ผู้พิพากษาอาวุโส ชำแหละ พ.ร.บ.ไซเบอร์ สุดเผด็จการ

by ThaiQuote, 20 พฤศจิกายน 2561

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา  นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ แถลงข่าวในนามของนักกฎหมายมหาชนที่ศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีความเป็นห่วงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเชิญผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จำนวน 2 คน มาร่วมสังเกตการณ์และฟังการแถลงข่าวเกี่ยวกับความเห็นถึงร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เคยสั่งการฝ่ายกฎหมายไปทบทวนรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งในเรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงควรพิจารณาว่าจะมีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไร           นายศรีอัมพรกล่าวว่า ทราบว่าร่างดังกล่าวที่มีการแก้ไขแล้วจะถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ จากเดิมที่มีข่าวว่าจะเสนอในวันที่ 20 พฤศจิกายน ซึ่งจากการที่ได้อ่านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ที่มีการแก้ไขไปแล้วพบว่ามีหลักการและเหตุผล ดังนี้   1.มีเจตนารมณ์ที่จะวางมาตรการป้องปรามการกระทำผิดทางไซเบอร์ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ โดยกระทรวงดีอีผู้เสนอร่างอ้างเหตุผลว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความรุนแรงยากแก่การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดไซเบอร์ จึงจำเป็นต้องออก พ.ร.บ.นี้ 2.มีการตั้งคณะกรรมการกำกับ ดูแลโครงสร้างการทำงานของการใช้กฎหมายฉบับนี้ 3.จัดให้มีคณะกรรมการป้องกันความ ปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติขึ้น มีชื่อว่า "กปช." มีอำนาจมากในการกำกับดูแล เจ้าพนักงานซึ่ง ปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงาน กปช. 4.มีการใช้ อำนาจ กปช.และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่พบการ กระทำความผิดหรือสงสัยว่าจะมีการกระทำ ความผิดทางไซเบอร์ มีอำนาจเรียกให้หน่วยงาน ของรัฐและหน่วยงานของเอกชน ตลอดจน ผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ ระบบผู้ใช้บริการทางไซเบอร์ เช่น แอดมิน เพจผู้ที่ประกอบธุรกิจในการใช้บริการทางไซเบอร์ต้องเข้าพบและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานที่น่าสงสัยว่าเป็นการกระทำผิดหรือน่าสงสัยว่าจะกระทำผิดต่อเจ้าพนักงาน           "กปช.มีอำนาจบังคับใช้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ผู้ประกอบการเกี่ยวกับไซเบอร์ ทำรายงาน โครงสร้าง ความเสี่ยงและแผนป้องกันการกระทำผิดทางไซเบอร์ส่งให้แก่ กปช.ตามที่ กปช.กำหนด หรือตามคำสั่งของ กปช. ซึ่งจะมีอำนาจให้เจ้าพนักงาน กปช.เข้าไปในเคหสถานตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (SERVER) หน่วยความจำ (HARD DRIVE) อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการทางไซเบอร์ เช่น เว็บไซต์ ผู้ใช้บริการ แอดมิน เครื่องวิทยุโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยไม่จำต้องมีหมายค้น แม้ยังไม่มีคดีความหรือการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาญา กปช.ก็มีอำนาจตรวจยึดอุปกรณ์ทางไซเบอร์เหล่านั้นได้ โดยอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจที่สามารถใช้ได้อย่างไม่จำกัด ไม่มีองค์กรฝ่ายตุลาการเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุล" นาย ศรีอัมพรกล่าว   นอกจากนี้ยังมีบทกำหนดโทษตั้งแต่มาตรา 61-68 ในกรณีที่ผู้ดำเนินการทางไซเบอร์ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ไม่ส่งรายงานการควบคุมการทำงานของไซเบอร์ในความครอบครองของตน การขัดขวางไม่ยอมให้ เจ้าพนักงานของ กปช.ตรวจยึดเครื่องอุปกรณ์ทางไซเบอร์ การที่บุคคลหรือนิติบุคคลปฏิเสธ ไม่ยอมบอกรหัสผ่าน เพื่อเปิดอุปกรณ์ทางไซเบอร์กฎหมายนี้ให้นายกฯเป็นผู้รักษาการ           นายศรีอัมพรกล่าวว่า มีความเห็นว่าหากร่าง พ.ร.บ.นี้มีการใช้บังคับ จะมีผลกระทบดังนี้ 1.เป็นการทำลายหลักการและโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตย 2.ทำให้กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และสิทธิความเป็นมนุษย์ สิทธิทางการเมือง สิทธิความเป็นส่วนตัว ถูกทำลาย 3.ทำให้กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในระบอบประชาธิปไตยเกิดความล้มเหลว 4.เป็นการทำให้โครงสร้างการปกครองจากนิติรัฐกลายเป็นรัฐตำรวจ ผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองและเป็นฝ่ายบริหารจะให้กฎหมายนี้ กำราบปราบปรามศัตรูทางการเมือง ศัตรูทางความคิดที่ไม่ตรงกับผู้ปกครองได้โดยง่าย 5.