกข้าวที่ชาวนาผลิตได้ในประเทศและการขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศนั้น ว่า ขอยืนยันว่าไทยมีการส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกตลาด โดยมีสถิติส่งออกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 ส.ค.2561 เป็นตัวเลขยืนยัน โดยสามารถส่งออกข้าวปริมาณรวม 6.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2% มูลค่า 3,523 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.15% หรือประมาณ 111,987 ล้านบาท โดยมียอดส่งออกเติบโตทุกตลาด ทั้งในอาเซียน อเมริกา แอฟริกา และยุโรป เผยยังมีข้าวจีทูจีรอส่งมอบให้ฟิลิปปินส์อีก 1.2 แสนตัน และจีทูพีอีก 2.125 แสนตัน ย้ำยังมีแผนสร้างและขยายโอกาสข้าวให้เกษตรกรไทยต่อเนื่อง ทั้งข้าวสี ข้าวคุณภาพดี   นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ระหว่างทยอยส่งมอบข้าวปริมาณ 120,000 ตัน ให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ตามสัญญา G to G ซึ่งคาดว่าจะส่งแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งไม่รวมการส่งมอบข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ของเอกชนไทยที่ชนะการประมูลปริมาณ 212,500 ตัน และมีกำหนดส่งมอบในช่วงเดือน ส.ค. เช่นเดียวกัน   นายอดุลย์ ชี้แจงอีกว่า ในปัจจุบันรัฐบาลยังมุ่งเน้นผลักดันให้เกษตรกรชาวนาทำการผลิตและส่งออกข้าวที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อาทิ กลุ่มข้าวสีและข้าวเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยด และข้าว กข 43 เป็นต้น เพื่อยกระดับรายได้ และสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน   ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ร่วมกับภาคเอกชนในการเร่งจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และขยายตลาดข้าวเชิงรุก โดยมุ่งเน้นกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งผู้บริโภคในตลาดดังกล่าวหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นและมีแนวโน้มหันมารับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสดีในการเจาะตลาดและจำหน่ายข้าวไทยที่มีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น