ขยะ “เกาะสมุย” 3 แสนตัน ใครกัน (ต้อง) รับผิดชอบ

by ThaiQuote, 29 พฤศจิกายน 2561

    เมืองที่ยิ่งมีความเจริญเติบโต เต็มไปด้วยความศิวิไลซ์ต่างๆ แน่นอนว่าแต่ละพื้นที่มันย่อมมีปัญหาที่ซุกซ่อนและหมักหมมเอาไว้ โดยเฉพาะปัญหา "ขยะ" ที่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ หน่วยงานรัฐอาจจะยังไม่สามารถสร้างการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นได้ แน่นอนว่าการ "กล่าวโทษ" เรื่องปัญหาขยะในสังคมเมืองจะโทษกับหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะขยะทั้งหมด มันก็มาจากการใช้แล้วทิ้งของประชาชนแทบทั้งสิ้น และมาตรการทางวินัยของเราในแง่ความสะอาดของส่วนรวมก็ยังไม่ถูกฝังในจิตสำนึกของแต่ละคน     เมื่อมองไปยังเมืองท่องเที่ยวตามธรรมชาติด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำคัญของโลก และเป็นหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ต่างก็ต้องเจอปัญหามลพิษที่เกิดจาการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องแทบทั้งสิ้น เฉกเช่นกับพื้นที่ของเกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี ที่มีปริมาณขยะกว่า 3 แสนตัน และมันได้สร้างปัญหาที่กลายเป็นเรื่องเรื้อรังมาช้านาน มีผลกระทบต่อชาวบ้าน รอบโรงกำจัดขยะสร้างปัญหามลพิษให้กับคนในพื้นที่     ผลพวงที่ว่าจึงทำให้ บูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ต้องยกคณะไปเกาะสมุยเพื่อตรวจสอบปัญหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา และจะเอาปัญหาขยะที่สะสมของเกาะสมุยหยิบขึ้นมาแก้ไขอย่างเร่งด่วนอีกครั้ง "ปัญหาขยะที่สมุย มีผลกระทบต่อสุขอนามัย และความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวบนเกาะ และยังรวมถึงการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาน้ำเน่าเสียและมลภาวะทางกลิ่นมากว่า 6 ปี และการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มันยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร" บูรณ์ สะท้อนถึงปัญหา และยอมรับว่าเพราะชาวบ้านร้องเรียนเข้ามา จึงทำให้คณะผู้ตรวจราชการแผ่นดินต้องลงพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาให้     แนวทางการแก้ไขเบื้องต้นนั้น บูรณ์ ให้ภาพว่า ต้องกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข และได้เสนอให้จัดเวทีประชาคมเพื่อรับฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การแก้ไขตรงกับปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่มากที่สุด ซึ่งสมุยไม่อาจจะมีภาพลักษณ์ที่เสียหายได้ เพราะมันหมายถึงกระทบกับรายได้การท่องเที่ยวของประเทศ กระนั้นก็ตาม หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 เทศบาลนครเกาะสมุยแห่งนี้ ถูกยกให้เป็นเมืองนำร่อง หรือเมืองต้นแบบ ในโครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน ระหว่างปี 2560-2564 คู่ไปกับอีก 3 เมืองของประเทศ คือ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลนครนครราชสีมา เป้าหมายของโครงการนี้ พุ่งเป้าไปที่การเสริมสร้างขีดความสามารถ และพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของเมือง โดยเน้นที่การจัดการขยะ น้ำเสีย การขนส่งที่ยั่งยืน พลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และคาดหวังถึงผลสำเร็จของการจัดการ เพื่อให้ท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศได้เห็นแนวทางเพื่อจัดการกับพื้นที่ตัวเอง แต่ดูเหมือน "เกาะสมุย" จะยังคงไม่เดินหน้าด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่ เพราะปัญหาขยะที่หมักหมมกว่า 3 แสนตันมันฉุดรั้งเอาไว้ แต่ขณะเดียวกัน เมืองก็โตอย่างรวดเร็ว และมาพร้อมกับจำนวนขยะที่เพิ่้มมากขึ้น     กระนั้นก็ตาม หากพิจารณาจำนวนขยะกว่า 3 แสนตันในพื้นที่เกาะสมุย ซึ่งหากนำมาเรียงต่อกันก็น่าจะสูงประมาณตึก 3-4 ชั้น จำนวนขยะนี้มีโรงเตาเผาขยะใช้รองรับอยู่เพื่อทำลาย แต่ก็ใช้งานไม่ได้มานานหลายปี เพราะตั้งแต่ปี 2545 เตาเผาขยะเกิดผนังเตาแตก มีการซ่อมแซมเตาเผาขยะหลายครั้ง จนกระทั้งชำรุดถาวรไม่สามารถใช้การได้ และถูกปล่อยทิ้ง ซึ่งเทศบาลนครเกาะสมุยจึงเลือกใช้วิธีฝังกลบแทน แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะจำนวนนักท่องเที่้ยวที่เข้ามาเยือนเกาะสมุยมากถึงปีละ 9 แสน - 1 ล้านคน และบวกกับจำนวนคนในพื้นที่ ก็ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นไปอีกถึงวันละ 150 ตัน ของเก่า 3 แสนตันยังไม่สามารถเคลียร์ได้ และขยะใหม่ก็เพิ่มทุกวันถึง 150 ตัน จึงเป็นผลที่ทำให้สมุย อาจจะไม่ใช่สวรรค์ของใครต่อใครอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครเกาะสมุย เลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทา "ขยะ" ออกไปจากพื้นที่ ด้วยวิธีการ "ขน" ออกไปนอกเกาะ และจะได้เริ่มทันทีในเดือนธ.ค.2561 ส่วนวิธีการขนออกจะใช้วิธีการอัดขยะเป็นก้อน ใช้พลาสติกใสห่อหุ้มหรือการผูกรัดก้อนขยะมูลฝอย หรือ Wrap และนำใส่ถุงบิ๊กแบ็คขึ้นเรือออกไปจากเกาะ แต่หากมองในแง่การแก้ไขปัญหาระยะยาวแล้ว เกาะสมุยควรจะหันหัวเรือเพื่อแก้ปัญหาขยะไปในทิศทางใด   [caption id="attachment_56319" align="aligncenter" width="1000"] เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ[/caption]   เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ นักวิจัยที่เดินหน้าจัดการด้านขยะของประเทศ ให้คำตอบที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาขยะของเกาะสมุย เธอเล่าว่า ปัญหาขยะในสมุยนับเป็นความผิดพลาดของการจัดการทั้งในส่วนท้องถิ่น และรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีเตาเผาขยะแต่ก็เกิดพังใช้งานไม่ได้มานานกว่า 8 ปี สาเหตุที่เตาเผาขยะพังก็เพราะ "ไม่มีการคัดแยกขยะ" อย่างเป็นระบบ ทั้งจากต้นทางคือประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว กลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ และปลายทางก็ไม่มีการคัดแยก มันจึงสร้างปัญหาให้กับเตาเผาขยะ     "รูปแบบการทำงานของเตาเผาขยะจะเผาได้ก็ต่อเมื่อขยะถูกคัดแยก ก็เหมือนกับที่ภูเก็ตที่มีเตาเผาเช่นกัน แต่ก็พัง กระนั้นก็ตาม เมื่อมีการคัดแยกที่ปลายทาง เตาเผาก็สามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง แต่ที่สมุยมันไม่ใช่" เพ็ญโฉม ฉายภาพ ซึ่งความเข้าใจของปัญหาขยะของภาครัฐนั้น ในมุมมองของเพ็ญโฉม เธอสะท้อนว่ามันคือข้อผิดพลาด ที่พุ่งเป้าแก้ปัญหาขยะด้วยเทคโนโลยี ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะได้ผลกับการหายไปของกองขยะ แต่ก็ไมได้ช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น และในแง่ของความเป็นจริง การแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นรูปธรรมากที่สุด คือ "สำนึก" ของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ที่ต้องเห็นปัญหาร่วมกัน และต้องคัดแยกขยะ ไม่เช่นนั้นก็จะหมักหมม และจะไม่มีสิ่งสวยงามหลงเหลือให้เที่ยวกันอีกต่อไป     "แน่นอนว่าว่าเจริญในสมุย ทั้งร้านอาหาร รีสอร์ตโรงแรมต่างๆ ก็ต้องจัดหาความสะดวกสบายมากที่สุดให้กับนักท่องเที่ยวและลูกค้า จึงละเลยที่จะปลูกฝังเรื่องขยะเข้าไป และขณะเดียวกันหน่วยงานท้องถิ่นก็เกรงใจผู้ประกอบการ ไม่กำชับหรือมีมาตรการเพื่อส่วนรวมในด้านสิ่งแวดล้อม เราจึงเห็นภาพขยะ 3 แสนตันกองอยู่ที่สถานที่ที่เรียกเงินรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศอย่างสมุย" เพ็ญโฉม ร่ายยาวถึงปัญหา     สิ่งที่เพ็ญโฉม ทิ้งท้ายเอาไว้ โดยเฉพาะประเด็นความเจริญในพื้นที่แต่กลับนำมาซึ่งปัญหาขยะอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็ช่างสอดคล้องกับคำพูดของ รามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ที่สะท้อนเอาไว้เมื่อครั้งเข้าร่วม "โครงการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน" ในปี 2560 ว่า     สมุยโตเร็วมาก จนผมคิดว่ามันโตขึ้นจนเราเอาไม่อยู่ ผมรับตรงๆ ว่าไม่อยากเซ็นต์ใบอนุญาตโรงแรมอีกแล้ว เพราะทุกวันนี้มันมากเกินไป แต่ผมก็ไม่สามารถจะปฏิเสธได้เพราะมันเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่หากเราปล่อยไว้แบบนี้ สมุยจะโตแบบไร้คุณภาพ เพราะเราเติมความเจริญจนมากเกินไป" แล้วคุณล่ะ มองและอยากให้ "เกาะสมุย" เป็นแบบไหน ขยะที่หมักหมม หรือ เมืองขึ้นชื่อของการท่องเที่ยว   ขอบคุณภาพจาก  Thai PBS