สามเหลี่ยมศก.ชายแดนใต้ไม่คืบ – นักวิชาการสะท้อนปัญหา

by ThaiQuote, 9 ตุลาคม 2561

ทีมข่าว Thaiquote ผ่านมาสู่ปีที่ 2 หลังจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ให้มีโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่ครอบคลุมในช่วงปี 2560 - 2563 โดยมีหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาโครงการในพื้นที่ 3 อำเภอของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษลักษณะเฉพาะ เพื่อให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนที่จะให้สามารถสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ และสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย แต่ดูเหมือนว่า โครงการต่างๆ ตามนโยบายนี้ ยังไม่คืบหน้าและชัดเจนเท่าที่ควร สนามบินเบตงที่เป็นหนึ่งในแผนพัฒนา ก็ยังไม่เสร็จตามเป้าหมาย และล่าสุดยังมีโครงการสนามบินสตูล เพิ่มขึ้น เพื่อหวังใช้หนุนการท่องเที่ยวเข้าไปอีก แต่อะไรทำให้โครงการล่าช้า แล้วฉากสุดท้ายปัญหาไฟความรุนแรงใต้จะมาถึงเมื่อไหร่ เศรษฐกิจความเป็นอยู่ในพื้นที่จะเสถียรได้ตอนไหน? การไม่คืบหน้าของโครงการนี้นั้น วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตผู้เชี่ยวชาญสายความมั่นคงและจังหวัดชายแดนใต้ มองว่า  มีอย่างน้อย 2 ประเด็น  อย่างแรกเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ คือเข้าใกล้กระบวนการการเลือกตั้ง โครงการต่างๆ ก็จะชะลอหรือนโยบายต่างๆ ดูความเป็นไปได้ หรือดูแนวโน้มความต่อเนื่องของผู้มีอำนาจ จะกลับมาสานนโยบายตรงนี้ต่อหรือเปล่า รวมทั้งกลไกข้างในเองด้วย นั้นคือข้าราชการฝ่ายปฏิบัติงานที่เกิดความไม่แน่ใจ “ ถามว่าโครงการนี้ดีไหม คำตอบคือ ดี แต่ว่ามันนำมาสู่ประเด็นที่ 2 คือ ด้านความมั่นคงรวมไปด้วย แม้ว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาบูรณาการสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พยายามทำให้เกิดกระบวนการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ แต่ท้ายที่สุดกลไกที่ขับเคลื่อนหลักคือ กองทัพ ฉะนั้นแกนสำคัญคือกองทัพภาคที่ 4 แม่ทัพคนใหม่เข้ามา (พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์) แน่นอนว่า นโยบายไม่น่าจะเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ฝ่ายปฏิบัติงานชุดใหม่ต้องเข้ามาสู่การเรียนรู้งานปรับจูนการทำงานชุดใหม่ที่เข้ามาทำงานด้วย เลยทำให้โครงการดังกล่าวมีความชะลอตัวไปพอสมควร ประกอบกับ โครงการนี้ยังไม่สามารถเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมออกมาอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับผลงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ECC มีแนวโน้มที่จะคลอดออกมาให้รัฐบาลชุดนี้เชยชมอ้างเป็นผลงานได้ ด้วยความที่พื้นที่มีความปลอดภัย  เป็นพื้นที่เข้าออกง่ายของนักท่องเที่ยว  แต่อย่างไรก็ดี พื้นที่ของโครงการมันก็เป็นพื้นที่ที่การคมนาคมนั้นยังอยู่ในแผนการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้าง เช่น สนามบินเบตง ยังไม่เห็นออกมาเป็นรูปธรรม เป็นการวางแผนโครงการที่เป็นการสานฝัน ในระยะยาวนั้น มันไม่สามารถรอได้ มันต้องมีการหวังผลในระยะยาวด้วย “ วันวิชิต สะท้อนความเห็น ลงทุนต้องไม่กระทบพื้นที่-รบ.เดินถูกทาง แต่กับประเด็นที่ว่า การใช้แผนเศรษฐกิจแก้ปัญหาความมั่นคง จะได้ผลอย่างชัดเจนหรือไม่ นักวิชาการผู้นี้ ฉายภาพว่า เป็นความเชื่อว่าการนำความเจริญมาให้ การให้โอกาส ผลิตโอกาสให้กับคนในพื้นที่มากขึ้น จึงมีความเชื่อว่า หลายคนที่เห็นต่างจากรัฐจะกลับตัวกลับใจมาร่วมมือมากขึ้น ท้ายที่สุดสิ่งที่สำคัญคือ การแสดงความจริงใจและความต่อเนื่อง “แน่นอนว่าเอาเม็ดเงินลงไป แต่ต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตดั่งเดิมของคนในพื้นที่ ผมเชื่อว่า รัฐบาลเดินทางมาถูกแล้ว แต่ทั้งหลายทั้งปวง ฝ่ายนักยุทธศาสตร์เชื่อว่า กลุ่มก่อความรุนแรง กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ หรือ กลุ่มคนที่ปลูกฝังความคิดรุ่นเก่า ค่อยๆ หายไป เด็กรุ่นใหม่ที่โดยปลูกฝังความคิด ก็เริ่มเห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น เป็นตัวบ่งชี้ว่าฝ่ายความมั่นคงซื้อเกมส์ในระยะยาว ซื้อเวลา เพื่อให้ความคิดคนเปลี่ยนไป ไม่ได้ซื้อเวลาเพราะไม่มีผลงาน ไม่ใช่คนละประเด็น แต่เป็นการซื้ออนาคต เพื่อการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีแผนหลายระลอก เพื่อแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจจะมีการพัฒนาที่มากขึ้นด้วย”วันวิชิต ย้ำ เมื่อถามว่า แล้วคนในพื้นที่จะมีความรู้สึกมีส่วนร่วมกับการพัฒนาขนานใหญ่ครั้งนี้หรือไม่ อาจารย์วันวิชิต บอกว่า อยู่ที่การทำงานของฝ่ายราชการในพื้นที่ ที่จะบอกถึงประโยชน์ที่คนในพื้นที่จะได้รับ การประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่องค์กรศาสนา หรือภาคประชาสังคมด้วย ว่ามีความตั้งใจที่ที่จะทำให้พื้นที่มันดีขึ้น และไม่ผิดกับวิถีชีวิตที่เคยปฏิบัติ “การยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างเช่น โรงเรียนโอกาสทางการศึกษา หรือ โรงเรียนการสอนศาสนา ให้มีวิชาทางสามัญมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน ฉะนั้น ไม่ใช่การที่รัฐไปควบคุมแต่รัฐเข้าไปบูรณาการ ทำความคุ้นเคยทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่มากกว่า และสิ่งสำคัญ ฝ่ายความมั่นคงเขาคงต้องการแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะผู้บัญชาการกองทัพบกกับแม่ทัพภาคที่4 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกัน อย่างน้อย 2-3 ปีนี้ จะต้องมีมิติในแง่ความสงบอย่างแน่นอน ความสงบสุขในพื้นที่ ต้องมีเป็นผลงานให้ได้ “ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจต้องหวังระยะยาว ด้าน ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มองว่า ปัจจัยต่างๆ ในโครงการนี้พร้อมแล้ว เพียงแต่ในส่วนความล่าช้าอาจจะมาจากเรื่องการจัดการงบประมาณและแผนงานในการปฏิบัติ และภาพใหญ่ของโครงการนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะว่าเรื่องเหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์ในระยะยาวมากกว่า เพราะถ้าจะหวังผลในระยะสั้น คงไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลได้ในแง่เศรษฐกิจ “เพราะโครงการที่ส่งเสริมลงไปเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่า รวมทั้งในแง่ของการเอาชนะทางการเมืองเอาชนะทางจิตใจ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนต่อรัฐบาล เป็นนโยบายด้านความมั่นคงต่อรัฐ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประเด็นนี้จึงไม่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจริงๆ ถ้าจะต้องทำจริงๆ ผมมองว่าจะต้องมีการปรับแผนใหม่ ปรับปรุงนโยบายใหม่ให้ได้ผลทางเศรษฐกิจจริงๆ ซึ่งตามโครงสร้างที่มีในปัจจุบัน ไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้ เพราะว่ามันเป็นโครงการที่เน้นไปที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่า “ ในช่วงท้ายถามถึงการประเมินการให้คะแนนในการดูแลความมั่นคงในพื้นที่ของรัฐ นายศรีสมภพ กล่าวว่า จากการสำรวจประเมินบนพื้นฐานความรู้สึกของประชาชน ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนให้คะแนน 4.7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เกือบผ่าน แต่ยังตกอยู่ สาเหตุที่ตก แยกเป็นประเด็นการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการสันติวิธี อันนี้ได้คะแนนบวก แนวทางสันติภาพสันติสุขได้รับการยอมรับ เพียงแต่ว่าแนวทางปฏิบัติต่างๆ ยังมีปัญหาที่อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไข อย่างไรก็ตาม หลายอย่างถือว่าประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะคะแนนมันก่ำกึ่ง” ศรีสมภพ ทิ้งท้าย