ทำให้ประเทศชาติไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เพราะโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยถูกบิดเบือนไป เป็นระบบคณาธิปไตย 6.เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนจากประเทศอื่น เนื่องจากผู้ค้าและผู้มาลงทุนไม่ไว้วางใจในการจะถูกล่วงละเมิดความลับทางการค้า ทางลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตร ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าและเครือข่ายการทำธุรกิจ 7.จะทำให้เป็นการบั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจะไม่มีนักลงทุนจากต่างประเทศที่กล้ามาลงทุน 8.ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามและไม่เชื่อมั่นในประเทศไทย           "การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติมากเกินไปในการจับ ค้น ขัง ยึด โดยไม่ผ่านกระบวนการศาล จะทำให้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง สิทธิความเป็นส่วนตัว และจะทำให้กลายเป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้าม เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน บั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แม้ร่างกฎหมายบอกว่าจะใช้วิธีการดังกล่าวกับกรณีกระทบความมั่นคงและเป็นเรื่องร้ายแรงเท่านั้น แต่คำว่า "ร้ายแรง" มันแค่ไหน เป็นดุลพินิจหรือไม่ ซึ่งดุลพินิจแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่มีมาตรฐาน ไม่เหมือนระบบการตรวจสอบโดยศาล กฎหมายที่ออกมาแบบนี้เขาไว้ใจคน ไม่ไว้ใจระบบ แต่ของศาลยึดหลักที่ว่าไว้ใจระบบ ไม่ไว้ใจคน เพราะระบบดีสามารถควบคุมคนได้ " นายศรีอัมพรกล่าว   นายศรีอัมพรกล่าวว่า ช่วงการร่างกฎหมาย คณะผู้ร่างไม่ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรมเข้าไปรับฟังหรือให้ข้อมูล ทั้งที่มีประเด็นเกี่ยวกับการจับ การค้น การยึด ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้น และมีโทษทางอาญา ซึ่งต้องให้ศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่เกิดเหตุหรือศาลอาญา มีอำนาจออกหมาย ซึ่งการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานของฝ่ายบริหารมากเกินไปจะเป็นอันตรายที่จะใช้ดุลพินิจล่วงเกินสิทธิเสรีภาพประชาชน ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสามารถที่จะไปยึดอายัดบังคับให้บอกรหัสปลดล็อก และอาจทำให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ชอบได้           นายศรีอัมพรกล่าวอีกว่า สมัยก่อนเคยให้อำนาจตำรวจจับเอาไปสอบสวนโดยไม่ต้องมีหมายศาล เรียกว่าจับมาก่อนแล้วค่อยแจ้งข้อหา แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการยอมรับเลยมีการแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า การจะไปจับบุคคลตัองขอหมายจับหมายค้นของศาลก่อน หรือจับมาแล้วภายใน 48 ชั่วโมงต้องขออำนาจศาลฝากขัง ตามหลักถ่วงดุลตรวจสอบ และตนเห็นว่ามาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพ์ ก็เพียงพอแล้ว ยิ่งมีกฎหมายไซเบอร์จะร้ายแรงกว่า ถ้าเกิดรัฐบาลใหม่อ่อนไหวต่อการเสนอข่าวขึ้นมา สื่อมวลชนจะทำงานลำบาก เพราะรัฐสามารถที่จะยึดเอาข้อมูลที่สื่อมวลชนไปหามาได้           "อยากถามว่ากระทรวงดีอีไม่มีบุคลากรหรือเครื่องมือที่มีความสามารถเลยหรืออย่างไร ถึงมาผลักดันร่างกฎหมายลักษณะแบบนี้ การที่เราออกกฎหมายให้อำนาจความสะดวกแก่เจ้าพนักเจ้าหน้าที่ เท่ากับเราละเลย เพิกเฉยต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกระทำในลักษณะแบบนี้มันจะไม่สอดคล้องกับบริหารในประชาธิปไตย แต่จะเป็นลักษณะลัทธิเผด็จการ ทั้งนี้ อาจจะเป็นความตั้งใจและเจตนาดีของกระทรวงดีอี ในการปราบปรามการกระทำผิด ที่คิดว่าการปราบปรามการทำได้ยาก ที่จะติดตามการกระทำผิด แต่ไม่มีประเทศไหนออกกฎหมายแบบนี้" นายศรีอัมพรกล่าว           นายศรีอัมพรกล่าวอีกว่า ศาลยุติธรรมไม่ถือเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลหรือใคร เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐด้วยกัน แต่ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ศึกษาทั้งกฎหมาย ปกครองและกฎหมายระหว่างประเทศ ได้มอง ปัญหาในจุดนี้ คนอื่นอาจมีการละเลย แต่กฎหมายที่มีผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ ปกครองหรือระหว่างประเทศจะต้องรู้ และแจ้งให้รัฐบาลทราบถึงผลกระทบที่ร้ายแรง ผลประโยชน์ที่ได้มันน้อยมากเหลือเกินเมื่อเทียบกับผลเสียหายที่มากมาย หากออกมารัฐบาลต่อไปจะลำบาก เพราะประเทศกำลังเข้าสู่โหมดประชาธิปไตยที่จะต้องมีการเลือกตั้งในปีหน้า