“อุตตม” ชวนญี่ปุ่นร่วมลงทุน EEC เต็มรูปแบบ

by ThaiQuote, 5 ตุลาคม 2561

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน EEC หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (JETRO) ถือเป็นการตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยที่ดำเนินมานาน โดยจะเป็นประโยชน์ของประเทศไทยในหลายภาคส่วนไปพร้อมกันไม่ใช่เฉพาะแค่พื้นที่ EEC “วันนี้โครงการ EEC ถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างอย่างมาก ในด้านของโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตนเชื่อว่าความก้าวหน้าเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนญี่ปุ่นและต่างประเทศอื่นๆ ดังนั้น ก้าวต่อไปจากนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่การลงทุน แต่จะเป็นเรื่องของการพัฒนาบุคลากร สิ่งแวดล้อม และเมือง ที่จะมีพร้อมๆ กันใน EEC โดยความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในด้านต่างๆ จะต้องมีการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมในปีหน้าให้ได้” ทั้งนี้ JETRO จะเป็นหน่วยงานที่จะเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่าง EEC ภาคอุตสาหกรรม ภาคผู้ประกอบการไทย ร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากการเชื่อมโยงดังกล่าวจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงในด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่นการนำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นจากจังหวัดมิเอะมาเยือนประเทศไทยในช่วงกลางเดือน พ.ย.61 ที่จะถึงนี้ สำหรับการมาเยือนประเทศไทยของนักลงทุนญี่ปุ่นจากจังหวัดมิเอะนั้น จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะเป็นผู้นำ โดยจะมีความร่วมมือเรื่องของการจัดตั้งศูนย์Thai-Mie Innovation Center เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาด้านวัตกรรมใหม่ที่ญี่ปุ่นและไทยมีความสนใจร่วมกัน รวมทั้งเรื่องของผลักดัน Startup โดยเริ่มต้นที่เรื่องของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นที่สนใจของทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีสถาบันอาหารเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และอาจใช้พื้นที่ของสถาบันอาหาร ด้าน ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงาน EEC กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ JETRO และ สกพอ. ที่จะทำงานร่วมกันในการสร้างกรอบความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดย JETRO และ สกพอ. จะมีกิจกรรมร่วมกันในหลายประการคือ
  1. แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวข้องกับนโยบายของ EEC สิทธิประโยชน์ และขั้นตอนการลงทุนต่างๆ ให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับทราบ
  2. สนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในหลายสาขา อาทิเช่น อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และการยกกระดับการวิจัยและพัฒนา (R&D)
  3. ผลักดันการลงทุนใหม่จากบริษัทญี่ปุ่นในสาขาเฉพาะ (Sector-Specific Approach) เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์
  4. ร่วมกันขับเคลื่อน ให้โครงการการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นใน EEC ให้เกิดผลสำเร็จ
ขณะเดียวกันนายฮิโรกิ มิตซูมาตะ ประธาน JETRO ประจำประเทศไทย และภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดี JETRO และสำนักงาน EEC จะได้ผนึกกำลังสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันเพื่อผลักดันขับเคลื่อนการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นในโครงการลงทุนในพื้นที่ EEC อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีทั้งจาก JETRO และ สำนักงาน EEC  ขณะที่จำนวนของโครงการที่นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมานั้นมีทั้งหมด 114 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งหมดประมาณ 97,400 ล้านบาท   ข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.thaiquote.org/content/48296 https://www.thaiquote.org/content/48140 https://www.thaiquote.org/content/47848