สนช.ชี้ ถอนสิทธิบัตรกัญชาต่างชาติก่อน กม.ยังไม่เปิดช่อง

by ThaiQuote, 14 พฤศจิกายน 2561

วันนี้ (14 พ.ย. 61) นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิปสนช.เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ได้รับหลักการมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีของร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ในประเด็นที่จะปลดล็อคเพื่อนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ตามที่สมาชิกสนช.ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายไปก่อนหน้านี้ โดยตามกำหนดเดิมวิปสนช.จะเสนอให้ประธานสนช.บรรจุระเบียวาระเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระที่1 วันที่ 16 พ.ย. แต่มีเหตุขัดข้องทำให้ต้องเลื่อนวาระดังกล่าวออกไปก่อน นายสมชาย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากวิปสนช.ได้มีความห่วงใยในกรณีที่มีบริษัทต่างชาติมาดำเนินการขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการนำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ที่ประชุมวิปสนช.มีความเห็นว่าจำเป็นต้องเชิญอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามาชี้แจงต่อวิปสนช.ในวันที่ 20 พ.ย.ก่อนที่สนช.จะบรรจุร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสนช.ต่อไป เลขานุการวิปสนช. กล่าวว่า เท่าที่ สนช. ส่วนใหญ่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่าปัจจุบันกัญชายังเป็นยาเสพติดต้องห้ามตามกฎหมาย จึงไม่สามารถเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่จะได้รับการคุ้มครองทางสิทธิบัตรตามกฎหมายได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 9 (5) ของพ.ร.บ.สิทธิบัตรพ.ศ.2522 ที่กำหนดว่าการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ. ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องไม่รับการจดสิทธิบัตรดังกล่าวเอาไว้ และจำเป็นต้องเพิกถอนคำร้องขอยื่นจดสิทธิบัตรทันที เลขานุการวิปสนช. กล่าวว่า สนช.เป็นห่วงว่า หากไม่ดำเนินการเพิกถอนการขอจดสิทธิบัตรออกไปก่อน เกรงว่า หากต่อไปเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน สนช. และมีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้ต่างชาติได้รับรองการจดสิทธิบัตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการที่หน่วยงานภาครัฐหรือมหาวิทยาลัยจะทำการวิจัยค้นคว้าทางการแพทย์ เนื่องจากต้องไปขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรที่เป็นต่างชาติก่อน ทางด้านนพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่าขณะนี้ประชาชนยังไม่สามารถปลูกกัญชาได้ เพราะถือว่ากัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ แต่หากมีการนำกัญชามาสกัดแล้ว จึงจะใช้ประโยชน์ได้ ทำให้ต้องมีระบบในการควบคุมที่ดี สำหรับขณะนี้เป็นเพียงการคลายล็อกยังไม่ถือว่าเป็นการปลดล็อกอิสระ ทั้งนี้จะต้องมีการศึกษาอย่างเป็นขั้นตอน เพราะที่ผ่านมา เคยมีบทเรียนจากต่างประเทศว่าหากไม่มีการควบคุมดูแลที่ดีแล้ว ก็จะทำให้สังคมเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ จึงขอเตือนว่า ประชาชนทั่วไป ไม่สามารถปลูกได้ และหากพบ จะถือว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย ส่วนการจะนำมาใช้ทางการแพทย์นั้น ทางแพทย์จะต้องเป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น ขณะที่จากกรณีมีการเผยแพร่คำขอยื่นสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาของบริษัทต่างชาติ ที่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญารับเรื่องไว้ โดยอ้างอิงข้อมูลมาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่มีการค้นหาในเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีคำขอจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชา และมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา 11 ข้อ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่ม ไม่มายื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 1 คำขอ(ละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร) กลุ่มที่ 2 ยังไม่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 7 คำขอ(รอภายใน 5 ปี) และกลุ่มที่ 3 เป็นการยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 3 คำขอ ทาง นพ.โสภณ ยืนยันว่า ตามหลักการของกฎหมายแล้ว ไม่สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้ โดยทางฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ ซึ่งส่วนนี้ต้องให้ทางหน่วยงานภาครัฐและฝ่ายวิชาการเป็นผู้สรุป แต่ส่วนตัวมองว่าการที่หน่วยงานของรัฐจะฟ้องร้องกันเอง คงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม