เหลียวหลังมองการพัฒนาเกษตรไทยสู่ “เกษตรโมเดิร์น”

by ThaiQuote, 24 กันยายน 2561

หรือไม่ก็การนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการบริการ อย่างเรื่อง การเงินอเล็กทรอนิกค์ ล่าสุด รัฐบาลได้มีการตั้งเป้าเพื่อเดินหน้าผลักดันการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และมีการมองแนวทางปรับปรุงนโยบายทางการเงิน อาทิ ด้านภาคบริการทางการเงิน ให้สอดรับและเตรียมรับการเข้าสู่เศรษฐกิจยุค 4.0 แต่ที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือเราไม่ควรลืมการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรและเกษตรกรไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของบ้านเรา ให้ปรับตัวและสามารถใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจ Digital Economy ให้ได้มากที่สุดเช่นกัน เพราะภาคการเกษตร ซึ่งรวมถึงปศุสัตว์ การประมง และกสิกรรม เป็นเหมือนฐานรากของชาติ ที่ต้องสร้างความเข้มแข็ง และจะเป็นหลักในการผลักดันการฟื้นฟูและเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยแบบยั่งยืนและไม่กระจุกตัว เมื่อภาคเกษตรเข้มแข็งจะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชนบทและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งมองว่าเป็นปัญหาโครงการสังคมไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาเกษตรยุคใหม่ให้ก้าวผ่านความท้าทายในยุคนี้และใช้ประโยชน์จากยุค Digital Economy ได้อย่างไร ขอวิเคราะห์มาให้อ่านกันในลักษณะเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของยุโรป ภาคการเกษตรต้องเชื่อมโยงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่รากหญ้าให้ได้ ประเทศไทยเรามีศักยภาพมากพอ ในการทำวิจัยหรือคิดค้นวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการเกษตร แต่ปัญหาดูเหมือนจะเป็นการนำเทคโนโลยีที่คิดค้นแล้วเหล่านั้นมาสร้างมูลค่าทางการค้า เพื่อให้กลายเป็นผลผลิตในเชิงพาณิชย์ ก็คือสินค้าเกษตรใหม่ที่ขายได้ดี ติดตลาด ส่งออก ทำเงินและสร้างงานให้เกษตรกรในระดับรากหญ้า นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อที่ช่วยให้เกษตรกรทำงานง่ายขึ้น และพัฒนาผลผลิตให้คุ้มทุนมากขึ้น การใช้ นวัตกรรมเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องใช้เงินลงทุนสูง เพื่อหวังผลในระยะยาว ภาครัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจังและจริงใจ   การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรผ่านเครื่องมือสารสนเทศน์ใหม่ๆ และตลาดดิจิทัล น่ายินดีที่เห็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้และกระทรวงพาณิชย์ได้พัฒนาการให้ข้อมูลข่าวสาร (Big Data) ในลักษณะนี้ไปมากแล้ว และที่น่าจะมีการพัฒนาต่อไปอาจเป็นการมีตลาดดิจิทัลหรือการซื้อขายออนไลน์ ที่สามารถเช็คราคาและซื้อขายพืชผลทางการเกษตรแบบออนไลน์ได้ การพาภาคเกษตรไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล ต้องการเกษตรกรรุ่นใหม่ ดังนั้น ปัญหาทัศนคติเกี่ยวกับการเป็น “เกษตรกร” ก็สำคัญ จากศึกษาพบว่าภาคเกษตรมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรมานาน และคนรุ่นใหม่เลิกอาชีพทำการเกษตร เพราะมีทัศนคติว่าอาชีพเกษตรกรเป็นงานหนัก รายได้ไม่แน่นอน จึงไม่มีแรงดึงดูดให้ประกอบอาชีพนี้ ภาคการเกษตรของไทยแม้มีสัดส่วนมูลค่าเพียงร้อยละ 8.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) (ที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ) และมีแนวโน้มลดลง แต่การทำเกษตรกรรมเป็นน้ำเลี้ยงชีวิตของเกษตรกรกว่า 16.7 ล้านคนหรือประมาณ 25.9 % ของประชากรทั้งประเทศ แต่ผลสำรวจสถานการณ์ชาวนาไทยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังพบว่า เกษตรกรทำนากว่าร้อยละ 80.5 ไม่อยากให้ลูกหลานทำนาเช่นเดียวกับตน และผลสำรวจข้อมูลของคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า จำนวนนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรมีจำนวนลดลงประมาณร้อยละ 5-8 ต่อปี และในการเลือกอันดับในการศึกษาต่อส่วนใหญ่เลือกคณะเกษตรอยู่ในอันดับ 3 หรืออันดับ 4 ชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยไม่ได้สนใจที่จะเรียนด้านการเกษตร แม้ว่าจะสำเร็จการศึกษาด้านการเกษตร ส่วนใหญ่ยังคงเลือกทำงานเป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรมากกว่าที่จะมาทำอาชีพการเกษตรโดยตรง อยากให้มองภาคการเกษตรในยุโรป เป็นตัวอย่าง เกษตรกรในยุโรปเป็นอาชีพที่รวย มีที่ดิน มีรายได้สูง และใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในระบบการผลิต และที่สำคัญ สินค้าเกษตรในยุโรปได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหาร สิ่งแวดล้อม หรือแรงงาน และผู้บริโภคก็พร้อมจะซื้อในราคาที่สูงขึ้น ที่น่าสนใจคือในยุโรป เวลาเราซื้อสินค้าและผลิตผลทางการเกษตรจากตลาด ที่เป็น “สินค้าพื้นบ้าน” ที่ปลูกและผลิตเองในภูมิภาคหรือหมู่บ้านนั้นๆ มีราคาแพงกว่าการซื้อสินค้าเกษตรและอาหารในห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่วนมากเป็นสินค้าเกษตรนำเข้าจากประเทศที่ 3 เกษตรต้องเร่งการปรับตัว แต่ประเทศไทยเราโชคดีที่มีความสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” เพราะมีภาคการเกษตรเป็นฐานการผลิตอาหารและด้านพลังงานทดแทนให้กับประเทศ แต่อย่านิ่งนอนใจ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ภาคการเกษตรต้องได้รับการพัฒนาและปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน ยุคดิจิทัลเป็นยุคที่เราไม่ควรปล่อยให้เกษตรกร และการทำเกษตรกรรมกลายเป็นเรื่องล้าหลังหรือตกยุค แต่ภาคเกษตรต้องเร่งการปรับตัวและนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาตอบรับเข้าสู่การเกษตรยุคใหม่ ยกระดับเป็น "เกษตรโมเดิร์น" ให้ได้ โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า ในขณะที่ภาคธุรกิจใหญ่ๆ และภาคอุตสาหกรรมการเกษตรน่าจะปรับตัวได้ง่ายและรวดเร็วกว่า แต่ภาคการเกษตรชนบทคงยังต้องพึ่งพาภาครัฐในการพัฒนาให้ก้าวทัน และก้าวไปพร้อมๆ กัน ไม่เช่นนั้นช่องว่างในการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งมากขึ้น