ออกกำลังกาย งดเหล้า บุหรี่ อาหารรสเค็มจัด ห่างไกลกระดูกพรุน

by ThaiQuote, 19 ตุลาคม 2561

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ ได้กำหนดให้ วันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันกระดูกพรุนโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลรักษากระดูก ป้องกันการเป็นโรคกระดูกพรุนในอนาคต จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิง และ 1 ใน 5 ของผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ  45 ปี   ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน หรือ กระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟ นั่งทำงานเป็นเวลานาน ขาดการออกกำลังกาย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ธัยรอยด์ มะเร็ง ข้ออักเสบ รูมาตอยด์ ไต และโรคเลือด รวมถึงผู้ที่ใช้ยาประจำ เช่น ยากันชัก ยารักษาโรครูมาตอยด์ ยาลูกกลอนที่ผสมสเตียรอยด์ มีโอกาสเสี่ยงจากโรคดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้โรคกระดูกพรุนเป็นภาวะที่เนื้อกระดูกบางจากการสูญเสียแคลเซียม ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง ผุกร่อน รับน้ำหนักได้ไม่ดี หากเกิดการบาดเจ็บ กระทบกระแทก หรือแค่ยกของหนักเพียงเล็กน้อยอาจทำให้กระดูกหักได้ง่าย อาการสำคัญของโรคกระดูกพรุน คือ ปวดตามกระดูกโดยเฉพาะกระดูกส่วนกลางที่รับน้ำหนัก เช่น กระดูกสันหลัง สะโพก รวมถึงข้อต่างๆ ต่อมาหลังจะโก่งค่อม ตัวเตี้ยลงเนื่องจากกระดูกสันหลังยุบตัวลง ทำให้ปวดหลังมาก เคลื่อนไหวตัวลำบาก   นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลเลิดสินกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการ "รู้ทัน...กันหักซ้ำ" โดยได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการป้องกัน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งพบว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่มีกระดูกหักหนึ่งจุดเนื่องจากภาวะกระดูกพรุนจะมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกหักซ้ำเพิ่มได้อีกในบริเวณอื่นๆ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสะโพก กระดูกหลัง กระดูกข้อมือ   ดังนั้น การป้องกันโรคกระดูกพรุนสามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า ไม่ดื่มน้ำอัดลม เนื่องจากในน้ำอัดลมมีกรดฟอสฟอริกสูง ทำให้มวลกระดูกลดต่ำกว่าเกณฑ์ งดดื่มกาแฟ และไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัด มีผลมีผลทำให้มวลกระดูกต่ำได้ รวมถึงการใช้ยาลูกกลอน และควรเพิ่มอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง เช่น นม ผลิตภัณฑ์นม ปลาตัวเล็กที่สามารถกินได้ทั้งกระดูก เนยแข็ง ผักใบเขียว รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นเรื่องสำคัญ ตลอดจนใส่ใจดูแลสุขภาพ ทำให้ร่างกายห่างไกลจากโรคกระดูกพรุนได้