ถึงเวลาปลดแอก “สาโท –เหล้าพื้นบ้าน” หรือยัง?

by ThaiQuote, 16 สิงหาคม 2561

กระแสดราม่าทำท่าจะร้อนแรงเมื่อมีการนำเสนอข่าวไม่หมด ยกแต่ประเด็นขายข้าวหมากขึ้นมา ทำให้กระแสสังคมโจมตีเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตอย่างหนัก จนกระทั้ง มีรายละเอียดว่าแท้จริงยายมีการขายข้าวหมาก และแอบขาย (พ่วง) สาโทด้วย โดยทำเป็นถุง ถุงละ 1 ลิตร จำนวน 11 ถุง จึงทำให้ถูกจับกุมเนื่องจากผิด พ.ร.บ.สุราฯ ฝ่าฝืนมาตรา 153 วรรค 1 มีโทษตาม ม. 192 เป็นเงินค่าปรับจำนวน 1 หมื่นบาท   อย่างไรก็ตาม ประเด็นไม่ว่าจะเป็นข้าวหมาก หรือ สาโท ทั้งสองอย่าง คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช่หรือไม่?  แน่นอน การทำ ข้าวหมากซึ่งเป็นขนมชนิดหนึ่ง คงไม่มีอะไรที่น่าติดใจในแง่การทำผิดกฎหมาย แต่ สาโท ซึ่งเป็นเครื่องดื่มมึนเมาพื้นบ้านที่ชาวบ้านทำกินกันมานานตั้งแต่โบร่ำโบราณ ก่อนจะมีการตรากฎหมายของรัฐบาลกลางกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามชาวบ้านผลิต โดยยกสัมปทานการผลิตไปให้กับนายทุนสุราผูกขาดผลิตขายจนร่ำรวยมหาศาลเช่นทุกวันนี้   กระแสเรียกร้องให้ภาครัฐ ยกเลิกกฎหมายห้ามชาวบ้านผลิตสุราพื้นบ้านมีมานานมีการต่อสู้มานาน จนมีการออกกฎหมายระเบียบให้ชาวบ้านสามารถผลิตสุรากลั่นพื้นบ้านและสุราแช่ได้ จนกระทั้งมีการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้ทำและขายสุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง และสุราแช่อื่น นอกจากเบียร์ พ.ศ. 2546 ออกมา แต่โดยหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้กลับมีข้อจำกัดมากมาย ต้องมีการร่วมกลุ่ม ต้องจดทะเบียนกับกรม ต้องมีโรงงานตามหลักเกณฑ์ ฯลฯ (ดูหลักเกณฑ์ http://www.kodmhai.com/m7/New/N25.html#m3)   การออกหลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้มีความยุ่งยากและมีต้นทุนที่สูงมาก จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถผลิตและพัฒนาสุราพื้นบ้านขึ้นมาได้จริง ทั้งๆ ที่การผลิตสุราแช่ สุราพื้นบ้าน เป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมา  ทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสในการพัฒนาเหล้าพื้นบ้านขึ้นมาให้มีคุณภาพและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายได้  ต่างกับสุราพื้นบ้านที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอย่าง เช่น สาเก ของญี่ปุ่น หรือ วอดก้า ของรัสเซีย เป็นต้น หรือ แม้กระทั้ง เบียร์ ในต่างประเทศจะมีการนำผลไม้ต่างๆ มาผลิตจำนวนมากมายหลายชนิด โดยเปิดให้ชาวบ้านสามารถผลิตได้จำนวนมากมาย   วันนี้ถึงเวลาหรือยังที่จะปลดแอก แก้อุปสรรค ให้ชาวบ้านสามารถผลิตสุราแช่ สุราพื้นบ้าน ขึ้นมาได้อย่างแท้จริง ประเด็นข้ออ้างที่ยกกันมานมนานว่า หากปล่อยให้ชาวบ้านผลิตกันได้โดยไม่จำกัดควบคุมจะทำให้เกิดปัญหาสังคม ชาวบ้านไม่ต้องทำอะไรกันเอาแต่กินเหล้าทั้งวัน เหตุผลนี้ไม่น่าจะเป็นจริง เพราะประเทศอย่างญี่ปุ่น รัสเซีย ที่เขาผลิตเหล้าพื้นบ้านได้ ก็ไม่เห็นจะเป็นเหมือนอย่างที่วาดภาพความน่ากลัวเหล่านั้น   เรื่องคุณภาพยิ่งไม่ต้องห่วง เพราะหากเปิดให้เขาสามารถผลิตดื่มกันเองได้ มีแต่จะระวังเรื่องคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และแน่นอน หากจะมีการผลิตเพื่อขาย การเข้ามาดูคุณภาพก็เป็นเรื่องของหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาส่งเสริมจะดีกว่าหรือไม่   และบางทีปัญหาราคาผลไม้บางชนิดตกต่ำอาจจะทุเลาลงได้ หากเปิดให้เขาเอาผลไม้เหล่านั้นมาผลิตเป็นเบียร์ สุราแช่ หรือสุรากลั่นพื้นบ้านได้ ถึงเวลาเปิดใจให้กว้าง และช่วยปลดล็อกปลดแอกให้กับชาวบ้านได้แล้วหรือยัง...? หรือยังจะปล่อยให้นายทุนน้ำเมากอบโกยสร้างความร่ำรวยอยู่เพียงฝ่ายเดียว?   โดย ประภาคาร