สนข. เล็งผุด อุโมงค์-สะพานข้ามแยก 50 จุดทั่วกรุง

by ThaiQuote, 8 พฤศจิกายน 2561

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้รับนโยบายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สำรวจและศึกษาถนนที่มีปัญหาหารจราจรติดขัด เพื่อดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด หรือสะพานลอยข้ามแยกภายในระยะเวลา 1 เดือนนั้น ซึ่งในเรื่องดังกล่าว สนข.เคยมีผลการศึกษามาแล้วเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา   ในปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) มี 500 ทางแยก โดยเป็นจุดวิกฤติและยังไม่มีการดำเนินการสร้างอุโมงค์หรือสะพานข้ามแยก ประมาณ 50 ทางแยก ซึ่งตามกรอบเวลา 1 เดือนนั้น จะได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการใน เส้นทางใดบ้าง ก่อนที่จะกำหนดระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงการเสนอของบประมาณก่อสร้างในปี 2563 ต่อไป   อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะทบทวนผลการศึกษา และหารือร่วมกับ กทม. กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการในเส้นทางใด   ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีฯ ได้ให้แนวคิดว่า เส้นทางถนนรัชดาภิเษกในอนาคต จะต้องไม่มีสัญญาณไฟจราจร เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางแยกสำคัญ โดยในเบื้องต้นได้กำหนดไว้ที่บริเวณวงแหวนรอบในของถนนรัชดาภิเษก ที่ยังไม่มีการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด หรือสะพานลอยข้ามแยก อาทิ ทางแยกพระราม 9 ทางแยกอโศก ทางแยกเกษมราษฎร์ ประชาชื่น เป็นต้น   ขณะเดียวกัน จะพิจารณาไปถึงวงแหวนชั้นกลาง (กาญจนาภิเษก) และวงแหวนชั้นนอก (วงแหวนรอบ 3) ด้วย เบื้องต้นวงเงินที่จะใช้สร้างอุโมงค์ทางลอดประมาณ 300-500 ล้านบาทต่อแห่งแล้วแต่ระยะทาง ขณะที่วงเงินก่อสร้างสะพานลอย 150-200 ล้านบาทต่อแห่ง   อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีแผนโครงการก่อสร้างทางแยก 34 แห่ง ปี 60-72 แบ่งเป็น กทม. 17 แห่ง ทล.16 แห่ง และ ทช. 1 แห่ง ซึ่งเริ่มแผนงานไปแล้วของ กทม. เช่น ทางลอดใต้ทางแยกถนนจรัญสนิทวงศ์พรานนก(แยกไฟฉาย) ส่วน ทล. สะพานเข้าอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมืองทางหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ขณะที่แผนปี 2562 จะเริ่มทำเดินการ ของ ทล. อาทิ ทางแยกต่างระดับลำลูกกาคลอง 7 (ทล.หมายเลข 3312ตัด 3592, ก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางแยกแครายทางหลวงหมายเลข 302 ตัด 306, ก่อสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิทางหลวงหมายเลข 7 และ ทช. ก่อสร้างทางต่างระดับ. ตัดถนนสาย ปท. 4001 กับ ทล.352 คลองหลวง จ.ปทุมธานี ขณะที่ กทม. จะสร้างสะพานยกระดับบนถนนลาดกระบัง   นอกจากนี้  นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ไปดำเนินการสะพานข้ามแม่น้ำ เพื่อเชื่อมต่อการดำเนินการของ กทม. ฝั่งธนฯและฝั่งพระนคร เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่เพียงพอในการรองรับการเดินทาง ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดไม่สามารถดำเนินการในรูปแบบสะพานข้ามแม่น้ำได้นั้น จะปรับรูปแบบเป็นอุโมงค์ลอดแม่น้ำ ขณะที่แนวคิดการก่อสร้างทางด่วนลอดแม่น้ำ ช่วงสาทร-บางกระเจ้า ระยะทาง 10 กิโลเมตรนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น และเตรียมนำเสนอแนวคิดให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ งบประมาณในการก่อสร้างทางด่วนลอดแม่น้ำ ขนาด 4 ช่องจราจรนั้น จะมีราคาอยู่ที่กิโลเมตรละประมาณ 5,000 ล้านบาท