“ความเติบโตทางเศรษฐกิจ-ความเหลื่อมล้ำในสังคม” เส้นขนานไร้ทางบรรจบ?

by ThaiQuote, 2 ธันวาคม 2561

กรุงเทพฯ 26 พฤศจิกายน 2561 - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานสัมมนา THAMMASAT RESOLUTION TALK ตั้งโจทย์ – ตอบอนาคต วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ครั้งที่ 1 หัวข้อ “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมกว่า 100 ราย ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตไม่ได้ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลงอย่างอัตโนมัติ โดยตัวอย่างที่ชัดเจนคือสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับต้องเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สุดแรงมากที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นประเทศไทยที่โครงสร้างเศรษฐกิจกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปตามกรอบแผนงานประเทศไทย 4.0 ในระยะเวลาอันใกล้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะหาแนวทางการป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำหลากหลายมิติ ทั้งเชิงรายได้ การถือครองที่ดิน การศึกษา สาธารณสุขและการแพทย์ ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนภายใต้การสร้างความทั่วถึงและเป็นธรรมจึงนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายของประเทศไทย เพราะเกี่ยวข้องกับ 1. การเปลี่ยนแปลงกฎหมายและกติกาในการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรูประบบภาษีหรือการใช้จ่ายของภาครัฐ 2. การสร้างระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีโอกาสอย่างทัดเทียมโดยคำนึงถึงเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง 3. การปรับเปลี่ยนและพัฒนาโครงสร้างและสถาบันทางการเมือง ที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาคมากขึ้นนั้นเป็นไปได้จริง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยว่า เมื่อพิจารณาทางเศรษฐศาสตร์แล้วพบว่าตั้งแต่ปี 2531-2558 หรือตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สักเท่าใดนัก โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2558 ระบุว่า รายได้ของประชากรกลุ่มที่มีรายสูงสุดแตกต่างกับประชากรกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดอยู่ถึง 17 เท่า โดยรายได้เฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศอยู่ที่เดือนละ 9,400 บาท แต่หากแบ่งออกเป็นรายภาคจะพบว่าคนภาคกลางมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1.2 หมื่นบาท ขณะที่สามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งมีรายได้ต่ำที่สุดในประเทศนั้น มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 5,700 บาท เท่านั้น สำหรับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ข้อมูลปี 2559 พบว่าการเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับของคนไทยอยู่ในสัดส่วนที่สูง แต่ยังคงมีเด็กในวัยเรียนบางส่วนที่หลุดออกจากระบบ และแนวโน้มอัตราการเข้าเรียนลดลงตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยพบว่าอัตราการเข้าเรียนระดับชั้นปริญญาตรีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีสัดส่วนสูงกว่าภาคอื่นๆ โดยอยู่ที่ร้อยละ 40.4 ขณะที่ภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 19.2 ส่วนด้านสาธารณสุข เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพการบริการเนื่องจากปัญหาการกระจายบุคลากรทางการแพทย์มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ใน กทม. ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความกระจุกตัวน้อยที่สุด ทำให้บุคลากรต้องดูแลประชากรมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการและการรอคิวรับบริการ ด้านความเหลื่อมล้ำในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่าประเทศไทยมีการยกเว้นและลดหย่อนภาษีค่อนข้างมาก ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น มูลค่าการลดหย่อนเพื่อการลงทุน (LTF) ที่มูลค่าการลดหย่อนกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มคนที่มีชั้นเงินได้ระดับสูงๆ เท่านั้น คิดเป็น 82% ของมูลค่าการลดหย่อนทั้งหมด ส่วนผู้ที่มีรายได้ต่ำจะไม่มีเงินเหลือลงทุนเพื่อรับการลดหย่อน นอกจากนี้ยังมีการเปิดช่องให้ผู้ที่มีรายได้จากตลาดหลักทรัพย์ หรือผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศไม่ต้องจ่ายภาษีด้วย ขณะที่การถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ พบว่าที่ดิน 1 ใน 4 ของประเทศไทย ถูกถือครองอยู่ในมือของกลุ่มคนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี กล่าวถึงแนวการแก้ไขปัญหาว่า มาตรการที่ลดความเหลื่อมล้ำได้มากคือการใช้จ่ายของรัฐบาลทางด้านสวัสดิการสังคมต่างๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข การประกันสังคม การอุดหนุนคนที่มีรายได้น้อย การอุดหนุนผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือต้องค้นหาให้พบว่ากลุ่มคนจนอยู่ที่ไหน มีการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอให้ยกเลิกการลดหย่อน LTF เนื่องจากมีเพียงกลุ่มคนที่มีรายได้สูงเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ ซึ่งเขาเหล่านั้นมีทางเลือกในการลงทุนและการออมอีกหลายช่องทาง หรือหากต้องการลดหย่อนเพื่อดึงคนเข้าสู่ตลาดทุนจริงๆ อาจจะลดหย่อนให้เฉพาะผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกินปีละ 5 แสนบาทเท่านั้น นายจักรชัย โฉมทองดี องค์การอ็อกแฟม สหราชอาณาจักร (UK) กล่าวถึงสถิติความเหลื่อมล้ำในระดับสากลว่า จากข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิส พบว่าบุคคล 42 คนแรกที่อยู่ในจุดสูงสุดของเศรษฐกิจโลก มีความมั่งคั่งเท่ากับคน 3,700 ล้านคนที่อยู่ในส่วนล่างของสังคม และจากข้อมูลปี 2523 ถึงปี 2559 พบว่าเงิน 1 บาท ในระบบเศรษฐกิจ จะกระจายอยู่ในกลุ่มคนรวย ซึ่งมีเพียง 1% ของคนทั้งหมด 27 สตางค์ ส่วนคนกลุ่มที่จนซึ่งมีอยู่เกิน 50% จะได้รับผลตอบแทนมาแบ่งกันเพียง 12 สตางค์เท่านั้น นอกจากนี้ จากรายงานพบว่า 1 ใน 3 ของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มาจากการได้รับมรดก โดยจากนี้ต่อไปอีก 20 ปี คนที่รวยที่สุด 500 คน จะส่งผ่านมรดกมูลค่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับลูกหลาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าจีดีพีของประเทศอินเดียที่มีประชากรรวมกันกว่า 1,300 ล้านคน ขณะที่อีก 1 ใน 3 มาจากธุรกิจที่มีธรรมชาติของการผูกขาด หรือการยึดโยงกับสิทธิพิเศษที่ได้รับจากรัฐ “หมายความว่า 2 ใน 3 ของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ได้มาจากการทำงานหนัก หรือนวัตกรรมใดๆ นั่นเท่ากับว่าถึงแม้คุณจะทำงานหนักเพียงใดก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้” นายจักรชัย กล่าว สำหรับข้อเสนอของนายจักรชัย นอกจากมาตรการในระบบภาษีแล้ว สิ่งสำคัญคือความมั่นใจของรัฐในการใช้เงินภาษี ซึ่งประเทศไทยใช้จ่ายเงินส่วนนี้ได้ดีในเรื่องของสาธารณสุขและการศึกษา ฉะนั้นพรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งควรประกาศจุดยืนว่าจะเอาอย่างไรกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิการต่อรองของแรงงาน และความเท่าเทียมด้านรายได้ของเพศชายและหญิง รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำอยู่คงทนในประเทศไทยคืออำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งตลอด 50 ปีที่ผ่านมา พบว่าอำนาจทางการเมืองในประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ในปี 2535 ประเทศไทยเกิดการกระจายอำนาจ ซึ่งทำให้ทรัพยากรที่เคยรวมศูนย์อยู่ถูกกระจายออกไปในทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่หลังจากมีการรัฐประหารทำให้ทรัพยากรเหล่านั้นถูกดึงกลับมารวมศูนย์อีกครั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ขณะที่อำนาจทางเศรษฐกิจ พบว่าผลตอบแทนที่มาจากทรัพย์สินมีสัดส่วนที่สูงกว่าผลตอบแทนด้านแรงงาน ดังนั้นหากไม่มีการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาดโดยมหาเศรษฐีที่พึ่งพิงอำนาจทางการเมืองอยู่ ก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ “ถ้าพ่อแม่มีรายได้ต่ำ มีโอกาสทางเศรษฐกิจน้อย ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลูกเปลี่ยนชนชั้นทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ เรื่องนี้เป็นการส่งต่อ คือเมื่อพ่อแม่จนลูกก็จะจน เราจึงจำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมาปกป้องให้เด็กคนหนึ่งที่ไม่ว่าจะเกิดมาจากครอบครัวที่มีฐานะใดต้องมีโอกาสเปลี่ยนฐานะของตัวเองได้ ซึ่งสิ่งสำคัญและอนาคตของประเทศนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการศึกษา” รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย กล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากและอยากฟังพรรคการเมืองคือ 1. จะแก้ไขเรื่องการผูกขาดทางการเมืองอย่างไร จะจัดการเรื่องการกระจายอำนาจอย่างไร 2. จะแก้ไขเรื่องการผูกขาดทางเศรษฐกิจอย่างไร 3. นโยบายเรื่องการจัดการที่ดินและฐานทรัพยากรให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ 4. การจัดบริการและสวัสดิการสาธารณะ “รัฐบาลปัจจุบันไม่สนใจและไม่เชื่อมั่นเรื่องการกระจายอำนาจ ดูเหมือนว่าจะทำให้ถอยหลังด้วยซ้ำ รัฐบาลมองว่าท้องถิ่นไม่โปร่งใส แต่ในฐานะที่ทำงานเรื่องคอรัปชั่นมา ยืนยันได้ว่าทั้งราชการและท้องถิ่นไม่ได้มีความแตกต่างกัน” รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย กล่าว อนึ่ง งานสัมมนา THAMMASAT RESOLUTION TALK ตั้งโจทย์ – ตอบอนาคต วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง เป็นชุดงานสัมมนาที่จะมีขึ้นรวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง ประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ 2. การกระจายอำนาจและการปฏิรูปรัฐ 3. การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ ถ้าไม่ชก ก็ไม่มีกิน เส้นขนาน “เด็ก” กับ “มวย”